posttoday

Industry 4.0 คลื่นลูกใหม่วงการอุตสาหกรรม "มนุษย์ห่วยๆ จะไร้ค่า"

10 กรกฎาคม 2559

ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ราว 25-26 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ผู้เขียนแรกเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่อายุยังไม่แตะ 20 ปี หัวข้อสนทนาในแวดวงผู้สนใจอนาคตศาสตร์ หรือกลุ่มผู้คนที่สนใจการพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตบ้าง “แบบวิทยาศาสตร์” ไม่ใช่แบบโหราจารย์ กล่าวคือวิเคราะห์จากปัจจัยแวดล้อม ทิศทางการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี สภาพสังคม เศรษฐกิจ การปกครอง ฯลฯ

สำหรับเด็กหนุ่มอย่างผมในขณะนั้นการมองไปในอนาคตไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าประโยชน์ในระดับปัจเจกบุคคล คือการวางแผนการดำเนินชีวิตว่าควรจะศึกษาเรื่องใด เรียนต่ออะไร ทำงานอะไร ฯลฯ ต่อเมื่ออายุมากขึ้นๆ ประโยชน์ที่เริ่มสนใจมากขึ้นๆ ก็คล้ายจะค่อยๆ ขยายขอบเขตไกลตัวเองออกไป

ในช่วงเวลานั้นหนังสือแปลเล่มที่กระตุ้นความคิดและจินตนาการได้มากที่สุดคือ “คลื่นลูกที่สาม” หรือ “The Third Wave” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1980 ของ “อัลวิน ทอฟเลอร์” (Alvin Toffler) นักเขียนและนักอนาคตศาสตร์หรือ “futurist” นามอุโฆษแห่งยุค ซึ่งกล่าวถึงยุคสมัยของการพัฒนา หรือวิวัฒนาการของโลกไว้ 3 ระยะ เปรียบกับกระแสคลื่นที่กำลังโหมกระหน่ำชาวโลก 3 ระลอก คือ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคสารสนเทศ งานเขียนของทอฟเลอร์พาให้นิสิตหนุ่มอย่างผมรู้สึกขนลุกชูชัน หูตาสว่างไสว และพาให้กลายเป็นคนชอบติดตามข่าวสารด้านต่างๆ ในทุกเรื่อง คล้ายได้รับคลื่นพลังผ่านตัวหนังสือของเขา มีนักเขียนคนไทยเอามาแปลอยู่เหมือนกันนะครับ ถ้าสนใจน่าจะพอหาได้ ทอฟเลอร์เสียชีวิตอย่างสงบด้วยการหลับแล้วจากไปบนเตียงนอนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาที่บ้านในลอสแองเจลิส สิริรวมอายุได้ 87 ปี

กระแสเรื่อง “ยุคสารสนเทศ” ที่เกิดในช่วงยุค 80 นำพาหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาในชีวิต หลายอย่างเราแทบจะไม่ทันได้สังเกตด้วยซ้ำ อาจดูคล้ายมีของเล่นใหม่ๆ โผล่เข้ามาในชีวิต เล่นแล้วก็ทิ้งไป เก่าก็เปลี่ยนใหม่ เสียก็ซ่อม ต่อเมื่อระลึกตัวได้อีกทีทุกอย่างก็อยู่รอบตัวเราไปหมดเสียแล้ว สำหรับท่านผู้อ่านที่อายุเกินกว่า 35 อาจพอจะจำได้ลางๆ ช่วงแถวๆ ปี 2530 เป็นช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นของใหม่สำหรับคนไทย คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในขณะนั้นยังใช้ชิปประมวลผลตระกูลประมาณ 8086 8088 มีเพื่อนวัยรุ่นของผู้เขียนบางคนในตอนนั้น (ช่วงมัธยมปลาย) เรียนรู้การทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาระดับต่ำอย่างแอสเซมบลี (Assembly) ซึ่งไม่ค่อยจะเหมือนภาษาคนสักเท่าไหร่ ในขณะที่ผู้เขียนเริ่มเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย “ภาษาเบสิค” เมื่อเข้าไปเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปี พ.ศ.2530 ซึ่งอาจจะนับเป็นโรงเรียนมัธยมกลุ่มแรกๆ ของไทยที่บรรจุหลักสูตรการทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไว้ในหลักสูตร (BASIC ย่อมาจาก Beginner's All Purpose Symbolic Instruction Code เด็กๆ สมัยนี้อาจจะรู้จักเครื่องมือเขียนโปรแกรมอย่าง Microsoft Visual Basic ซึ่งมีพัฒนาการมาจากภาษาเบสิคนี่แหละครับ และอาจจะพาลคิดว่า Basic แปลว่าพื้นฐาน)

