posttoday

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

19 มกราคม 2563

โดย อชัถยา ชื่นนิรันดร์

โดย อชัถยา ชื่นนิรันดร์

“ภูเก็ต” ดินแดนแห่งไข่มุกอันดามัน อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เข้ามาเยือนภูเก็ตในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆของภูเก็ต รวมทั้ง ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่สะดุดตากับตึกแถวโบราณเรียงรายสองฝั่งถนนที่เป็นร่องรอยประวัติศาสตร์รุ่งเรืองสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคสมัยการทำเหมืองแร่เฟื่องฟู ด้วยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา กรมศิลปากรมีมติร่วมกับจ.ภูเก็ต เตรียมนำเสนอเขตเมืองเก่าภูเก็ตให้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลนำเสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) ภายในปี 2563

ทั้งนี้ จุดเด่นของเมืองเก่าแห่งนี้ คือ พื้นที่โดยรอบ ประกอบด้วย ถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง มีสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนรูปแบบชิโน-โปรตุกีส ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตกในแหลมมลายู ในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก ราว พ.ศ.2054

จากการประชุมหารือร่วมกันกับทางจังหวัด และ ภาคปาะชาชน เห็นตรงกันว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีการผลักดันเสนอเมืองปีนังขึ้นทะเบียนมรดกโลก เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ เสนอเมืองมะละกาได้สำเร็จ เมื่อพิจารณาในส่วนของไทย เห็นว่าศักยภาพของเมืองเก่าภูเก็ตที่มีความโดดเด่นคล้ายคลึงกับ 2 เมืองดังกล่าว

อีกทั้งยังเป็นย่าน ที่มีผู้อยู่อาศัยปกติ โดยอยู่ในเกณฑ์พิจารณาเมืองที่พัฒนาการมาจากความเจริญรุ่งเรือง และความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก สั่งสมเกิดเมืองเก่า ที่มีสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์แบบชิโนโปรตุกีส เพราะประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ตมีหัวใจสำคัญคือการทำเหมืองแร่ ก่อนที่จะเป็นเมืองท่า เมืองตากอากาศ จนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ในปัจจุบัน

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตเริ่มพัฒนาโดยเทศบาลนครภูเก็ตเป็นเวลา 30ปี ส่วนชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ได้ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี และอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกันส่งเสริมพัฒนาขับเคลื่อนชุมชนฯโดยเป้าหมายที่ชุมชนฯวางไว้คือต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นมรดกของคนภูเก็ตของคนไทย ที่เราพยายามขับเคลื่อนผลักดันมา ในการเป็นย่านเมืองเก่าภูเก็ต

“จุดเด่นของชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต คือ รอยยิ้ม ประสบการณ์สัมผัสครั้งแรกของนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวเมืองไทยสิ่งที่เขาได้รับและประทับใจ คือ รอยยิ้มของคนไทย คือ ข้อได้เปรียบของที่นี่ และในย่านเมืองเก่าภูเก็ต นอกจากอาคารที่เห็นเป็นอาคารเก่าอายุกว่า 100ปี แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าในพื้นที่นี้เจ้าของอาคาร หรือคนที่ครอบครองอาคารส่วนมากยังเป็นคนเดิม กว่า 80%ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากรุ่น 4 ถึงรุ่น 6 จากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตยุคทำเหมืองแร่จนเข้ายุคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ยังสืบสานกันได้ เป็นเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าที่ แตกต่างจากที่อื่น” นายดอนกล่าว

เมื่อปี 2560 รัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าภูเก็ต บน เนื้อที่ 2.7 ตร.กม. มีอาคารเก่าเรียงรายจำนวน 210ไร่ ประกอบด้วยถนนสายสั้น 10 สาย ได้แก่ 1.ถนนถลาง 2.ถนนพังงา 3.รัษฏา 4.ดีบุก 5.กระบี่ 6.เทพกษัตรีย์ 7. ภูเก็ต 8.เยาวราช 9.ถนนสตูล 10.ซอยรมณีย์

ปัจจุบันในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีคณะอนุกรรมการเมืองเก่าภูเก็ตช่วยกันดูแลในพื้นที่นี้ด้านการก่อสร้างอาคาร การต่อเติมอาคารในเขตนี้ช่วยกันดูพิจารณาและหลายภาคส่วน พยายามจะขยับเรื่องผังเมืองในแผนแม่บทเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเทศบาลนครภูเก็ตเริ่มศึกษามีความเป็นไปได้สูงที่จะออกเทศบัญญัติคุ้มครองอาคารเก่าในย่านเมืองเก่า ในการดูแลอาคาร การอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

“ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ในการเป็นชุมชนท่องเที่ยว ที่ผ่านมาชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ประเภทสาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ประเภทแหล่งท่องเที่ยวดีเด่น รางวัลมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชน ระดับอาเซียน ปี 2019-2021 เหล่านี้ช่วยกันเหมือนจิ๊กซอว์คนละตัวที่เข้ามาช่วยกันทำให้กับทางชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในกิจกรรมถนนคนเดิน ที่จัดทุกวันอาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดินเฉลี่ย จำนวน 2 หมื่นคนต่อครั้ง ส่วนในวันธรรมดาจะมีรถตู้รถบัสนำนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากมีการจัด พื้นที่จอดรถของบัสทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วน บ้านอาคารเก่าในย่านเมืองเก่าภูเก็ต เดิมทำเพียง 1-2 หลังที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ตอนนี้เปิดบ้านเพิ่มขึ้น หลายหลังแล้ว ที่ทำทัวร์เปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ

น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า การที่กรมศิลปากรเตรียมยกภูเก็ตเป็นมรดกโลกมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้หลายเกณฑ์ โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ การทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ต้องทำให้คนในพื้นที่ปลอดภัยสะดวกสบาย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแล้วประทับใจ ในโครงสร้างพื้นฐานและการเก็บรายละเอียดหลายเรื่อง เทศบาลนครภูเก็ตต้องทำโครงสร้างพื้นฐานความเป็น อัตลักษณ์ร่องรอยสถาปัตยกรรมอาคาร อาหาร และ อาภรณ์ เทศบาลนครภูเก็ตให้การส่งเสริมสนับสนุนให้องค์ความรู้ให้กับคนทุกกลุ่มในชุมชนฯรวมทั้ง นักเรียน นักศึกษา ต้องพัฒนาควบคู่กันไป

โดยเฉพาะ ถนนถลาง เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นเมืองที่มีร่องรอยของความเจริญ ที่มากกว่า 100 ปี จากการค้ายุคแร่ดีบุก ในสมัยนั้น ได้มีการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมร่องรอยของความเจริญซึ่งในการดูว่าเมืองมีความรุ่งเรือง หรือมีความสุขนั้นสามารถดูได้จากอารยสถาปัตยกรรมได้ และวิถีชีวิตในธุรกิจที่อดีต 100 กว่าปีมาถึงวันนี้ ยังมีในรายละเอียด ครอบครัวยังอยู่ในอาชีพแบบเดิมแม้วันนี้จะเป็นเรื่องท่องเที่ยวแต่ประมาณ 70-80% ยังเป็นอาชีพดั้งเดิมอยู่

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

“จุดแข็งของชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตคนในพื้นที่มากกว่า 70% เป็นคนดั้งเดิม บางครอบครัวอยู่ถึง 6 เจนเนอเรชั่น มีหลายคนถามว่าเราอยู่ได้อย่างไรต้องบอกว่าชุมชนเข้มแข็ง และต่างต้องรักษามรดกของตัวเองและท้องถิ่นเองต้องให้การสนับสนุนในการต่อยอดกันมา และอยู่ด้วยความหลากหลายวัฒนธรรมในวิถีชีวิตชาวมุสลิม ซิกข์ ฮินดู และจีน เป็นพหุสังคมส่งทอดมายังเรื่องอาหาร นักท่องเที่ยวได้รู้จักว่าคนดั้งเดิมอยู่กันอย่างไร สืบทอดกันอย่างไรคนในพื้นที่อยู่กันอย่างไรจะเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักภูเก็ตตนมากกว่าธรรมชาติ” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตกล่าว

