posttoday

พช.หนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

06 เมษายน 2564

สกลนคร-อธิบดีพช.ลงพื้นที่สนับสนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากชุมชน

เมื่อวันที่ 6 เมษายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย หมู่ที่ 2 ต.สว่าง อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร โดยมี นายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและตัวแทนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า จ.สกลนครถือว่าเป็นเมืองแห่งครามและมีกลุ่มผ้าย้อมครามที่มีคุณภาพกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดหลายร้อยล้านบาทต่อปี กลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2546 จากสมาชิกเพียง 9 คน โดยแรกเริ่ม มีการย้อมผ้าครามแล้วนำมาทอเป็นผืนตัดเย็บเพื่อสวมใส่เท่านั้น โดยมี นางถวิล อุปรี เป็นประธานกลุ่ม ต่อมามีการตั้งกลุ่มกันขึ้นเพื่อจำหน่าย ทั้งเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ก่อนที่จะพัฒนาให้มีความสวยงาม มีการมัดหมี่เหมือนกับผ้าไหมและตัดเป็นชุด และทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นสินค้าโอทอป เมื่อปี 2549 และได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า ระดับ 5 ดาว ของจังหวัด

พช.หนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของผ้าย้อมครามคือใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี สีไม่ตก ลวดลายสวยงาม การผลิตก็ใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ใบคราม ขี้เถ้า และเปลือกไม้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ มีอาชีพและรายได้จากการทอผ้าคราม เป็นอาชีพเสริมหลังการทำนา โดยมีการสืบทอดการผลิตผ้าย้อมครามจากรุ่นสู่รุ่น จวบจนปัจจุบัน เพื่อเป็นการสืบสาน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ลูกหลานบ้านดอนกอยยังคงมีการทอผ้าใช้กันอยู่ และปรับเปลี่ยนจากการทอใช้กันในครัวเรือน ก็มีการรวมกลุ่มกัน มีการลงหุ้น ออมเงิน โดยจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2546

นายสุทธิพงษ์ ยังได้ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ในการก่อสร้างวิชชาลัยผ้าทอสกลนคร เพื่อเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างสถาบันการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาครามสกลนครที่บ้านดอนกอย โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้า และการพัฒนายกระดับผ้าไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การให้ความรู้การทอผ้า การฟอก ย้อมสีธรรมชาติ การออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองตลาดผู้บริโภคเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมผลิตภัณฑ์ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงนิยมเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์เนม ราคาแพง ตัดเย็บประณีต ทันสมัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าให้เป็นพรีเมี่ยม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงนิยมสินค้าแบรนด์เนม จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ส่งเสริมภาพลักษณ์ และประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

พช.หนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม วิชชาลัยผ้าทอ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัด เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนกระทั่งปลายน้ำ ให้แก่ผู้สนใจ สามารถที่จะนำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพได้ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาดูงาน จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า อีกทั้งบูรณาการกิจกรรมของวิชชาลัยเข้ากับการท่องเที่ยว สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรียนรู้หรือทดลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับกระบวนการทอหรือแปรรูปผ้าได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้จะทำให้สามารถส่งเสริมผ้ามัดย้อมครามให้มีการพัฒนาคุณภาพ สร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่น มีมาตรฐานคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการสืบสานและพัฒนาสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ดีในระดับชุมชน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

พช.หนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

พช.หนุนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอยแหล่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น