posttoday

โควิด-19 ลามเศรษฐกิจภูเก็ต เดือนก.พ.63เสียหายแล้ว 1.5หมื่นล.

12 มีนาคม 2563

ภูเก็ต-ม.อ.ภูเก็ต แถลงผลกระทบเศรษฐกิจหลังเกิดโควิด-19 เฉพาะก.พ.เสียหายแล้ว 1.5หมื่นล้านบาท หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีก7เดือน คาดว่าจะเสียหาย 7หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 10.00น. รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับ ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว แถลงข่าว ผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต จากCOVID-19 (COVID-19 Phuket Economic Impact , FEB 2020) มี คณาจารย์ ฝ่ายวิจัยคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และสื่อมวลชน เข้าร่วมฯ ณ ห้องประชุม 2ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต

ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว พบว่า จำนวนผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หดตัวกว่าร้อยละ 37.91 (28 วัน) จากเดิมที่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต เฉลี่ยต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่19,085 เหลือเพียง 11,850 ต่อวัน ผู้โดยสารส่วนใหญ่กลุ่มนี้คือนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางเข้าภูเก็ต ผ่านเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นเพียงร้อยละ 50.12 ของนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตทั้งหมด ทางผู้วิจัยจึงประมาณการนักท่องเที่ยวหายไปทั้งสิ้น ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวหายไป 27-37% เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

"ปัจจุบัน การหายไปของนักท่องเที่ยวมากกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ ไม่เฉพาะชาวจีนที่หายไป จากโรคระบาดCOVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกสัญชาติ การใช้จ่ายต่อหัวต่อวันในไตรมาสแรกของภูเก็ต คือ 10,292บาท (2018)สูงกว่าตัวเลขการใช้จ่ายเฉลี่ยทั้งปีของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เคยใช้ประเมิน ดังนั้น ความเสียหายในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ มูลค่า 1.2-1.5หมื่นล้านบาท หากยืดเยื้อนับจากกุมภาพันธ์นี้ไปอีก 7 เดือน จะกระทบ 6.7-7.0หมื่นล้านบาทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ค่าจ้างและสภาพคล่องของธุรกิจโรงแรมถูกประเมินไว้ว่ามีความเสียหายระหว่าง 1.7-2.3 พันล้านบาทในเดือนดังกล่าว ธุรกิจการขนส่งภายในจังหวัดได้รับผลกระทบรวมจากการหายไปของนักท่องเที่ยว ระหว่าง 1.47-2พันล้านบาท เป็นสภาพคล่องของผู้ประกอบการร้อยละ 31 โดย ผู้ประกอบการขนส่งทางบกและทางน้ำได้รับผลกระทบมาก ถ้านับจากกุมภาพันธ์ไปในช่วง7เดือน เสียหาย 6.8-7.2พันล้านบาท

ผลกระทบดังกล่าวไม่เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยังส่งผลไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การไฟฟ้า ,ประปา,เกษตรกรรม ,อุตสาหกรรมผลิตยาง ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป็นข้อบ่งชี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจปลายน้ำของหลายอุตสาหกรรม เฉพาะการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยวของภูเก็ตจังหวัดเดียว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต้นน้ำ มูลค่า ระหว่าง 5.2-7.1พันล้านบาท และมูลค่าผลกระทบดังกล่าวกระจายตัวไปทั้งประเทศ "ดร.ชยานนท์ กล่าว

ขณะนี้ กระทรวงการคลังมีมาตรการเยียวยาสู่ภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อขอรับมาตรการเยียวยาได้ ที่ผ่านมาภูเก็ต ประสบกับหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่ สึนามิ โรคซาส์ ฯลฯ ภูเก็ตสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติได้เร็ว ขยายตัวได้ดี กว่าค่าเศรษฐกิจเสมอ ยังเชื่อมั่นกับภูเก็ต คาดว่า สามารถฝ่าฟันพายุลูกนี้ไปได้ ขอให้เป็นบทเรียนสำคัญ มีความมั่นใจว่า ภูเก็ต จะผ่านไปได้ และขอเสนอแนะทางโรงแรมในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวทางโรงแรมควรปรับปรุงให้สวยงามรอรับนักท่องเที่ยว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตประสบภาวะเศรษฐกิจกับผลกระทบจากCOVID-19 นับเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันในการแก้ปัญหา ไตร่ตรองและตั้งรับ กับการพัฒนาทักษะและ บุคลากรที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว

"ที่ผ่านมา ภูเก็ต มุ่งเพียงการท่องเที่ยวอย่างเดียว ในอนาคต ภาคเอกชนมีความหวังจะผลักดันส่งเสริมภูเก็ตให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในจุดที่เหมาะสม แต่ในตอนนี้ ภาคเอกชน ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ก่อน ซึ่ง ทุกคนมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทยมีชื่อเสียงดีระดับโลก ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบททดสอบที่ดีตั้งแต่รัฐบาลลงมาถึงระดับจังหวัด ในช่วงภาวะแบบนี้ เป็นโอกาสดีที่องค์กรการกุศลต่างๆควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน "รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ กล่าว

ส่วนการที่รัฐบาลยกเลิกศูนย์กักกันกลุ่มเสี่ยงจากCOVID-19 เป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วย โดยได้รับความเห็นจากนักระบาดวิทยา ว่า สิ่งที่รัฐกำลังทำเป็นสิ่งท้าทายมาก ต่อการระบาดของโรคดังกล่าว ควรจะมีการควบคุมกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในพื้นที่จำกัด เป็นจุดสำคัญที่สุด เมื่อไม่มีการกักตัวกลุ่มเสี่ยง การระบาดในประเทศไทย อาจเข้าสู่ระยะที่ 3 เต็มตัวแน่นอน