posttoday

"ญาณสังวร" มีที่มาและความหมายอย่างไร?

16 ธันวาคม 2558

เฟซบุ๊ก วัดป่า

เฟซบุ๊ก วัดป่า

"ญาณสังวร" มีที่มาและความหมายอย่างไร?

สมณศักดิ์ ”สมเด็จพระญาณสังวร” ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนา พระญาณสังวร (สุก)

พระอาจารย์สุก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นพระเถระที่เลื่องลือด้านวิปัสนาธุระและเปี่ยมด้วยเมตตายิ่ง ถึงขนาดมีตำนานเล่าว่าสามารถแผ่เมตตาให้ไก่ป่าที่ได้ชื่อว่าปราดเปรียวและระแวงภัยยิ่ง ให้เชื่องเหมือนไก่บ้านได้ ครั้นสมเด็จพระญาณสังวร(สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ชาวประชาทั้งหลายจึงมักพากันขนานนามท่านว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน”

ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร เป็นตำแหน่งพิเศษ ที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น ฉะนั้น นับแต่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ แล้วก็ไม่ทรงโปรด พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระรูปใดอีกเลย กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ นับเป็นเวลา ๑๕๒ ปี จนได้มีการพระราชทานสมณศักดิ์นี้แด่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นที่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฒโณ)

“สมเด็จพระญาณสังวร” นั้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะฝ่าย "วิปัสสนาธุระ" ซึ่งตามพระนามหมายถึงผู้ที่ความสำรวมในความรู้อย่างยิ่ง (“ญาณ” หมายถึง ความรู้ และ “สังวร” หมายถึง สำรวม)

หรือหากอ้างถึงพระอรรถกถาความหมายของ “ญาณสังวร” จะเป็นหัวข้อหนึ่งในสังวรวินัย ๕ คือ สีลสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร และวิริยสังวร และดังได้มีอรรถาธิบายความหมายของ “ญาณสังวร” ว่า

สังวรที่ตรัสไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

“ดูก่อนอชิตะ กระแส (ตัณหา) เหล่าใดในโลกมีอยู่
สติย่อมเป็นเครื่องห้ามกระแสเหล่านั้น
เราตถาคตกล่าวสติว่าเป็นเครื่องระวังกระแสทั้งหลาย
กระแสเหล่านั้น อันบุคคลย่อมละด้วยปัญญานี้เรียกว่า ญาณสังวร”
ขุ.สุ. ๒๕/๔๒๕/๕๓๐

เพราะฉะนั้นราชทินนามตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร นี้ จึงกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความหมายสำคัญในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทยตำแหน่งหนึ่ง

บางตอนจาก : พระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) http://bit.ly/1m0Xrg6

ที่มา www.facebook.com/watpah/photos/a.171604383005330.1073741829.171500479682387/523845487781216/?type=1&theater