ล่าสุดการที่ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตได้รับการยกย่องจาก CNN เมื่อต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจากหน่วยงานต่างๆ ในฐานะที่เป็นคนพื้นที่ รู้สึกมีความภาคภูมิใจ เกิดจากการร่วมมือกับทั้งคนในชุมชน เพื่อร่วมแรงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยเพาะในอดีตของชุมชนย่านเมืองเก่า เป็นชุมชนจัดการตนเองในเรื่องการท่องเที่ยว ได้รับชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับอาเซียน แม้กระทั่งเทศบาลนครภูเก็ต รับการประเมินในการเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองสิ่งแวดล้อมดี

นางศิรวี วาเล๊าะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมายาวนาน และมองว่าชุมชนนี้สามารถสร้างมูลค่าให้กับภูเก็ตได้ด้วย เมื่อปี 2559 ทางชุมชนฯต้องการให้เข้ามาร่วมพัฒนาส่งเสริมอยากเป็นชุมชนท่องเที่ยว จึงดึงจุดเด่นของชุมชนขึ้นมา เช่น ช่างตีเหล็ก อาอี๋ร้องเพลง และน้องแอนนี่กับเปียโนเพลงจีน เป็นต้น

“ถ้าไม่เปิดบ้านคนก็จะไม่รู้จัก จึงเข้าไปคุยกันในชุมชนฯที่ปัจจุบันทำบ้านหลายหลังขึ้นมาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว มีไกด์นำเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวชอบใจ กิจกรรมนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากทำให้ชุมชนฯได้รับรางวัลเยอะแยะมาก ล่าสุดได้รางวัลกินรีของ ททท. อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้รางวัลระดับอาเซียน มาแล้ว ถือว่า ความเข้มแข็งของชุมชน สามารถทำให้มีรายได้และมีการอนุรักษ์กันมากขึ้น ซึ่งชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตมีความพร้อมเต็มที่เพื่อเป็นมรดกโลก”นางศิรวี กล่าว

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

ด้าน นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า การที่กรมศิลปากรจะยกย่านเมืองเก่าภูเก็ตสู่มรดกโลกนั้น เป็นความภาคภูมิใจที่สามารถเข้าตาและโดนใจกรมศิลปากรเพื่อสู่เวทีโลกที่ผ่านมา ทางชุมชนฯได้รับรางวัลระดับอาเซียนมา 2 รอบแล้ว มีรางวัลที่ ททท.มอบให้อีก ในวันที่ 27 ก.ย.2562 ทางชุมชนฯมีการตอบรับนักท่องเที่ยวได้ดี มีความโดดเด่นในสถานที่ อาคาร อาหาร และอาภรณ์ ซึ่งในเขตย่านเมืองเก่าภูเก็ต ได้รับรางวัลอีกในส่วนของมิวเซียมภูเก็ต พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ที่สามารถเข้าถึงภูเก็ตในอีกมุมหนึ่ง

“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สำนักงานภูเก็ต ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต มานับ 10 ปีแล้ว ได้นำเสนอข้อมูลชุมชนฯส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังเอเย่นต์ทัวร์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งทำโรดโชว์ จัดพบปะบริษัทนำเที่ยวในตลาดต่างๆมากขึ้น ทั้งยุโรป และ เอเชีย โดยการท่องเที่ยวชุมชนถือเป็นสินค้าหลักในการนำเสนอเป็นมุมมองใหม่ที่เข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตได้ไม่เฉพาะที่ทะเล ” นางกนกกิตติกา กล่าว

ขณะที่ ด้าน นายสมยศ ปาทาน (Somyot Pathan) รองประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ได้นำต้นทุนที่มีอาคารสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความสวยงามมากขึ้น

