posttoday

ความต้องการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางในประเทศพัฒนา

09 พฤศจิกายน 2559

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

กระแสลมสลาตัน ที่เริ่มจากอังกฤษ ได้พัดไปถึงอเมริกา และต่อไปก็จะพัดวนกลับไปยุโรปอีกหลายประเทศ

กรณี Brexit เป็นเรื่องใหญ่เรื่องแรก ที่เป็นการสะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางในประเทศพัฒนา

ที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาจะปฏิบัติตัวในฐานะผู้นำของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ด้านความคิดจิตวิญญาณ และการปฏิบัติตนในเวทีโลก

ประเทศพัฒนาจะยึดหลักทฤษฎีเปิดค้าเสรี ความอดทนอดกลั้น และจะดูเสมือนพร้อมจะให้โอกาสแก่ประเทศอื่นๆ ที่ด้อยกว่า ในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ

แต่ในกระแสใหม่ ชนชั้นกลางในประะทศพัฒนาเริ่มมองเห็นว่า ถึงแม้การค้าเสรีอาจจะเป็นประโยขน์ต่อประเทศของตนก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่ไหลลงไปสู่เอื้อมมือของชนชั้นกลางนั้น น้อยกว่าที่เกิดแก่ชนชั้นสูง

เพราะชนชั้นสูงที่มีการศึกษา สามารถติดต่อค้าขายข้ามพรมแดนได้ง่าย สามารถย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างประเทศ และสามารถฉวยประโยชน์ส่วนตนได้ดีกว่า

การค้าเสรีในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เปิดโอกาสให้คนจีนและคนอินเดียฐานะดีขึ้น ก็มีผลกดดันเงินเดือนและค่าแรงในประเทศพัฒนามาโดยตลอด

นอกจากนี้ ชนชั้นกลางยังเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบทางลบ จากคนอพยพและคนย้ายถิ่นฐานอย่างเต็มที่

กระแสนี้ยังจะลามไปอีกหลายประเทศในยุโรป

การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกอ่อนตัวเมื่อผลเลือกตั้งเอนไปทางทรัมพ์ ไม่ใช่เกิดเฉพาะจากนโยบายของทรัมพ์ ที่จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกเท่านั้น

แต่เป็นการสะท้อนข้อกังวลในใจของทั่วโลกว่า ต่อไปนี้ ในการเจรจาสากล ประเทศพัฒนาจะกลับทำตัวเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นๆ

จะเป็นยุคตัวใครตัวมันมากขึ้นกว่าเดิม

แทนที่ประเทศพัฒนาจะเอื้อเฟื้อประเทศอื่นๆ เช่นเดิม นโยบายการค้า และการฑูต จะเปลี่ยนไปจากเดิม จะเน้นการดูแลผู้มีสิทธิเลือกตั้งของตนมากขึ้น

พูดง่ายๆ ประชานิยมกำลังจะแผ่กว้างมากขึ้นในประเทศพัฒนา แต่ไม่ใช่ประชานิยมเฉพาะโจทย์ในประเทศ กลับจะมีผลต่อดุลการเมืองและการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน

บทบาทที่บางประเทศเคยประพฤติตัวเป็นพี่เบิ้มในทุกสถานการณ์ ก็น่าจะกำลังจะมีการทบทวน

ที่มา www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala

ภาพ...เอเอฟพี