posttoday

สื่อเชียงใหม่ค้านคนดังฉวยโอกาสเรี่ยไรเงินหากินไฟไหม้ป่าสะเมิง

31 มีนาคม 2564

เชียงใหม่-สื่อมวลชนไม่ทนคนมีชื่อเสียงเรี่ยไรหากินไฟไหม้ป่าสะเมิง ขอให้ยุติใช้ทุกช่องทางรับบริจาคและขอให้จังหวัดใช้กฎหมายลงดาบขั้นเด็ดขาด

นายธัชชัย โกมลรัตน์ ประธานชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2564 เรื่อง ขอให้ยุติการใช้สื่อสารมวลชนในทุกช่องทางเปิดรับบริจาค(เรี่ยไร) เพื่อช่วยเหลือไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่?และเรียกร้องจังหวัด?ดำเนินการทางกฎหมาย?กับผู้ฉวยโอกาส?

ตามที่เกิดสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในห้วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ จังหวัดทั่วทั้งประเทศ ในภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการป้องกัน แก้ไข ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องตามที่ปรากฏผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง แต่ปัญหายังไม่อาจยุติได้เนื่องจากสาเหตุของปัญหามีมากมายหลากหลายมติ ซึ่งยังต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องต่อไป

ช่วงเกิดไฟป่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีหนึ่งที่เหตุการณ์รุนแรงมากโดยเฉพาะการเกิดไฟป่าในพื้นที่ดอยสำคัญๆ ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือ การเปิดขอรับบริจาค เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดับไฟ โดยเฉพาะการเปิดรับบริจาคโดย “ผู้มีชื่อเสียง” ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ช่องทางสำคัญในการเปิดขอรับบริจาคคือ การโฆษณา และ/หรือ ประกาศ ผ่านสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ ผลการรับบริจาคของ “ผู้มีชื่อเสียง” หลายคนในปีที่ผ่านมายังตอบสังคมไม่ชัดเจนถึงจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคและการใช้จ่ายเงินจากการบริจาค กระทั่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่ว กรณี ยูทูปเปอร์ ชื่อดัง

ในปีนี้ก็เช่นกัน กรณีการเกิดไฟป่าในพื้นที่อำเภอสะเมิงเมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีการเปิดขอรับบริจาคโดย “ผู้มีชื่อเสียง” อีกครั้ง โดยระบุเป็นข่าวผ่านโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า “เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ช่วยไฟป่าเชียงใหม่” ซึ่งเป็นการ “เรี่ยไร” ผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน ทั้งนี้การ “เรี่ยไร” ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการระบุพื้นที่ซึ่งนั่นหมายความว่า การเรี่ยไรนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากพื้นที่เป้าหมายด้วย ซึ่งนั่นหมายถึง ต้องได้รับอนุญาตจากจังหวัดเชียงใหม่

สื่อเชียงใหม่ค้านคนดังฉวยโอกาสเรี่ยไรเงินหากินไฟไหม้ป่าสะเมิง

ด้วยเหตุดังกล่าว ชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่า เป็นการใช้ช่องทางสื่อสารมวลชนเพื่อการ “เรี่ยไร” ซึ่งการเรี่ยไรต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 ซึ่งมาตรา 6 บัญญัติว่า การเรี่ยไร ซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาล หรือสาธารณประโยชน จะจัดให้มีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว ประเด็นมีว่า “การเรี่ยไร” โดย “ผู้มีชื่อเสียง” ใช้ช่องทางสื่อสารมวลชน โดยโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า “เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ช่วยไฟป่าเชียงใหม่” ชมรมฯ เชื่อว่าการเรี่ยไรครั้งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร ซึ่งเท่ากับว่าโทรทัศน์หรือสื่อสารมวลชนดังกล่าวได้เผยแพร่กิจกรรมอันขัดกับกฎหมาย ซึ่งหมายถึงขัดกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพอีกทางด้วย ตามที่กล่าวมาข้างต้น ชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่ ขอเรียกร้องให้สื่อสารมวลชนทุกแขนง งดการเผยแพร่ข่าวสารการเปิดขอรับบริจาคที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรในทุกกรณี และขอเรียกร้องให้ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ตรวจสอบการเปิดรับบริจาค โดย “ผู้มีชื่อเสียง” โดยระบุผ่านสื่อสารมวลชนว่า “เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ช่วยไฟป่าเชียงใหม่” นั้น ได้มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้วหรือไม่

2.หากตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีการขออนุญาตฯ ขอให้จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการตามกฎหมายในทุกข้อหา ทุกบทบัญญัติของกฎหมายที่มี

3.กรณีการเปิดขอรับบริจาค หรือเรี่ยไร เพื่อช่วยเหลือไฟป่า ไม่ว่าจะโดยบุคคล คณะบุคคลใด ขอให้จังหวัดเชียงใหม่ทำการตรวจสอบการขอรับบริจาคนั้นๆ ในทุกกรณี เพื่อความชัดเจนว่า? การขอรับบริจาคนั้นๆ จะถึงเป้าหมายช่วยเหลือการจัดการไฟป่าอย่างแท้จริงการบริจาคเพื่อไฟป่าเชียงใหม่ เป็นประเด็นที่สังคมตั้งข้อสังเกตมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบริจาคจำเป็นต้อง “โปร่งใส” ในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นของการขอรับบริจาคและเป้าหมายปลายทางที่จะนำเงินและสิ่งขอบริจาคนั้นไปสู่ผู้สมควรรับในแต่ละพื้นที่ จำเป็นยิ่งต้องได้รับการตรวจสอบและให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติกำหนดให้ปฏิบัติ