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ผู้เขียนได้สัมผัสจึงเป็นเครื่อง IBM Personal Computer AT ซึ่งใช้ชิปประมวลผลตระกูล 80286 ความเร็วแถวๆ 6 ถึง 8 MHz (ในขณะที่ชิปประมวลผลในปัจจุบันมีความเร็วอยู่ในระดับ 3-4 GHz) ไม่มีฮาร์ดดิสก์ มีแต่แผ่นดิสก์อ่อนหรือ “ฟล๊อปปี้ดิสก์” ขนาดใหญ่ 5.25 นิ้ว ความจุข้อมูล 640 KB ความตลกของเรื่องนี้จะยิ่งสนุกขึ้นเมื่อนึกย้อนไปได้ว่า ในตอนนั้นนักเรียนรุ่นพี่หลายคนเมื่อมีโอกาสก็จะเล่าย้อนหลังถอยไปไกลกว่านั้นอีกว่า เคยต้องใช้ดิสก์แผ่นใหญ่ขนาด 8 นิ้ว หรือแม้แต่กระดาษเจาะรู (Punched Card) ช่วงเวลาในยามนั้นระบบปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ควบคุมคอมพิวเตอร์คือ “ดอส” (DOS, Disk Operating System) ซึ่งมีดังๆ อยู่ 2 ชื่อ คือ PC DOS และ MS DOS ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟท์ทั้งคู่ อันแรกเป็นดอสที่ขายให้กับบริษัท IBM เพื่อติดตั้งในคอมพิวเตอร์ที่บริษัทจำหน่าย ในขณะที่อันหลังจำหน่ายให้กับผู้ผลิตรายอื่นๆ หากต้องการพิมพ์เอกสาร พิมพ์รายงาน โปรแกรมพิมพ์งานที่ใช้กันทั้งประเทศไทยมีอยู่ 2 ตัว คือ CW หรือ “CU Writer” ของจุฬาฯ (บางคนเรียกว่า “เวิร์ดจุฬาฯ”) และ RW หรือ “Rajavithi Word PC” หรือ “เวิร์ดราชวิถี” เป็นยุคสมัยที่แปลกดีที่โปรแกรมใช้งานสำคัญๆ พัฒนาโดยคนไทย ในตอนนั้นระบบคอมพิวเตอร์เจ๋งๆ ของไทยที่ใช้ประมวลผลงานใหญ่ๆ อย่างการประมวลผลสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจะอยู่ที่สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาฯ นิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ยุค 1980-1990 คงจะคุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรม “ภาษาฟอร์แทรน” (Fortran) ซึ่งทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ “Music” เวลาส่งโปรแกรมการบ้านกันที ต้องสั่งพิมพ์บนเครื่องพิมพ์แบบแคร่หน้ากว้าง 25 นิ้ว สั่งพิมพ์แล้วต้องรอรับงานกันข้ามวันเลยทีเดียว

