posttoday

ชาวบ้านต้านผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล จ่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล

07 มีนาคม 2563

หลายสิบหมู่บ้านค้านโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล เตรียมยื่นหนังสือคัดค้าน-ชี้ กมธ.ดูถูกบอกว่าจะให้บ้านละ 1 ล้าน-แย่งความสุขชุมชน

ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2563 คณะสื่อมวลชนกว่า 10 คน ร่วมกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมและขุดอุโมงค์ยาว 64 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร ผ่าทะลุป่ารอยต่อของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก โดยคณะสื่อมวลชนเริ่มต้นลงพื้นที่ที่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นปากอุโมงค์ที่น้ำจะไหลลงเขื่อน โดยมีชาวบ้านกว่า 30 คนร่วมให้ข้อมูล

นายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด หมู่ 6 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้าน 15 หมู่บ้านซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยงในพื้นที่อ.ฮอด มีความเห็นตรงกันที่จะคัดค้านผันน้ำครั้งนี้ “ชุมชนกะเหรี่ยง 15 หมู่บ้านในพื้นที่ อ.ฮอด ไม่ต้องการโครการนี้ เพราะไม่มีประโยชน์กับชุมชน ซ้ำยังจะเกิดผลกระทบจากการใช้พื้นที่กว่า 77 ไร่ ในหมู่บ้านแม่งูด ซึ่งเป็นจุดทิ้งดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ พวกเรากำลังจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือคัดค้านกับรัฐบาลในเร็วๆ นี้” นายวันชัยกล่าว

นายวันชัยกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อมูลไม่กระจ่าง ชาวบ้านยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบในหลายประเด็น การเรียกผู้นำชุมชนไปประชุมชี้แจงที่ผ่านมาก็เพียงแค่แนะนำโครงการว่าจะทำอย่างไร มีผลดีอย่างไร แต่ไม่ได้ชี้แจงประเด็นผลกระทบ ตนเองเตรียมข้อมูลไปเพื่อที่จะสอบถามในที่ประชุม ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตัดบทไม่ให้พูดต่อไป โดยอ้างว่าหมดเวลาของการประชุมแล้ว

หลังจากนั้นคณะผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีอุโมงค์ผันน้ำขุดผ่าน ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 100 คนมาร่วมให้ข้อมูล โดยผู้นำชุมชนหลายหมู่บ้านต่างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่เคยรับรู้ข้อมูลโครงการผันน้ำครั้งนี้มาก่อน และต่างรู้สึกเป็นกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นายศรายุทธ ผลทวิช อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมชลประทานซึ่งมาชี้แจงโครงการระบุว่าการผันน้ำก็เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนภูมิพล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลในปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีมากขึ้น

“เราฟังแล้วคิดว่าชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการนี้เลย น้ำก็ส่งผ่านอุโมงค์ลึกจากพื้นดินประมาณ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไม่ได้ ในขณะที่เราก็กังวลเรื่อวผบกระทบ เรื่องดินสไลด์ รวมทั้งการชดเชยกรณีใช้ที่ดินชาวบ้านเป็นจุดทิ้งดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน”นายศรายุทธกล่าว

ชาวบ้านต้านผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล จ่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล

นายวิทยา คมชายชาญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านหนองอึ่งใต้ อ.อมก๋อย กล่าวว่า หากโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วชาวบ้านจะได้รับประโยชน์อย่างไร รวมทั้งผลกระทบและค่าชดเชยต่างๆ ก็ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เรียกผู้นำชุมชนไปประชุม แต่ไม่สามารถตอบคำถามข้อสงสัยได้ ผู้นำชุมชนก็ไม่มีข้อมูลพอที่จะมีชี้แจงกับลูกบ้านได้ จะให้อธิบบายแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้อย่างไร ต้องมีความโปร่งใส ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลคือการใช้พื้นที่เป็นจุดกองดิน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นพื้นที่ใด เนื้อที่เท่าไหร่ ค่าชดเชยจะเป็นอย่างไร และเมื่อนำดินมาทิ้งแล้ว ชาวบ้านจะสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้อีกหรือไม่

