posttoday

กยท.เตรียมทำงานเชิงรุกส่งเสริมเกษตรกรสวนยางกรีดยางหน้าสูง

07 เมษายน 2564

กยท.เร่งส่งเสริมเกษตรกรหันมากรีดยางหน้าสูงให้มากขึ้นเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไปอีก 5-10 ปี ขณะที่ศูเร่งสร้างแปลงสาธิตให้ความรู้ครบทุกจังหวัด

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยกยท.) เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับฝ่ายวิจัย ฝ่ายส่งเสริม เพื่อหาแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมายืดอายุยางพาราด้วยการกรีดยางหน้าสูงให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัด ความเชื่อ หรือปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการ เพราะจะเป็นตัวช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ต่อเนื่องไปอีก 5-10 ปี

ทั้งนี้ เกษตรกรไม่นิยมกรีดยางหน้าสูง ทั้งที่ตรงนั้นเป็นแหล่งอาหาร น้ำยางออกมาไม่น้อยกว่าปกติ ผลผลิตเท่าเดิม คือ 3 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี หรือเฉลี่ย 300 กก.ต่อไร่ต่อปี ถ้าคำนวณออกมาเป็นรายได้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คูณ 60 บาท/กก.จะเท่ากับ 18,000 บาท/ไร่ต่อปี เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะมีรายได้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี จากวิจัยในต่างประเทศยางพารามีอายุในการกรีดยางได้ถึง อายุ 40-50 ปี ถ้าดูแลส่วนยางให้ดี ขณะที่ประเทศไทยอายุประมาณ 25ปี เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นยางใหม่ อายุยางพาราประมาณ 23 ปี ส่วนภาคใต้ประมาณ 25-28 ปี ปัจจุบันประเทศไทยมียางพารา 22 ล้านไร่ เป็นสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์(บัตรสีเขียว) 16 ล้านไร่

กยท.เตรียมทำงานเชิงรุกส่งเสริมเกษตรกรสวนยางกรีดยางหน้าสูง

ด้าน ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีหลายสาเหตุที่เกษตรกรไม่นิยม เช่น คนกรีดยางไม่กรีดแม้เจ้าของสวนยางอาจจะอยากกรีด โดยอ้างว่าการกรีดยาก เนื่องจากอยู่สูง และอาจจะต้องใช้เทคนิคพิเศษเพิ่มขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยยางจ.ฉะเชิงเทรา ได้คิดค้นเทคนิคการกรีดยางแบบใหม่ ทำให้การกรีดยางหน้าสูงทำได้ง่ายขึ้นและใช้อุปกรณ์เดิม เพียงแต่ต่อด้ามมีดให้ยาวขึ้น เมื่อเกษตรกรกรีดหน้าล่าง 2 รอบ จนยางอายุ 25 ปี ก็เริ่มกรีดยางไปถึงระดับ 250 cm ด้วยการกรีดหงายมีดจากเปลือกล่างขึ้นบน จนครบ 30 cm ต่อปี ครบหนึ่งหน้าได้ 3 ปี ครบ 3 หน้าได้ 9 ปี ดังนั้นเราจะสามารถกรีดยางเพิ่มได้อีก 9 ปี รวมเป็นอายุยาง 34 ปี จึงโค่นปลูกแทน

ขณะที่ ดร.พิศมัย จันทุมา ตำแหน่ง นักวิชาการเกษตร 8 ว สถาบันวิจัยยาง ศูนย์วิจัยยางจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้มีแปลงสาธิต การกรีดยางหน้าสูงที่จ.ฉะเชิงเทราที่เดียว ซึ่งตนเห็นว่าหากจะทำงานเชิงรุกต้องกระจายให้มีแปลงสาธิตกรีดยางหน้าสูงทุกจังหวัด เพื่อให้เกษตรกรเห็นว่าผลผลิตที่ได้เท่าเดิมและต้องอบรมเจ้าหน้าที่ของ กยท.ให้เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการกรีดยางหน้าสูง เพื่อให้เข้าใจเทคนิคการกรีดยางหน้าสูงและผลประโยชน์ที่จะตกกับเกษตรกร โดยมีการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่กำหนดเป็น KPI สุดท้ายอาจจะให้แรงจูงใจเกษตรกรด้วยการให้ปุ๋ย 1กระสอบต่อไร่ เป็นต้น