posttoday

ด้วยแผ่นดินของพระราชา ทำให้ชาวหุบกะพงอยู่ดีมีสุข

08 ตุลาคม 2560

พระองค์เสด็จฯ ไปทุกที่ทุกแห่งที่ทรงทราบว่าประชาชนของพระองค์ท่านได้รับความเดือดร้อนลำบากยากเข็ญ

โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม

โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับยังวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2507 โดยในระหว่างที่ประทับที่วังไกลกังวลนั้น ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

พระองค์ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มีความยากจน และรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผัก ต้องอาศัยเช่าที่เขาทำกิน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากถึง 83 ครอบครัว โดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มปลูกพืชผัก แต่ก็ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ และด้วยพระเมตตาที่พระองค์ทรงห่วงใยในความยากจนและทุกข์ร้อนของประชาชน จึงได้ทรงให้ความช่วยเหลือจัดหาที่ดินทำกินและอยู่อาศัยครอบครัวละ 25 ไร่ จึงได้เป็นที่มาของโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง

ขวัญเรือน คล่องแคล่ว ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 8 บ้านหุบกะพง ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทายาทผู้สืบทอดรับที่ดินพระราชทานต่อจาก ตี๋ คล่องแคล่ว ผู้ซึ่งเป็นพ่อ บอกว่า ชาวหุบกะพงอยู่ดีมีสุขได้ก็เพราะโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจนหาที่เปรียบมิได้ จากการที่พระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดินให้ได้อยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งขณะนั้นตนเองมีอายุได้เพียง 10 ขวบเท่านั้น

ถ้าถามถึงความรู้สึกแล้ว อย่าพูดถึงแต่เราคนเดียวเลย แต่ต้องบอกว่าเป็นภาพรวมทั่วๆ ไปทั้งหมดของชาวบ้านหุบกะพง ที่ต้องบอกว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่พระราชทานที่ดินให้พวกเราได้อยู่อาศัย ได้ทำกิน จนอยู่ดีมีสุข ปากอิ่มท้องอิ่ม ได้อยู่ดีมีสุขชั่วลูกชั่วหลานมาจนทุกวันนี้ ทั้งที่มาจากชาวบ้านที่ยากจนร่อนเร่ อดมื้อกินมื้อ ก็ทำให้มีฐานะที่อยู่เย็นเป็นสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี มีกินมีใช้ได้อย่างพอเพียง ตามแนวที่พระองค์พระราชทานให้เรา นับเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเรามาตลอด เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

สมัยก่อนนี้เท่าที่จำความได้ พวกเราได้มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านหุบกะพงแห่งนี้ พวกเราเป็นชาวสวนผัก เราทำกินจากการที่พวกเราหนีร้อนมาพึ่งเย็น โดยที่ดินเดิมตรงที่เราไปอาศัยอยู่นั้นเป็นที่ที่ทางกรมประชาสงเคราะห์ทำการจัดรูปที่ดิน แต่ว่าครอบครัวของเรานั้นมาไม่ทัน ตี๋ คล่องแคล่ว ซึ่งเป็นพ่อของตนเองนั้นต้องมาทำการเช่าที่ดินเพื่อทำกิน รวมกันแล้วมีจำนวน 83 ครอบครัว ที่ต้องเช่าที่ดินทำกิน และครั้งหนึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเข้ามาเยี่ยมพ่อของตนเอง จึงบอกกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปว่า “ถ้าท่านผู้ว่าฯ ได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวเมื่อใด ก็ขอให้ท่านผู้ว่าฯ ช่วยกราบทูลพระองค์ท่านด้วยว่ายังมีชาวบ้านยากจนมากไม่มีที่ดินทำกิน อยากให้พระองค์เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมบ้าง”

 

ด้วยแผ่นดินของพระราชา ทำให้ชาวหุบกะพงอยู่ดีมีสุข

 

จนเวลาต่อมาไม่นานนัก พระองค์ท่านก็เสด็จฯ มาในแบบที่ไม่มีใครรู้มาก่อน แล้วพระองค์ท่านก็ทรงถามถึงที่มาที่ไป แล้วยังทรงถามว่า การทำกินของพวกเรานั้นทำกันอย่างไร พ่อก็บอกว่าเราทำร่วมกัน เวลาซื้อเมล็ดพันธุ์พืชผักก็จะซื้อมาเป็นปี๊บเป็นกิโล เมื่อซื้อมาแล้วก็มาแบ่งๆ กัน เวลาขายก็ทำกันเป็นกลุ่ม กลุ่มก็มีหน้าที่หาตลาดให้กับสมาชิก ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงบอกว่า การทำแบบนี้นั้นนับว่าเป็นหลักการของสหกรณ์เบื้องต้น จึงอยากที่จะให้ทำต่อไปโดยสามัคคีปรองดองกันเอาไว้ แล้วจะจัดหาที่ดินให้พวกเราได้อยู่กันใหม่