ชาวบ้านต้านผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล จ่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล

นายโขยพะ แก้วกลางดง ชาวบ้านยองกือ ต.อมก๋อย กล่าวว่า หน่วยงานผู้รับผิดชอบควรจะต้องมาบอกกับชาวบ้านว่าจะทำอะไร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการมาชี้แจง ชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลอะไรเลย ขอให้คิดถึงความรู้สึก คิดถึงหัวอกชาวบ้านที่จะต้องได้รับผลกระทบบ้าง ที่ผ่านมาชาวบ้านในแถบนี้ก็กังวลกรณีการสำรวจเหมืองแร่ถ่านหินอยู่แล้ว ยิ่งเกิดโครงการผันน้ำขึ้นอีก ทำให้ชาวบ้านกังวลมากขึ้น เพราะตั้งชุมชนอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นทวด หากเกิดโครงการแล้วมีผลกระทบเกิดขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน รวมทั้งเรื่องการทำมาหากิน

ในวันสุดท้ายคณะผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งตามแผนของโครงการจะมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม สถานีสูบน้ำ ถังพักน้ำและปากอุโมงค์ส่งน้ำ ทั้งนี้ชาวบ้านกว่า 60 คนมาร่วมให้ข้อมูล โดยส่วนใหญ่ระบุว่า แม้มีการจัดประชุมชี้แจงโครงการหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบให้ชาวบ้านคลายความกังวลได้เลย

นายธงชัย เลิศพิเชียงไพบูลย์ ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมยกล่าวว่า ทุกครั้งที่เข้าร่วมการประชุมได้ลุกขึ้นพูดเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในพื้นที่ เพราะกังวลว่าโครงการนี้จะสร้างความเสียหายแก่ป่าไม้จนกู้คืนไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าส่งผลกระทบแค่เพียง 4 หลังคาเรือน ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะจะมีการขุดเจาะอุโมงค์นำดินขึ้นมากองทิ้งในพื้นที่

“ทุกฝ่ายที่ลงมาไม่ได้พูดถึงผลกระทบและการเยียวยา เพราะที่ดินทำกินของพวกเราต่างก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะให้ไปอยู่ไหน จะเอาไปลอยแพไม่ได้ เราเป็นมนุษย์ เราอยู่กันมีความสุขสงบอยู่แล้ว แม้ไม่มีเงิน แต่ก็มีกิน มีความสุข จะทำโครงการอะไรควรต้องคิดให้รอบคอบก่อน พวกเราชาวบ้านไม่ต้องการโครงการนี้ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับเราเลย”นายธงชัยกล่าว

นายยอดชาย พรพงไพร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่สวด อ.สบเมยกล่าวว่า ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเดินทางลงพื้นที่อ.สบเมยเพื่อติดตามโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแม่เงา แต่ห้องประชุมมีพื้นที่จำกัดจึงต้องรออยู่ภายนอก แทบไม่ได้พูดอธิบายอะไรเลยเพราะมีเวลาน้อย พอจะถามถึงเรื่องผลกระทบก็ถูกตัดบทให้ฝ่ายอื่นได้พูด

“ประเด็นหนึ่งที่ผมถามคือเรื่องค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ กรรมาธิการคนหนึ่งบอกว่าโครงการนี้มีงบประมาณสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ผู้รับเหมารายใดได้งานนี้ไปก็จะจ่ายให้ชาวบ้านรายละ 1 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเป็นการดูถูกชาวบ้านอย่างมาก เงินแค่ 1 ล้านบาทซื้อที่ดินยังไม่ได้เลย เมื่อจะเอาน้ำไป แต่ค่าตอบแทนที่จะให้คนที่นี่มีหรือไม่ อย่าลืมว่าคนที่นี่คือผู้ดูแลป่าต้นน้ำที่ทำให้พวกคุณมีน้ำที่นำไปให้กับคนภาคกลางได้”นายยอดชายกล่าว