posttoday

กลุ่มสตรีเมืองแปดริ้วร่วมรณรงค์ใส่ผ้าไทยเชิดชูอัตลักษณ์ผ้าท้องถิ่น

03 มีนาคม 2563

ฉะเชิงเทรา-รองผู้ว่าฯแปดริ้วลงนามความร่วมมือกับสภาสตรีฯและกรมการพัฒนาชุมชนปลุกองค์กรสตรีทั่วทั้งจังหวัดร่วมรณรงค์ใส่ผ้าไทยอนุรักษ์เชิดชูผ้าท้องถิ่นสร้างรายได้สู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ"สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน"กับนายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รอง ผวจ.ฉะเชิงเทรา และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายใน จ.ฉะเชิงเทราร่วมลงนาม 30 หน่วยงาน ณ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทลแอนด์กอล์ฟ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่ทางสภาสตรีแห่งชาติ ฯทำขึ้น โครงการแรกที่ได้ดำเนินการ คือ ตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดินได้เดินทางไปศึกษาดูภูมิปัญญาผ้าไทยของทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ ก็ทำให้รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากยิ่งขึ้นสุดหัวใจ พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กับองค์กรสตรีไทย

กลุ่มสตรีเมืองแปดริ้วร่วมรณรงค์ใส่ผ้าไทยเชิดชูอัตลักษณ์ผ้าท้องถิ่น

ทั้งนี้ พระองค์ท่านทรงได้รื้อฟื้นผ้าไทย ตั้งแต่ปี 2507 นับแต่ตามเสด็จครั้งแรก ๆ ที่อ.นาหว้า จ.นครพนม ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ พระปรีชาชาญ ทรงมีความอดทนอย่างยิ่ง ที่ทรงทอดพระเนตรผ้า และจะนำมาพัฒนาผ้าไทย ทรงสนพระทัยในทุก ๆ ผืน เพื่อให้ประชาชนได้มีรายได้ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินที่จะกลับมาสู่ครอบครัว ชุมชน พระองค์ยังเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยทุกภูมิภาค ตั้งแต่นั้นมาในทุกพระพระราชกรณียกิจ

"การทอผ้าเปรียบเสมือนลมหายใจของผู้หญิง กว่าจะได้ผ้าผืนสวยงาม ต้องอดทนนั่งถักทอ ต้องเกิดจากกระบวนการ เริ่มต้นจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ต้องสาวไหม ต้องสาวมาเป็นเส้น และนำมาถักทอเป็นผ้า หนึ่งผืน ใช้เวลา นานถึง 6 เดือน และลวดลายผ้า ล้วนมากจากภูมิปัญญาของพี่น้องสตรีทั่วประเทศ" ดร.วันดีกล่าว

สำหรับ ผ้าทอของจ.ฉะเชิงเทราเป็นผ้าที่มีอัตลักษณ์ มีกลุ่มสตรีต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบที่มีกลุ่มทอผ้า เป็นการทอผ้าที่ได้รับสืบทอดภูมิปัญญามาจากภาคอีสาน มีลวดลายผ้าที่คล้ายกับจังหวัดของทางภาคอีสาน เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าสาเกต ผ้าไหมสาเกตนคร ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองของชาวจ.ร้อยเอ็ด เป็นผ้าไหมที่งดงาม เป็นผ้าที่มีอยู่เพียงอำเภอเดียว ในจ.ฉะเชิงเทรา ดังนั้นต้องช่วยกันรักษาภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ต่อไป

ด้าน นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีพช. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อประสานความร่วมมือและสนับสนุนการจัดทำโครงการ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ และเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทย และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีท้องถิ่น ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ข้าราชการในสังกัดใส่ผ้าไทยทุกวันด้วย

ขณะที่ นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผวจ.ฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรามีเจตจำนงและแจ้งส่วนราชการ เครือข่ายในจังหวัดร่วมกันแต่งกายชุดผ้าไทยทั่วทั้งจังหวัดในวันปฏิบัติราชการ และตามโอกาสที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนให้มีการขยายกลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านที่สามารถทอผ้าได้ เพื่อเป็นการร่วมสืบสาน สนับสนุนและเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณสตรีแห่งชาติ ฯ กรมการพัฒนาชุมชน และส่วนราชการทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันจัดโครงการ”สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ในครั้งนี้

นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จะร่วมดำเนินการตามโครงการฯ จ.ฉะเชิงเทรามีสิ่งดี ๆ มากมาย ขอให้พวกเราได้สืบสาน และนำมาต่อยอด เพื่อให้ผ้าไหมของเราได้เป็นที่ประจักษ์ เป็นสิ่งที่พวกเราจะได้ภาคภูมิใจ