เราอยู่กันแบบนี้จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ความแพร่หลายของระบบปฏิบัติการแบบกราฟฟิกอย่าง Apple Macintosh หรือ IBM OS/2 และ MS Windows ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยและการหาซอฟท์แวร์เหล่านี้มาใช้งาน (แบบเถื่อนๆ) ก็ทำให้เกิดยุคสมัยของการถือกล่องดิสก์เก็ตเปล่าขนาด 3.5 นิ้วไปก๊อปปี้โปรแกรมเถื่อนกันที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ต้องหอบกันขนาดไหน ลองคิดเล่นๆ แบบนี้นะครับ DOS ใช้ 4 แผ่น + MS Windows 3.1 ใช้ 6 แผ่น + MS Office รุ่น 4.3 ใช้ 35 แผ่น เรียกได้ว่าหอบดิสก์กันเป็นถุงๆ ก่อนจะเข้าสู่ยุคของแผ่น CD เถื่อนในช่วงปี 1994-1995 ซึ่งมาพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของ MS Windows 95 อันสุดแสนทันสมัย ราคาแผ่น CD เถื่อนในสมัยนั้นขายกันถึงแผ่นละ 1 พันบาทเลยทีเดียว และที่ถือว่าเป็นกิมมิคสำหรับคอคอมพิวเตอร์ในขณะนั้น แผ่นติดตั้งโปรแกรม MS Windows 95 จะมีไฟล์มิวสิควิดิโอเพลง “Good Times” ของ “Edie Brickell” เพื่อใช้สาธิตการเล่นไฟล์วิดิโอบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับเป็นสุดยอดเทคโนโลยีอันสุดแสนตื่นตาตื่นใจ ลองเปิด Youtube แล้วหาเพลงนี้มาฟังกันนะครับ ได้กลิ่นอายยุค 1995 ดีไม่น้อย

เอาเป็นว่าพัฒนาการด้าน IT ในบ้านเราในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ได้แสดงให้เห็นการมาถึงของเทคโนโลยีระบบสารสนเทศที่ค่อยๆ เปลี่ยนยุคสมัยของคอมพิวเตอร์จอเขียวๆ แบบโมโนโครม เกมส์แพคแมน และพรินซ์ออฟเปอร์เซีย มาเป็นจอความละเอียดสูงสีสันงดงาม “มัลติมีเดีย” และการเริ่มเข้าสู่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ตามมาด้วยเสียงต่อโมเด็มแสบแก้วหู ความเร็ว 2,400 bps ไล่มาจน 14,400-28,800 bps การต่ออินเทอร์เน็ตแบบ SLIP/PPP และโปรแกรม Trumpet Winsock โปรแกรมคุยสนุกอย่าง IRC ห้อง #siam บนเครือข่าย AUNET ของเอแบค ก่อนจะเข้าสู่ยุคธุรกิจอินเทอร์เน็ตของ KSC ไฮสปีด MSN messenger หรือ ICQ การตอบกระทู้บนเว็บบอร์ด และกำลังจะกลายมาเป็นระบบไฟเบอร์กับโลกโซเชียลมีเดีย และดิจิตัลอิโคโนมีในปัจจุบัน

ช่วงที่ผู้เขียนเรียนหนังสืออยู่ชั้นปีที่ 3-4 ตรงกับปี 1992-1993 รายวิชาที่เป็นเรื่องสุดขอบวิทยาการสำหรับนิสิตวิศวกรรมอุตสาหการในขณะนั้น มีตัวดังๆ อยู่ 3-4 ตัว คือเรื่องการประกันคุณภาพ หรือ “Quality Assurance” สำนักงานอัตโนมัติ หรือ “Office Automation” ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม หรือ “Industrial Automation” ตลอดจนการรื้อปรับระบบ หรือ “Business Process Reengineering”

เมื่อนึกย้อนไปถึงในขณะนั้นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้รายวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและท้าทาย คือ ผลพวงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างก้าวกระโดดตามโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดของรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงต้น 1980 ซึ่งนำมาสู่การพยายามพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอุตสาหกรรม การลดต้นทุนการผลิตอันเกิดจากความสูญเปล่า การพัฒนาผลิตภาพ (Productivity Improvement) การควบคุมและประกันคุณภาพ มีการนำศาสตร์ด้านนี้ไปประยุกต์ในหลายธุรกิจ และที่อาจนับได้ว่าเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนไทยคือการรื้อปรับระบบการทำงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยการหมุนโฟกัสมาที่คุณภาพที่ลูกค้า หรือผู้บริโภคควรจะได้รับ จากเดิมที่การไปธนาคารคือการไปยืนรอทำธุรกรรมเป็นเวลานานกลายมาเป็นการใช้ประโยชน์จาก IT และเครือข่าย ทำให้ขั้นตอนต่างๆ สั้นลงๆ และค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบจนกลายมาเป็น e-banking และกำลังจะกลายมาเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดและ AnyID ในปัจจุบัน