หมู่บ้านหุบกะพง จึงได้เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา ด้วยโครงการตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พวกเราได้รับพระราชทานที่ดินอยู่อาศัยและทำกินคนละ 25 ไร่ และการเกษตรที่ทำอยู่นั้นก็ยังถูกยึดเป็นแบบอย่างมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันนี้ก็ยังทำกันเป็นกลุ่มและขึ้นสังกัดอยู่กับสหกรณ์ โดยกลุ่มแต่ละกลุ่มจะมีหน้าที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยหากทำแล้วพบว่าใครมีปัญหาอะไรเราก็จะเข้าไปช่วยกันแก้ไขปัญหานั้นๆ แต่ถ้าปัญหามีมากเกินกว่าที่เราจะแก้ได้เราก็จะให้ทางสหกรณ์เข้ามาทำการช่วยเหลือ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะแก้ไขกันเองได้

ขวัญเรือน ในวัย 60 ปี บอกต่อว่า สำหรับบ้านของตนเองนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เคยเสด็จฯ มาถึงบ้านมากกว่า 20 ครั้ง ครั้งแรกตนเองเพิ่งจะมีอายุได้เพียงแค่ 10 ขวบ และแต่ละครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาจะไม่เป็นทางการ เพราะที่ดินที่พระองค์ทรงมอบให้ได้อยู่อาศัยและทำกินครอบครัวละ 25 ไร่ รวม 83 ครอบครัวนั้น จะมีพื้นที่ทั้งหมด 12,079 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา แบ่งเป็น หน้าโฉนดจำนวน 3 แปลง โดยที่ดินทั้งหมดจะเป็นชื่อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แต่พระองค์ท่านทรงแบ่งให้ชาวบ้านอย่างพวกเราได้อยู่อาศัยได้ทำกิน ดังนั้นพระองค์ท่านมีพระราชประสงค์จะมาเมื่อไรพระองค์ท่านก็เสด็จฯ มาได้ในทันที เพราะเป็นที่ดินของพระองค์ท่าน และโดยส่วนมากแล้วเวลาเสด็จฯ พระองค์ท่านจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งมาด้วยพระองค์เอง โดยจะเสด็จฯ มาพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อพระองค์ท่านทรงจอดรถตรงไหน พระองค์ท่านก็จะทรงพระดำเนินไปดูว่า ลูกๆ เกษตรกรของพระองค์ท่านนั้นทำกินกันอย่างไร มีความเป็นอยู่กันอย่างไร เมื่อเสด็จฯ เข้าบ้านใคร พระองค์ท่านก็จะทอดพระเนตรหมด ทุกๆ

อย่างภายในบ้านที่ลูกๆ ชาวเกษตรกรของพระองค์ท่านได้อยู่อาศัย ภายในบ้านนี้ทอดพระเนตรหมด ทั้งที่หลับที่นอน ห้องน้ำ ห้องครัว พระองค์ท่านทอดพระเนตรแม้กระทั่งหม้อข้าวหม้อแกงว่ามีการกินอยู่กันอย่างไร พระองค์ท่านทรงใส่พระทัยในทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับว่าพระองค์ท่านทรงต้องการทอดพระเนตรของจริงว่าพวกเรานั้นมีความเป็นอยู่ที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีฐานะเป็นอย่างไร เพื่อที่พระองค์ท่านจะได้ทรงนำเอาไปปรับปรุงแก้ไข ประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการทำกินในรูปแบบที่พวกเราชาวบ้านหุบกะพงทำอยู่ เอากลับไปแก้ไขปรับปรุงแล้วนำกลับมาพัฒนาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราชาวหุบกะพงได้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งๆ ขึ้น และเนื่องด้วยสภาพของบ้านหุบกะพงนั้นมีสภาพพื้นที่เป็นดินปนทรายที่ค่อนข้างแห้งแล้ง จึงต้องมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางต่างๆ จำนวนมากจนทำให้พวกเรามีความกินดีอยู่ดีจวบจนทุกวันนี้

แม้เมื่อคราวที่พระองค์ท่านมีพระพลานามัยไม่ดี ก็ยังมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเสมอ และยังมีองคมนตรีเข้ามาคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาด ดูว่าพวกเราเป็นอยู่อย่างไร แล้วนำไปถวายเป็นรายงานให้พระองค์ท่านได้ทรงทราบเป็นปัจจุบันโดยตลอด

ขวัญเรือน บอกว่า พระองค์ท่านเป็นที่สุดของเรา จะให้ยกอะไรมาเปรียบเทียบกับพระองค์ท่านแล้วนั้นไม่มีอีกแล้ว ขวัญเรือนกล่าวด้วยเสียงอันสั่นเครือน้ำตาซึมอย่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ขวัญเรือน บอกต่อไปว่า พระองค์ท่านทรงอยู่เหนือสิ่งอื่นใดที่เราเคารพบูชาทั้งหมด ดังนั้นที่ดินที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ได้อยู่อาศัย ได้ทำกิน จึงเป็นสิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายที่พวกเรารักและหวงแหน เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงฝากให้ไว้กับเรา และนับเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในใจเรา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่เปี่ยมล้นอยู่ในใจในหัวสมองของพวกเราอยู่ตลอดเวลาตราบนานเท่านาน แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่พระองค์ท่านก็ยังอยู่ในใจของเราตลอดเวลาอย่างไม่เคยจางหายไปไหนเลย เราจะยึดแนวทางในคำสอนของพระองค์ท่านตลอดไป ด้วยแนวเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสาน

ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่พระองค์ท่านพระราชทานให้เรา ถ้าเรานำมาคิดเราก็จะรู้ตลอดว่าพระองค์ท่านพระราชทานอะไรให้พวกเรา สิ่งที่พวกเราได้จากพระองค์ท่าน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือชีวิต พระองค์ท่านทรงให้ชีวิตกับพวกเรา จากชีวิตที่ย่ำแย่ไม่มีจะกิน เราก็มาอยู่ดีกินดี พระองค์ท่านทรงนำเอาหน่อไม้ฝรั่งมาให้เราปลูก ด้วยพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง พระองค์ทรงบอกว่า “ที่ดินแห่งนี้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งแล้วรสชาติจะอร่อย” ผ่านมาหลายสิบปี จนทุกวันนี้เราก็ยังปลูกหน่อไม้ฝรั่งตามแนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ ดังนั้นรสชาติของหน่อไม้ฝรั่งของหุบกะพงจึงกลายเป็นเอกลักษ์ของชาวหุบกะพงเลย คือ หวานกรอบอร่อย อีกทั้งยังคงปลูกแบบปลอดสารพิษ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามแนวทางของพระองค์ตลอดไป

ด้วยแผ่นดินของพระราชา ทำให้ชาวหุบกะพงอยู่ดีมีสุข

ยุพา บุญแต่ง ในวัย 61 ปี ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงโคขุนและผลิตอาหารสำหรับโคขุนจำหน่าย ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 10 บ้านหุบกะพง บอกว่า ที่ตนเองได้มาอยู่พื้นที่ตรงนี้ได้ก็ด้วยพระบุญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีพระเมตตาต่อครอบครัวของตนเอง ที่พ่อแม่มีลูกมากถึง 13 คน เดิมเป็นครอบครัวที่ยากจนมากๆ อพยพมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา มาอาศัยที่เขาอยู่ ทำกระต๊อบหลังคามุงใบตาลอยู่อาศัย อยู่มาวันหนึ่งฝนก็ตก ฟื้น กันฉลาด ผู้เป็นพ่อของตนเองก็พยายามกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าที่พัก มองไปก็ให้สงสัยว่าทำไมถึงมีรถเป็นจำนวนมากวิ่งผ่านเข้ามายังโรงเรียนชาวไร่อย่างมากมาย ด้วยความสงสัยพ่อจึงวิ่งไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น พอทหารเห็น ทหารก็กันไม่ยอมให้เข้าไป จังหวะเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านทรงหันมาเห็นเข้า จึงบอกให้ทหารปล่อยให้เข้าไป พ่อจึงได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน ทั้งที่ไปโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นการเสด็จฯ มาของในหลวง รัชกาลที่ 9

 

