posttoday

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

08 ธันวาคม 2562

โดย ระรินธร เพชรเจริญ

โดย ระรินธร เพชรเจริญ

เดินทางจากตัวอำเภอเมืองน่าน มุ่งหน้าขึ้นสายเหนือ ไปตามถนนสาย น่าน – เฉลิมพระเกียรติ ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จะถึงบ้านฝายมูล หมู่ที่ 1 ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทยพวน ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับ 100 ปี ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม คติความเชื่อ และวิถีชีวิตแบบชาวไทยพวน ที่ยังหลงเหลือเป็นร่องรอยแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญา โดยเฉพาะที่เลื่องชื่อ คือ การตีเหล็กตีมีดแบบดั้งเดิมโบราณที่สืบทอดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานนับ 100 ปี

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

หากได้ลัดเลาะลงไปในถนนหมู่บ้านฝายมูล จะได้ยินเสียงกระทบของเหล็กกล้า เสียงหนักแน่นเป็นจังหวะ และยังสามารถพบเห็นชาวบ้านฝายมูล ที่มีวิถีชีวิตประจำวันกับการตีเหล็กตีมีดตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และเพิงตีเหล็กริมถนนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิต ที่จะพาย้อนรอยไปดูเครื่องมือและรูปแบบการตีเหล็กตีมีดแบบดั้งเดิมโบราณของชาวไทยพวน

“เทถ่านดำลงกองไฟ เผาเหล็กให้แดงร้อน ใช้ค้อนเหล็กหนา ทุบตีเหล็กกล้าให้ขึ้นรูป จุ่มแช่น้ำหล่อเย็นเสียงดังฉ่า ก่อนจะยกขึ้นมองเหลี่ยมคม” เป็นภาพบรรยากาศการตีเหล็กที่บ้านฝายมูล ทุกการลงน้ำหนักมือ ทุ่มตีลงไปบนเหล็กหนาร้อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความชำนาญและความประณีต เพื่อคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพของชิ้นงานแต่ละชิ้น

นายเสรี ถาอินทร์ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113 หมู่ 1 บ้านฝายมูล หนึ่งในผู้ที่ยังสืบทอดการตีมีดตีเหล็กแบบโบราณของชาวไทยพวน เล่าว่า ตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ได้เริ่มหัดลงค้อนตีมีดจากพ่อและคนในครอบครัว และก็ฝึกมือมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี โดยเน้นใช้เหล็กแหนบรถเท่านั้น ที่นำมาขึ้นรูปทำชิ้นงาน เพราะมีความคงทน มีดมีความคม แข็งแรง ไม่บิ่นง่าย แต่ปัจจุบันไม่ค่อยได้รับงานขึ้นชิ้นงานใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานลับคมแต่งคมให้กับมีดและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรของคนในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

นายวิจิตร ไชยมิ่ง อายุ 60 ปี ศูนย์การเรียนรู้คนตีเหล็ก หมู่ที่ 1 บ้านฝายมูล เป็นผู้ที่ยึดอาชีพตีมีดแบบดั้งเดิมโบราณของชาวไทยพวนมานานกว่า 40 ปี โดยยังคงตีมีดทั้งมีดและอุปกรณ์ใช้งาน และได้พัฒนาเป็นมีดที่มีความสวยงาม มีการแกะลวดลายและเข้าด้ามที่แข็งแรง ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ โดยมีดใช้งานทั่วไป มีราคา 300-800 บาท

ส่วนมีดสวยงาม มีราคาตั้งแต่ 1,200 -1,500 บาท หรืออาจมีราคาสูงกว่านี้ หากเป็นงานสั่งทำพิเศษ โดยเฉลี่ยมีงานทั้ง ตีขึ้นรูป ปรับแต่ง ลับคม เข้าด้าม งานตามสั่ง เดือนละประมาณ 40-50 เล่ม ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วทุกสารทิศ ทุกภาค มาสั่งซื้อ โดยปัจจุบันยังปรับตัวโดยใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์มาเป็นช่องทางการติดต่อซื้อขายกับลูกค้าด้วย

โดย สล่า(ช่าง)วิจิตร เล่าว่า การตีมีดแบบชาวไทยพวน เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยๆปี เหล็กที่ใช้ต้องเป็นเหล็กแหนบรถ โดยต้องไปหาซื้อตามอู่ซ่อมรถยนต์ จะได้เหล็กแหนบหู ซึ่งจะมีแค่อันละคันเท่านั้น และเหล็กแหนบรอง เหล็กเหล่านี้จะมีเนื้อเหล็กที่มีความแข็งแรงมาก โดยจะเอามาขึ้นรูปตามแบบที่ลูกค้าสั่ง โดยเอามาเผาไฟให้ร้อน และค่อยๆตีขึ้นรูป ต้องใจเย็นและใช้ความประณีต จนกว่าจะได้มีดที่ดีและคม สวยงาม

