posttoday

อธิบดีพช.ขยายองค์ความรู้"การเติมน้ำลงดิน"สู่ผู้นำท้องถิ่น

14 กรกฎาคม 2563

สุพรรณบุรี-อธิบดี พช.เสริมศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ สร้างองค์ความรู้ “การเติมน้ำลงดิน” จัดการน้ำผ่านเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการเปิดโครงการ “สัมมนาเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและท้องที่ในการร่วมกันจัดบริการสาธารณะ” พร้อมร่วมสัมมนาเรื่อง การจัดการบริการสาธารณะ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “การเติมน้ำลงดิน” โดยมี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.สุพรรณบุรี นายวีระชาติ สมบูรณ์วิทย์ พัฒนาการ จ.สุพรรณบุรี นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมต้อนรับ และเข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมพชร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้เพื่อเติมเต็มความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นเรื่องที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สามารถทําได้จริงและมีประโยชน์มากมาย ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำผ่านเกษตรทฤษฎีใหม่ การบริหารจัดการที่ดินให้มีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือไม้ 5 ระดับ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ประกอบด้วย ไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ทำเชื้อเพลิง ไว้ให้ร่มเย็น ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงด้านน้ำด้วยเพราะรากไม้เปรียบเสมือนธนาคารน้ำใต้ดินตามธรรมชาติ มีใบปกคลุมทำให้น้ำระเหยช้า เหนือต้นไม้อุณหภูมิก็ต่ำกว่าเขาหัวโล้นหรือที่เตียนโล่ง ทำให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล เติมน้ำให้แผ่นดิน ป่าไม้จึงเป็นธนาคารน้ำใต้ดินที่ต้องช่วยกันปลูกให้มีมากขึ้น ควบคู่กับการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่มนุษย์สร้างขึ้นเหมือนที่มาอบรมกันในวันนี้ หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีการบูรณาการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินควบคู่กับการปลูกไม้ยืนต้นให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อธิบดีพช.ขยายองค์ความรู้"การเติมน้ำลงดิน"สู่ผู้นำท้องถิ่น

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก โดยหนองเป็นแหล่งชะลอน้ำ เหมือนหลุมขนมครก แล้วเติมแหล่งกักเก็บน้ำในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงคลองไส้ไก่ ถ้าเปรียบคลองไส้ไก่เป็นเหมือนเส้นเลือด หนองก็เหมือนหัวใจที่สูบฉีดโลหิต และกระจายไปตามต้นไม้ ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ยั่งยืน สร้างประโยชน์ได้มากมาย และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน

อธิบดี พช. ยังได้กล่าวเชิญชวนให้ร่วมกันสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่รณรงค์ให้ทุกคนใส่ผ้าไทยว่า ถ้าพวกเรารวมใจสวมผ้าไทย ก็จะสามารถช่วยลดอุณหภูมิแอร์ในห้องแอร์ได้ เพราะไม่ต้องมีเสื้อคลุม ไม่ต้องมีเนคไท และที่สำคัญที่สุดผ้าไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติ ใช้ใยจากฝ้ายจากไหม สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ รวมถึงการบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะ ลดละการใช้ขยะให้น้อยลง และสามารถนำไปต่อยอดโครงการปลูกพืชปลูกผักปลูกรักกับ พช.ได้ เป็นการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

อธิบดีพช.ขยายองค์ความรู้"การเติมน้ำลงดิน"สู่ผู้นำท้องถิ่น

สำหรับ กิจกรรมในโครงการฯ ยังมีการสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในระบบ (SGB) ธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง” โดย ดร.ภูนท สลัดทุกข์ และ นายชาตรี ศรีวิชาฐา นายกองค์การบริการส่วนตำบลเก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี, เสวนาวิชาการเรื่อง “นโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้วโดยหลักการ DSLM และ SGB ระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง ในบริบทสุพรรณบุรีเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกอบจ.สุพรรณบุรี, นายปรีชา สุขรอด ปลัด อบจ.แพร่, ดร.ภูนท สลัดทุกข์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ นายวรินทร สุธรรมชาว ผอ.สถาบันพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น โดยมีผู้เข้าสัมมนาร่วมแลกเปลี่ยนอย่างคับคั่ง