" ย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีต้นทุนเดิมที่สวยงามอยู่แล้วเมื่อได้รับการรีโนเวททำให้เมืองสวยงามยิ่งขึ้นจากเดิมที่ซบเซา ทำให้เกิดการเจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยทุกคนในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต พร้อมใจเปิดบ้านพัฒนาเมือง ทำให้ CNN ยกให้เราเป็น 1 ใน 13 เมืองสวยในเอเชีย ทำให้รู้สึกภูมิใจที่ภูเก็ตของเราไม่ได้มีดีแค่ทะเล ขอเชิญชวนทุกท่านมาเที่ยวชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต"นายสมยศ กล่าว

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

ด้าน นายเริงเกียรติ หงษ์หยก (Roengkiat Hongyok )ผู้ประกอบการรายหนึ่งในย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า เปิดบ้านขุนนิเทศจีนารักษ์ พัฒนาเป็นร้านค้าในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยพื้นฐาน เป็นคนภูเก็ตตั้งแต่กำเนิด เห็นความเปลี่ยนแปลงในชุมชนมากขึ้น

" เดิมอยู่กันอย่างเงียบเหงา เมื่อมีการพัฒนามีนักท่องเที่ยวเข้ามา มีการทำกิจการร้านค้า รองรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เพิ่ม โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยเดิมเป็นบ้านที่ปิดไว้ ต่อมาได้เปิดบ้านเป็นร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก มีสตอรี่ในบ้านบอกเล่าเรื่องราวของบ้าน มีขนมโบราณ เครื่องดื่มบริการทุกคน ที่มาเยือน มีฉิ่มแจ้ กลางบ้าน (บ่อน้ำโบราณกลางบ้าน) ซึ่งบ้านหลังนี้มีอายุกว่า 80 ปี มีความยาวของบ้าน 70 เมตร

ทั้งนี้ ทุกคนในบ้านรักและหวงแหนบ้าน ได้ร่วมกันดูแลรักษาความสะอาดบ้าน หน้าบ้าน ตัวบ้าน ในบ้าน เปิดบ้านให้ทุกคนเข้ามาเที่ยวชม เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ประทับใจแก่ทุกคน รู้สึกดีใจ ภูมิใจ ที่ ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตได้รับการยกย่องจาก CNN และจากกรมศิลปากรที่จะผลักดันให้เป็นมรดกโลก ซึ่งการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าภูเก็ตในชุมชนทุกคนจะส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป”นายเริงเกียรติ กล่าว

สำหรับ นักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติในภูมิภาคเอเชีย และ ยุโรป ต่างมีความพอใจที่เข้ามาท่องเที่ยว ในเขตชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยวันธรรมดาได้เข้ามากับกรุ๊ปทัวร์ ในแพคเกจท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เข้าร่วมทำกิจกรรมเดินเที่ยวชมอาคาร สถาปัตยกรรม ถ่ายรูป เช็คอิน ร่วมทำอาหารพื้นเมืองภูเก็ต เช่น ผัดหมี่ฮกเกี้ยน เป็นต้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ รอเข้าร่วมกิจกรรมถนนคนเดินที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเย็นวันอาทิตย์ เนื่องจากภายในงานมีผู้ประกอบการหลากหลายร้านค้ามาเปิดบูธจำหน่ายสินค้าที่แปลกใหม่ จำนวนมาก เช่น ของพื้นเมืองภูเก็ต อาหารพื้นเมืองภูเก็ต เสื้อผ้า เป็นต้น ยังได้ร่วมกิจกรรมดนตรี ชมการแสดงต่างๆตลอดทั้งสายของถนน ได้ถ่ายรูป เช็คอินตามจุดต่างๆของอาคารที่สวยงามและสถานที่ต่างๆภายในงาน สร้างรอยยิ้มและความสุขแก่ทุกคนที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก

100 ปีชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เปิดบ้านสู่ความพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก