posttoday

ปัญหายอดฮิตคน กทม. เสียงดัง-ขี่รถทางเท้า

06 มกราคม 2561

หลากหลายเรื่องราวความเดือดร้อนของคนกรุงเทพมหานคร ถูกร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ประชาชน สายด่วน 1555

โดย...นิติพันธ์ สุขอรุณ

หลากหลายเรื่องราวความเดือดร้อนของคนกรุงเทพมหานคร ถูกร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ประชาชน สายด่วน 1555 ที่เปิดบริการประชาชนมาตั้งแต่ปี 2552 รวมแล้วกว่า 9 ปีเต็ม จนถึงขณะนี้ยอดจำนวนเรื่องร้องเรียนยังคงเพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี

โดยปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความเดือดร้อนที่มักถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด อาทิ ร้านค้าหาบเร่แผงลอย จักรยานยนต์ขับขี่-จอดกีดขวางทางเท้า ไปจนถึงปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อแตก สุนัข แมวจรจัดไร้การควบคุม สารพันปัญหาเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน

เพ็ชร ภุมมา หัวหน้าศูนย์รับแจ้งทุกข์ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การทำงานของศูนย์ร้องทุกข์ กทม.สายด่วน 1555 ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งหมด 65 คน คอยหมุนเวียนรับเรื่องจากประชาชนตลอด 24 ชม. พร้อมรับสายโทรศัพท์จำนวน 120 คู่สาย โดยสถิติเรื่องร้องเรียนในปี 2560 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. มีประชาชนร้องทุกข์เข้ามาจำนวน 6.6 หมื่นเรื่อง ซึ่ง กทม. ดำเนินการแก้ไขแล้ว 6.3 หมื่นเรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.30 และอยู่ระหว่างแก้ไขอีก 2,458 เรื่อง

สำหรับเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด แบ่งเป็น 5 เรื่องสำคัญ 1.ปัญหาเสียงดังรบกวน กลิ่นไม่พึงประสงค์จำนวน 1.3 หมื่นเรื่อง 2.กระทำผิดในที่สาธารณะ เช่น ตั้งวางสิ่งของกีดขวาง จอดรถกีดขวางทางสัญจร ขอให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ จำนวน 1.1 หมื่นเรื่อง

3.ปัญหาการจราจร อาทิ ขอให้ติดตั้ง ซ่อมแซม เคลื่อนย้ายป้าย เครื่องหมายจราจร วัสดุตกหล่นบนผิวจราจร จำนวน 5,444 เรื่อง 4.ปัญหาท่อระบายน้ำ เช่น ขุดลอกท่อระบายน้ำ ฝาท่อชำรุด ปรับระดับขอบบ่อพักระบายน้ำกับผิวถนน จำนวน 5,092 เรื่อง และ 5.ปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูล อาทิ พนักงานไม่เก็บมูลฝอย ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ขยะตกค้าง จำนวน 4,973 เรื่อง

เมื่อเปิดสถิติย้อนดูข้อมูลการร้องทุกข์ปี 2559 พบว่า ประชาชนร้องทุกข์จำนวน 5.9 หมื่นเรื่อง ปัจจุบันแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยเรื่องที่มีการร้องทุกข์มากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.เหตุเดือดร้อนรำคาญ รับแจ้ง 1.2 หมื่นเรื่อง 2.กระทำผิดในที่สาธารณะ จำนวน 9,694 เรื่อง 3.ปัญหาการจราจร 4,512 เรื่อง 4.ปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูล 4,373 เรื่อง และ 5.ปัญหาท่อระบายน้ำ 4,350 เรื่อง

“แต่ละวันมีประชาชนโทรเข้ามาประมาณ 200-300 เรื่อง ถือเป็นจำนวนที่น้อยลง เพราะก่อนหน้านี้มีการรับเรื่องประมาณวันละ 400-500 เรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีช่องทางการร้องทุกข์เพิ่มมากขึ้น อาทิ ไลน์แอดรางวัลนำจับ อัศวินคลายทุกข์ เพจเฟซบุ๊กผู้ว่าฯ กทม. และศูนย์ดำรงธรรม” หัวหน้าศูนย์รับแจ้งทุกข์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่เมื่อมีเหตุแจ้งเข้ามา ข้อมูลจะถูกนำเข้าสู่ระบบทันที เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับเรื่องว่าสามารถแก้ไขได้ทันทีหรือไม่

ทั้งนี้ กทม.ใช้วิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วยการเปิดให้ประชาชนแอดไลน์ “รางวัลนำจับ” เพื่อดึงให้คนส่งภาพถ่ายผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งระบุ สถานที่ เวลา ชื่อผู้แจ้งเหตุให้ชัดเจน ส่งมายังเจ้าหน้าที่เทศกิจเพื่อเร่งลงพื้นที่จับปรับทันควัน โดยมีเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับกึ่งหนึ่งเป็นแรงจูงใจ ได้เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2560 มีประชาชนติดตามแล้วจำนวน 9.7 หมื่นคน

ธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า ข้อหายอดนิยมที่ได้รับแจ้งเข้ามามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90 คือ รถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า รองลงมาเป็นเรื่องตั้งร้านแผงลอยกีดขวางทางเท้า จากจำนวนเรื่องรับแจ้งรวมทั้งสิ้น 6,108 เรื่อง

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างสืบหาตัวผู้กระทำความผิด 3,946 เรื่อง เปรียบเทียบปรับแล้ว 406 คดี ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นรางวัลแล้ว 275 คดี คิดเป็นเงินจำนวน 9.8 หมื่นบาท ยังไม่มารับส่วนแบ่ง 101 คดี คิดเป็นเงินจำนวน 2.7 หมื่นบาท ไม่ประสงค์รับส่วนแบ่ง 30 คดี คิดเป็นเงินจำนวน 1 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ธีรพันธ์ กล่าวยืนยันว่า จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับเงินส่วนแบ่งค่าปรับร้อยละ 50 เป็นรางวัล ไม่ใช่เพื่อให้ใครอยากเป็นนักล่าค่าหัว แต่ต้องการให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้ากระทำความผิด