posttoday

กรมชลฯสร้างประตูระบายน้ำ2แห่งเชียงรายแก้ภัยแล้ง

10 มีนาคม 2563

เชียงราย-กรมชลประทานกำลังเร่งดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำอีก 2แห่งเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝายก่อสร้าง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่จ.เชียงราย มีประตูระบายน้ำหลายจุด ทั้งที่กำลังก่อสร้าง เช่น ประตูระบายน้ำแก่นเจริญ ที่อำเภอเชียงของ และประตูระบายน้ำขนาดกลางที่ อำเภอเวียงชัย

นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่2 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีประตูระบายน้ำหลายจุด เนื่องจากหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากภาวะะภัยแล้ง ในช่วงฤดูร้อน ขณะที่ช่วงฤดูฝน เกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามมา

"เรามีน้ำในอ่างเก็บน้ำราว 50 เปอร์เซนต์ ในฤดูแล้ง ทำให้ต้องหาวิธีบริหารการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเริ่มศึกษาโครงการสร้างประตูระบายน้ำขึ้นมาช่วยสนับสนุน โดยมีประตูระบายน้ำแม่ห่าง กับ ประตูระบายน้ำร่องลึก เริ่มสร้างเมื่อ ปี 2558 ใช้เวลาสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จ ในปี 2560 ประตูระบายน้ำแม่ห่าง เป็นประตูระบายน้ำ แบบบานตรง 6X6เมตร มีช่องระบาย 3 ช่อง ส่วนประตูระบายน้ำช่องลึก มีช่องระบาย 2ช่อง ทำงานลักษณะเดียวกัน โดยจะส่งมอบให้ชลประทานเชียงรายนำไปใช้บริหารจัดการน้ำ ต่อไป คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง"

"เวลาไปทำอ่างเก็บน้ำจะมีการขอใช้พื่นที่ป่า 500-1,000ไร่ กรมชลประทานต้องมีแผนแก้ไขผลกระทบส่งแวดล้อม โดยการปลูกป่าชดเชยเพิ่ม 2 เท่า โดยตั้งงบประมาณรองรับ ส่วนโครงการพื้นที่แก้มลิง เป็นอีกโครงการที่กรมชลประทานสนใจ เพราะหากมีพื้นที่แก้มลิงมาก จะทำให้มีแหล่งสำรองน้ำมาก เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันเขื่อนขนาดใหญ่ โอกาสที่จะสร้างได้น้อยมาก เพราะมีหลายปัจจัย เช่นเดียวกับเขื่อนขนาดกลาง ใช้เวลาศึกษาและออกแบบ ใช้เวลาเกือบ 3ปี"

"เมื่อเรามีแผนงานในการก่อสร้าง อันดับแรกต้องไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยไปอธิบายถึงประโยชน์ที่จะได้รับ และผลเสียที่จะเกิดขึ้น แต่เราต้องไปชดเชยสิ่งที่พวกเขาสูญเสีย และต้องได้รับความเป็นธรรมกลับคืน จุดนี้คือสิ่งสำคัญในการก่อสร้าง หากมีคนในพื่นที่เพียงหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วย ถึงขนาดต้องยอมชะลอโครงการก็มี"

กรมชลฯสร้างประตูระบายน้ำ2แห่งเชียงรายแก้ภัยแล้ง

ขณะที่ กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล หัวหน้า ฝ่ายก่อสร้างที่2 กล่าวเสริม ถึงการก่อสร้างประตูระบายน้ำร่องลึก ว่า เมื่อ30ปี ก่อน ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูง ทำให้แม่น้ำกก ไหลลงไม่ได้ มันทำให้ช่องลึก เป็น ทะเลสาบ ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่สามารถใช้พื้นที่เกษตรกรรมได้ จึงขายทิ้งไร่ละ 3,000 บาท หลังจากนั้นกรมชลประทานสร้างประตูระบายน้ำเสร็จ มีความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ ปัจจุบันขายไร่ละ 3 แสน แม้ตอนนั้นมีชาวบ้านบางส่วนคัดค้าน ระหว่างก่อสร้าง ชาวบ้านไม่ยอมรับเงิน แม้จะมีกฤษฎีกา เวรคืน จนสุดท้ายต้องใช้อำนาจศาล แต่สุดท้ายก็ยอมรับ เพราะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาให้ประชาชนได้

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังมีการศึกษาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เช่น กรณี นำน้ำใต้เขื่อนมากักเก็บใช้ โดยทำเป็นอุโมงค์ผันน้ำ ลักษณะใช้แรงโน้มถ่วงของโลก ยกตัวอย่าง ที่เชียงใหม่ มีอุโมงค์ผันน้ำ ที่มีความยาว 47 กิโลเมตร จาก ลุ่มน้ำแม่แตง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นการบริหารจัดการน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยใช้การเจาะอุโมงค์แบบเจาะผ่านชั้นหินแข็ง แห่งแรกในประเทศไทย 

กรมชลฯสร้างประตูระบายน้ำ2แห่งเชียงรายแก้ภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาโครงการ ดึงน้ำ จากลุ่มน้ำยวง จากอ.แม่สะเรียง อ.ขุนยวม เพื่อเอาน้ำมาลงด้านท้ายของเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะได้น้ำเอาไปเติมเขื่อนภูมิพล เพื่อจะเอา ใช้ให้พี่น้องเกษตรกรในภาคกลาง หากปีนี้ศึกษาเสร็จ คาดว่าปีหน้าก็จะเริ่มทำการสำรวจและออกแบบ และของบประมาณ อย่างเร็วที่สุดน่าจะเริ่มสร้างได้ในราวปี2565

ทั้งนี้ ททท.สำนักงานเชียงราย กรมชลประทาน และ สายการบินแอร์เอเชีย ร่วมกับรายการไทยแลนด์ สตอรี่ FM92.5 Mhz จัดทริป...เชียงรายไม่ไกล ใครๆก็ไปได้ มีผู้ร่วมทริปเกือบ 20 ชีวิต ได้ท่องเที่ยวไปที่โครงการฝายของจังหวัด ถือเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำไปให้เกษตรในพื้นที่ ได้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง

กรมชลฯสร้างประตูระบายน้ำ2แห่งเชียงรายแก้ภัยแล้ง