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

ก่อนจะนำไปแกะสลักและเข้าด้าม เข้าฝักต่อไป ซึ่งมีดของชาวไทยพวนบ้านฝายมูล ถือเป็นมีดที่มีคุณภาพมาก เพราะมีความแข็งแกร่งทนทาน ไม่บิ่นง่าย ด้ามจับแข็งแรง และมีดแต่ละอัน ถือเป็นงานแฮนด์เมด เพราะต้องทำทีละอันแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาและความอดทน ความชำนาญมาก โดยภูมิปัญญาการตีมีดชาวไทยพวนขณะนี้ได้มีการถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว จึงเชื่อว่าการตีมีดไทยพวนจะมีการสืบทอดรักษาไว้ไม่สูญหายไป

นายสมศักดิ์ จิณปัน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านฝายมูล เล่าว่า หมู่บ้านฝายมูล เป็นหมู่บ้านชนเผ่าไทยพวน มีทั้งหมด 386 หลังคาเรือน ประชากร 1,134 คน มีผู้ที่ยังยึดอาชีพตีเหล็กตีมีดประมาณ 30 หลังคาเรือน โดยมีการบริหารจัดการแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก 94 คน ซึ่งปัจจุบันจะเป็นการตีมีดตามบ้าน แต่หากมีการออกงานเพื่อการประชาสัมพันธ์จะรวมกลุ่มกัน โดยขณะนี้หมู่บ้านฝายมูล ถือเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มคณะ องค์กรต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานการบริหารจัดการและองค์ความรู้เรื่องการตีมีดตีเหล็กของชาวไทยพวน

อย่างไรก็ตาม การตีมีดแบบดั้งเดิมของชาวไทยพวน ต้องใช้ขั้นตอนและระยะเวลามาก ทำให้มีปริมาณการผลิตออกสู่ตลาดน้อย จึงต้องการให้มีการพัฒนาส่งเสริมให้การตีมีดของบ้านฝายมูลเป็นเชิงอุตสาหกรรม นำเครื่องทุ่นแรงในการขึ้นแบบมาตรฐานเข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้อาชีพการตีมีดของชุมชนบ้านฝายมูลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

นางวีรินท์ วัณทมาตย์ พัฒนาการอำเภอท่าวังผา เปิดเผยว่า หมู่บ้านฝายมูลเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งและความพร้อมรองรับเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งด้านสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยทางชุมชนได้มีการบริหารจัดการในลักษณะกลุ่ม มีสมาชิกกว่า 94 คน ขณะนี้ได้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว หรือหมู่บ้านนวัตวิถี โดยทางพัฒนาชุมชนอำเภอท่าวังผา ได้มีการอบรมให้กับชุมชนและสมาชิกกลุ่ม ทั้งการเป็นนักเล่าเรื่อง การบริหารจัดการโฮมสเตย์

ปัจจุบันมีจำนวน 12 หลัง มีการวางโปรแกรมการท่องเที่ยวของบ้านฝายมูล และปีนี้ 2562 หมู่บ้านฝายมูลยังได้รับรางวัล หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข ระดับจังหวัดน่านด้วย โดยขณะนี้ได้มีการเตรียมยกระดับผลิตภัณฑ์ของชาวไทยพวนบ้านฝายมูล ทั้ง การตีมีด ผ้าขาวม้า น้ำพริกมะแขว่น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านฝายมูล โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มีด ที่กำลังออกแบบบรรจุภัณฑ์และรูปแบบสินค้า ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

ว่าที่ ร.ต.ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการ สำนักงาน ททท.สำนักงานน่าน กล่าวว่า ในแง่มุมของหมู่บ้านฝายมูล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีของดี มีศักยภาพ มีทรัพยากรเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และเคยได้รับการส่งเสริมมาแล้ว ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งทาง ททท. สำนักงานน่าน มองว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเชื่อมโยงหมู่บ้านฝายมูลให้เข้าสู่ตลาดการท่องเที่ยวชุมชนและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยน่าจะเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางท่องเที่ยวกับบ้านหนองบัว วัดหนองบัว เนื่องจากพื้นที่ติดกัน

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

สามารถแวะเที่ยวชมกิจกรรมตีมีดได้ สร้างกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยว หรือทำให้การตีมีดถูกจดจำในรูปแบบของที่ระลึกได้ มีดของบ้านฝายมูล อาจกลายเป็นมีดเล็กๆที่ซื้อและพกพาได้ง่ายสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ดูเป็นอาวุธ ซึ่งจะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อร่วมกันหาความต้องการของชุมชนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวชุมชนเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น

สำหรับ ราษฎรบ้านฝายมูลสืบเชื้อสายมาจากชาวไทยพวน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองพวน แขวงนครเชียงขวาง หรือที่เรียกกันว่าทุ่งไหหินสปป.ลาว สันนิษฐานว่าจะอพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2377 จากเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ที่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไปปราบญวนที่ครอบครองเมืองพวนอยู่ เมื่อรบได้ชัยชนะแล้ว จึงได้อพยพชาวไทยพวนเข้ามาในประเทศไทยไว้ตามหัวเมืองต่างๆ ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ชาวพวนอพยพมาพร้อมกัน โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองน่าน ที่บ้านฝายมูล หมู่ที่ 1ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา ชาวพวนที่บ้านหลับหมื่นพวน อ.เวียงสา จ.น่าน และชาวพวนทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ เป็นต้น นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 185 ปีมาแล้ว

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี

หมู่บ้านตีมีดโบราณ สืบสานภูมิปัญญาไทยพวน 185 ปี