posttoday

ธรรมนัสเกาะติดแผนสกัดลูกเห็บ-ดับไฟป่าเชียงใหม่ปี64

12 มีนาคม 2564

เชียงใหม่-รมช.เกษตรลงพื้นที่ติดตามความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงกับกองทัพอากาศแผนสกัดพายุลูกเห็บ-แผนบรรเทาดับไฟป่าปี64

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ และการบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า ภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ประจำปี 2564 พร้อมมอบนโยบายและพร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อำเภอเมือง

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายจากพายุฤดูร้อน และพายุลูกเห็บเป็นประจำทุกปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการเกิดพายุลูกเห็บ พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุลูกเห็บ ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวอีกว่า การปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บและการบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า ภายใต้โครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ประจำปี 2564 และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุลูกเห็บ ได้จัดขึ้นเพื่อสานต่อพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำหนดให้ จ.เชียงใหม่ เป็นจุดศูนย์กลางของภาคเหนือ ในการจัดทำโครงการครั้งนี้

นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านต่าง ๆ อย่างเช่น การช่วยดับไฟป่า ด้านอุปโภค - บริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงการเติมน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยในขณะนี้ ซึ่งปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้รับนโยบายไปแล้วว่าการป้องกันการเผาถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล

ธรรมนัสเกาะติดแผนสกัดลูกเห็บ-ดับไฟป่าเชียงใหม่ปี64

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2564 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณพื้นที่ปฏิบัติครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 2 ลำในการดำเนินการ และในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศในการสนับสนุนอากาศยานและบุคลากรในการดำเนินงาน ประกอบด้วยเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมาย โดยการใช้วิธีโจมตีด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ โดยการนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำ ตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯ ยังได้ปฏิบัติภารกิจบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 6 เที่ยวบิน (10 ชั่วโมง) ที่บริเวณพื้นที่ อ.แม่แจ่ม อ.เชียงดาว อ.กัลยานิวัฒนา อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และบริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ – ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก – อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และปฏิบัติภารกิจช่วยดับไฟป่า ดังนี้

1.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่เขาดอยหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

2.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

3.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

4.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

5.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

6.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

7.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่

8.ภารกิจตักน้ำดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

รวมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าจำนวนทั้งสิ้น 93 เที่ยวบิน (19.55 ชั่วโมง)