posttoday

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงแนะพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ช่วงโควิด-19 ระบาด

15 มกราคม 2565

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงห่วงโควิด-19ระบาดกระทบการศึกษาเด็กและเยาวชนและทรงแนะนำพัฒนาหลักสูตรและสื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่

เมื่อวันที่15 มกราคม 2565 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม อาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม ทรงเปิดงาน วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครบ 50 ปี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ โดยทรงมีพระราชานุญาตให้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก ๕๐ ปี ศาสตราจารย์ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการ สสวท. กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. กราบบังคมทูลรายงานภาพรวมการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สสวท.ครบ 50 ปี และทอดพระเนตรวีดิทัศน์ 50 ปี สสวท.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานที่มุ่งให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ ให้เยาวชนไทยรักและเลือกอาชีพนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ใช้ความรู้พัฒนาประเทศและเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ สสวท.จึงมีความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพทัดเทียมอารยประเทศ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้สามารถเรียนแบบผสมผสาน อาทิ การเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรียนในสถานศึกษาที่ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยง และการเรียนแบบออกอากาศ สสวท. ได้พัฒนาสื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิต ช่วยเตรียมความพร้อมให้ครูและนักเรียนในการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ พัฒนาหลักสูตรและสื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เกิดโรคระบาดนี้มีนวัตรรมเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือการเอาใจใส่สุขอนามัย ป้องกันโรค วัคซีน การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยทั้งส่วนตนและส่วนรวม ปี2565 เป็นปีที่ สสวท.ก่อตั้งครบ 50 ปี ได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ ตลอดจนพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