เมื่อได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์จึงตรัสถามว่า “มีอะไรให้ช่วยหรือลุง” พ่อจึงบอกว่า “จน ไม่มีที่ทำกิน ต้องมาอาศัยเขาอยู่” ในเวลาต่อมา พระองค์ท่านก็พระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัยและทำกินจำนวน 25 ไร่ ก็มาปลูกกระต๊อบหลังคามุงหญ้าคา อยู่อาศัยทำกินหุงหาอาหารด้วยฟืน และอยู่มาวันหนึ่งพระองค์ท่านก็เสด็จเข้ามาภายในบ้านโดยไม่มีใครรู้ตัว เพราะไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าในหลวงจะเสด็จฯ มา ซึ่งตอนนั้นตนเองอายุ 10 กว่าขวบ เมื่อพระองค์ท่านเสด็จเข้ามาในบ้านก็ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ เปิดทั้งหม้อข้าวหม้อแกงที่มีคราบดำๆ จับไปทั่ว เนื่องจากหุงหากันด้วยฟืน แล้วพระองค์ท่านก็ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นไปบนหลังคา และก็ตรัสถามพ่อว่า “นายฟื้นนี่เอาไว้นอนดูดาวหรือ” เนื่องจากหลังคารั่วเป็นรูพรุนไปทั่ว ดังจะเห็นได้ว่าการที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาแบบไม่บอกกล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อที่จะได้รู้ว่าสมาชิกในหมู่บ้านทั้ง 83 ครอบครัว ที่พระองค์พระราชทานที่ดินให้นั้นมีความเป็นอยู่อย่างไร

จากนั้นพื้นที่แห่งนี้ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จากสภาพพื้นที่ที่มีแต่ความแห้งแล้ง เพราะมีพื้นที่เป็นดินปนทราย แต่พระองค์ก็ทรงมาทำการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทรงสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างอะไรต่างๆ จนมีอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นคนหุบกะพงจึงเริ่มมาจากศูนย์ด้วยกันทั้งหมด แต่มีวันนี้ได้ก็ด้วยผืนแผ่นดินของพระราชาที่พระราชทานให้ และไม่ใช่ให้แล้วปล่อย แต่ยังคงเข้ามาเยี่ยม เข้ามาดูแล เข้ามาพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด พระองค์ท่านทรงให้และดูแลคนหุบกะพงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึงวันที่พระองค์เสด็จสวรรคต ถ้าเปรียบแล้วจากคนหุบกะพงที่เคยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลกลางแม่น้ำ ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ก็ได้พระเมตตาของพระองค์ท่านทำการช่วยเหลือ ส่งให้ชาวหุบกะพงเข้าถึงฝั่งแล้ว นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างสูง ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประเทศไหนที่จะเข้าถึงประชาชนได้มากถึงขนาดนี้ เข้าถึงด้วยการเดินเข้าไปถึงในห้องครัวตามบ้านเรือนประชาชนของพระองค์ท่านโดยที่ไม่ให้ได้ทันรู้ตัวมาก่อนเลย เพื่อที่พระองค์ท่านจะได้ทรงรู้อย่างแท้จริงว่าประชาชนของพระองค์ท่านมีการกินอยู่เป็นอย่างไร

ในความรู้สึกของยุพาแล้วนั้น คำว่า “รัก” นั้นยังน้อยเกินไป คำว่า “พ่อ” ก็ยังน้อยเกินไป สำหรับชาวหุบกะพง ดินสักกำ ทรายสักเม็ด น้ำสักหยด นั้นล้วนแล้วแต่เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานพวกเรามา จากที่ครอบครัวของตนเองไม่มีอะไรเลย จนมาวันนี้มีโคขุนมากกว่า 100 ตัว มีโรงผลิตอาหารสำหรับโคขุนไว้ใช้เอง ที่เหลือก็ส่งออกไปขายทั่วไป ขายไปได้จนถึงภาคอีสาน ขี้วัวที่ได้ก็ขายออกไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกผักพืชผลไว้กินเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน และที่มีวันนี้ได้ก็เพราะพระองค์ท่านได้ทรงสั่งสอนมาและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่าน จากรุ่นพ่อนำเอามาถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ยุพาจึงขอปฏิญาณว่า ที่ดินตรงนี้อย่างไรก็จะไม่ขาย จะต้องอยู่ทำกินกันไปชั่วลูกหลาน เพราะแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินของพระราชา แม้ใครมีเงินเป็นสิบๆ ล้านอยากจะอยู่ก็ไม่สามารถมาซื้อได้ เพราะไม่สามารถที่จะซื้อขายกันได้

ไม่มีผืนแผ่นดินใดในประเทศนี้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปไม่ถึง เพราะที่ไหนไม่มีน้ำ พระองค์ท่านก็เสด็จฯ ไปทำให้มีน้ำ  ที่ไหนแห้งแล้งพระองค์ท่านก็เสด็จฯ ไปทำให้หายแห้งแล้ง

พระองค์เสด็จฯ ไปทุกที่ทุกแห่งที่ทรงทราบว่าประชาชนของพระองค์ท่านได้รับความเดือดร้อนลำบากยากเข็ญ จึงนับได้ว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือสำหรับคนไทยจนหาที่เปรียบมิได้