posttoday

เลี้ยงโคชนในสวนยางพารา - ปลูกกระถินเทพา ทางรอดเกษตรกรภาคใต้

18 มกราคม 2563

พัทลุง-ไม่รอรัฐบาลช่วยราคายางพารา เกษตรกรภาคใต้ตื่นเลี้ยงโคชน ปลูกกระถินเทพส่งโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล

พัทลุง-ไม่รอรัฐบาลช่วยราคายางพารา เกษตรกรภาคใต้ตื่นเลี้ยงโคชน ปลูกกระถินเทพส่งโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล

ที่อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพาราได้หันมาเลี้ยงโคชนในพื้นที่สวนยางพารา โดยการตัดหญ้าตามสวนยางพารา และสวนผลไม้มาเป็นอาหารเลี้ยงโคชน
ซึ่งลูกโครับซื้อมาราคา 7,000 บาท นำมาเลี้ยงขุนใช้เวลาเกือบ 2 ปี ขายออกได้ประมาณกว่า 25,000 - 30,000 บาท สร้างรายได้ประมาณ 27,000 บาท เท่ากับมีรายได้ประมาณ 1,250 บาท / เดือน หรือต่อวัน 30-40 บาทเศษ แต่เพียงใช้เวลา 30 นาที ในการตัดหญ้าหาผลไม้มาเลี้ยงโค

ขณะนี้เจ้าของสวนยางพารา เตรียมล้มยางพาราที่กรีดอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อปรับพื้นที่ปลูกหญ้าเป็นอาหารโค และหลายราย กำลังหาทุนเพื่อมาซื้อลูกโคเลี้ยงขุน

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกลุ่มน้ำยางสดบ้านพรุเตียว อ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผยว่า สมาชิกในกลุ่มได้เลี้ยงโค และทำการเกษตรปลูกต้นไม้ ผลไม้ ปลูกพืชผัก ไม้เศรษฐกิจปลูกกะถินเทพา เพื่อเตรียมขายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เพราะยางพาราอาชีพหน้าเดียวอนาคตไม่ไปได้แล้ว ราคาคงไม่เกิน 60 บาท / กก.ต้องหาอาชีพมาคู่ขนานเป็นรายได้ ไม่ต้องรอแต่เพียงรัฐบาลช่วยเหลือสนับสนุนแต่อย่างเดียว โดยเฉพาะสวนยางพารากับโค จะได้คู่ขนาดกันไปด้วย เลี้ยงโคมีมูลปุ๋ยในสวนยางพารา จะลดต้นทุนอีกมาก ส่วนไม้กระถินเทพา ก็โตเร็ว ซึ่งขณะนี้โรงโม่บดไม้ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยรับซื้อไม้ทุกขนาด

“วิเคราะห์กันในสวนมีประมาณ 4 ไร่ ปลูกกะถินเทพา 800 ต้น ระยะ 5 ปี จะมีราคาต้นละ 500 บาท จะมีเงินประมาณ 3-400,000 บาท มีหนี้สิน 200,000 บาท สามารถชำระคืนได้ แต่หากยางพาราใช้เวลา 7 ปี และเมื่อกรีดได้แล้ว ก็ยังไม่มีโอกาสคืนชำระจะต้องเปลี่ยนสภาพอยู่แบบเดิมจะไม่ได้แล้ว”นายสมพงศ์ กล่าว

สำหรับการเลี้ยงโค แต่เดิมก็เลี้ยงกระจัดกระจาย มีทั้งโคชน โคเนื้อพื้นบ้าน โดยสามารถเลี้ยงครัวเรือนละ 2 ตัว และตามสภาพพื้นที่ และสามารถเลี้ยงในสวนยางพารา จะทำให้ได้ปุ๋ยจากมูลโค ตรงนี้จะลดต้นการผลิต โดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยด้วย

“โคผู้เลี้ยงสามารถกำหนดราคาเองได้ โดยผู้ซื้อไม่ได้กำหนดราคา และยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีการบริหารจัดการการตลาด ให้เหมาะสมกับตลาด”

เลี้ยงโคชนในสวนยางพารา - ปลูกกระถินเทพา ทางรอดเกษตรกรภาคใต้ เลี้ยงโคในสวนยางพาราทางรอดเกษตกรภาคใต้

นายนิคม สุนทรรัตน์ เจ้าของฟาร์มโค อดีตนายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงโค จะมีรายได้สูงกว่าทำสวนยางพารา โดยพื้นที่หญ้า 1ไร่ ซึ่งเป็นอาหารโค สามารถเลี้ยงโคได้ 3 แม่พันธุ์ และให้ผลผลิตปีละตัว 3 มีราคาตัวละ 20,000 บาท พื้นที่ 1 ไร่ เท่ากับมีรายได้ประมาณ 60,000 บาท / ปี

นายหมี่รัน ขำนุรักษ์ เลขานุการกลุ่มเลี้ยงโคตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯ นอกจากจะมีอาชีพทำสวนยางพาราแล้ว ยังเดินหน้าได้ยกระดับการเลี้ยงโคขุน และโคพื้นบ้าน ให้เป็นระดับมาตรฐานสากล เป็นเครือข่ายโคขุนลังกาสุกะ เป้าหมายตลาด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ. สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส และตลาดต่างประเทศ คือมาเลเซีย ปัจจุบันในกลุ่มโคตะโหมด ประกอบ 2 อำเภอ มีตะโหมด และกงหรา มีสมาชิก 100 ราย เพื่อยกฐานะเป็นเครือข่ายโคขุนลังกาสุกะ ก็จะเปิดรับสมาชิกเพิ่มไม่ปิดตัว และปัจจุบันมีตลาดส่งออกประมาณ 300 ตัว / เดือน และยังมีโควตาโคพื้นบ้านกุรบัน 2,000 ตัว คาดการณ์ในระยะยาว จะสามารถส่งเพิ่มเติมได้มากกว่านี้ แต่จะต้องสำรองให้เต็มรูปแบบก่อน เช่น ส่งออก 1 ตัว จะต้องมีโค จำนวน 120 ตัว ถ้าส่งออก 10 ตัว จะต้องมีโค 1,200 ตัว