เรียกได้ว่าตลอด 20 ปีเศษที่ผ่านมาอาจนับเป็นยุคสมัยแห่งการพัฒนาผลิตภาพด้านแรงงานและคุณภาพ ทั้งด้านการผลิตและด้านบริการ ซึ่งส่งผลให้มนุษย์ลดการใช้แรงงานที่ไม่จำเป็น หันมาให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ แนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ บวกกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ICT ที่อยู่ไปเพลินๆ เผลอไปแว้บเดียว ตอนนี้แทบทุกคนมีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนอยู่ในมือ มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายระดับอุลตร้าไฮสปีด มีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ติดตัวสำหรับวัดความดัน-ชีพจร มีโดรนสำหรับถ่ายภาพจากมุมสูง มีโปรแกรมสกัดข้อมูลจากบิ๊กดาต้า มีระบบคลาวด์สำหรับเก็บข้อมูล มีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงประสิทธิภาพ

ควรสังเกตว่า เรื่องประสิทธิภาพในภาคการผลิตนี้เองที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาแนวคิดในการแบ่งงานเป็นขั้นตอน การพัฒนาแนวคิดผลิตเป็นปริมาณมาก การควบคุมคุณภาพ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งนำมาสู่การกระจายฐานการผลิตตามแหล่งวัตถุดิบและตลาด ระบบบริหารคุณภาพถูกพัฒนาขึ้นเพื่อความเชื่อมั่นในมาตรฐานการทำงานของบริษัทที่เป็นฐานการผลิต (หรือผู้รับเหมาช่วง) ที่อาจตั้งอยู่ในต่างประเทศ ทิศทางของพัฒนาการในแต่ละประเทศต่างก็ล้อไปตามระดับการพัฒนาที่เกิดขึ้น กล่าวคือ จากประเทศที่ไม่มีเทคโนโลยีก็พัฒนาจนมีเทคโนโลยี จากประเทศที่ผลิตไม่ได้ก็พัฒนาจนสามารถผลิตได้ จากเคยผลิตสินค้าได้ด้วยแรงงานคนทักษะต่ำก็พัฒนาจนคนมีทักษะสูง จากที่เคยมีค่าแรงราคาต่ำก็พัฒนาจนมีค่าแรงราคาสูง และงานที่เคยต้องพึ่งพาแรงงานสูงก็ถูกพัฒนาจนสามารถแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติ

ดูเหมือนทุกอย่างกำลังไปได้สวย ไม่น่าจะมีอะไรที่เราต้องกังวล แต่ท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างไหม ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แรงงานจากต่างจังหวัด (โดยเฉพาะจากภาคอีสาน) ที่เคยมีมากมายในกรุงเทพฯ ปัจจุบันกลายเป็นภาวะหาแรงงานได้ยาก หลายบริษัทต้องหันไปพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา ในขณะที่ทักษะเฉพาะทางหลายอย่างแรงงานของไทยที่มีก็กลับไม่มีขีดความสามารถอย่างที่คาดหวัง หลายสัปดาห์ก่อนผู้เขียนไปทานอาหารที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านสีลม พนักงานเสริฟหลายคนเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์พูดจาภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว ในขณะที่ทักษะฝีมือของเหล่านักเรียนช่างจากวิทยาลัยเทคนิค หรือแม้แต่นักเรียนวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยกำลังถูกตั้งคำถามว่ามีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของตลาดจริงๆ หรือไม่

ภายใต้ความสงสัยที่กำลังน่าคิดนี้เอง ทางฟากประชาคมยุโรปนำทีมโดยสหพันธรัฐเยอรมนีก็ผุดแนวคิดเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 หรือ Industry 4.0 ออกมา ซึ่งอาจนับเป็นการรวมร่าง หรือฟิวชั่นครั้งใหญ่ของโลกยุคดิจิตัล (Digitalization) เทคโนโลยี ICT (Interconnection) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่มาพร้อมกับความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) บนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ไม่เคยสามารถทำได้มาก่อนในอดีต

แนวคิดของ Industry 4.0 นี้เองที่จะพาสหภาพยุโรป (ถ้าไม่ล่มสลายซะก่อนนะครับ) เดินหน้าไปไกลกว่าการบริหารซัพพลายเชน (Supply Chain) หรือห่วงโซ่อุปทาน โดยมีบริษัทแม่อยู่ในยุโรปและฐานการผลิตกระจายออกไปยังแหล่งแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกในประเทศอื่นๆ แบบเดิมๆ (เพื่อความมั่นใจและความมั่นคงของยุโรปเอง) ไปสู่รูปแบบทางธุรกิจแบบใหม่ ที่ฐานการผลิตไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ไกลหูไกลตาแบบเดิมๆ มาตั้งกันอยู่ใกล้ๆ ลูกค้า โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิตัลช่วยเปลี่ยนความต้องการจากลูกค้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการผลิตแบบจำนวนมาก (เพื่อบริหารต้นทุน) อีกต่อไป แต่ระบบอัตโนมัติที่มีความยืดหยุ่นสูง กับเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป (อย่าง 3D printer เป็นต้น) และระบบปัญญาประดิษฐ์กำลังจะช่วยให้การผลิตคล่องตัวและทรงประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แนวทางการพัฒนานี้กำลังจะทำให้แรงงานคุณภาพต่ำ (โดยเฉพาะจากประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา) จะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปเนื่องจากสามารถแทนที่ได้ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์

งานบริการที่ต้องเคยต้องพึ่งพาคน ก็กำลังจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยซอฟท์แวร์และสิ่งอำนวยความสะดวก (ให้ลองนึกถึงการเช็คอินขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ที่กำลังถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ซึ่งอาจรวมการตรวจสอบอัตลักษณ์ด้วยลายนิ้วมือ ม่านตา ฯลฯ) และอีกไม่นานเจ้าหน้าที่ ณ เคาวน์เตอร์เช็คอินก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป แม้แต่การไปซื้ออาหารขยะอย่างแฮมเบอร์เกอร์ หรือเครื่องดื่ม ในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำอาหารให้เรารับประทาน

เรื่องทั้งหมดที่ผู้เขียนเล่ามานี้ อย่าเผลอนะครับ ... เผลอแว้บเดียว ทุกอย่างก็จะอยู่รอบตัวเราแบบเดียวกับที่เราเคยต้องโทรศัพท์ไปบอกให้โอเปอร์เรเตอร์พิมพ์ข้อความสำหรับส่งข้อความไปยังเครื่องเพจเจอร์ของเพื่อนเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน มาตอนนี้เราส่ง SMS ได้เอง คุยกันผ่านวิดิโอคอล และเผลอๆ หลานๆ วัยยังไม่พ้น 10 ขวบก็ทำสิ่งเหล่านี้ได้คล่องแคล่วกว่าเราเสียด้วยซ้ำ

คำถามคือ แล้วเราจะรับมือกับ Industry 4.0 อย่างไร? (โปรดลืมงานตลาดนัดแสดงสินค้าประชาสัมพันธ์ Industry 4.0 ที่ภาครัฐไทยชอบทำกัน และโปรดคิดเรื่องนี้ให้เยอะกว่าเดิมครับ)..

"ก่อนจะเข้าสู่ยุคของแผ่น CD เถื่อนในช่วงปี 1994-1995 ซึ่งมาพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของ MS Windows 95 อันสุดแสนทันสมัย ราคาแผ่น CD เถื่อนในสมัยนั้นขายกันถึงแผ่นละ 1 พันบาทเลยทีเดียว และที่ถือว่าเป็นกิมมิคสำหรับคอคอมพิวเตอร์ในขณะนั้น แผ่นติดตั้งโปรแกรม MS Windows 95 จะมีไฟล์มิวสิควิดิโอเพลง “Good Times” ของ “Edie Brickell” เพื่อใช้สาธิตการเล่นไฟล์วิดิโอบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับเป็นสุดยอดเทคโนโลยีอันสุดแสนตื่นตาตื่นใจ"