posttoday

‘ขอนแก่นคอนเนค’ เชื่อมโยงโลจิสติกส์ภูมิภาค

16 กันยายน 2560

วันนี้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของขอนแก่นจัดอยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศ ประมาณปีละ 187,271 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 2 ของภาคอีสาน รองจาก จ.นครราชสีมา

โดย...จักรพันธ์ นาทันริ

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ จ.นครราชสีมา ช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันชัดเจนในการที่จะสนับสนุนให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่สำคัญในด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและการนำเข้าและส่งออก ทำให้ขอนแก่นถือเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญที่จะเป็นการเชื่อมต่อแบบใยแมงมุมได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนที่สุด ทั้งทางบก ทางอากาศและที่สำคัญคือทางเรือ ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย นั้นให้ความสนใจในการร่วมพัฒนาท่าเรือบก (Inland Container Depot หรือ ICD) ที่ จ.ขอนแก่น

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ จ.ขอนแก่น ก็ได้เดินหน้าพัฒนาเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) และเป็นต้นแบบจังหวัดแรกของประเทศไทย ที่ภาคเอกชนเข้ามาริเริ่มโครงการรถไฟฟ้ารางเบาขนส่งมวลชน ระยะทาง 26 กิโลเมตร ซึ่งมีการระดมทุนครั้งใหญ่กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นวันนี้ได้ถูกขนานนามและถูกยกให้เป็นมหานครขอนแก่น ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันทุกหน่วยงานในพื้นที่ ขอนแก่นโชคดีที่มีหน่วยงานภาครัฐที่แข็งแกร่งและมีภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ทุกเรื่องและทุกสิ่งที่จะทำนั้นมีการพูดคุยกันและเดินหน้าทำงานไปด้วยกัน และในปลายปี 2560 ก็จะเข้าสู่การตอกเสาเข็มโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางแรกในระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของคนขอนแก่น

ขณะเดียวกันการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ชุมทางจิระ จ.นครราชสีมา-ขอนแก่น มีความคืบหน้าในแผนการดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เส้นทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมต่อชุมทางบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไป จ.นครพนม ที่ประชุม ครม.ก็ได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว ดังนั้นการขนส่งระบบราง วันนี้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อระหว่างหัวเมืองและพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนตรงไปจนถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมของไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่ท่าเรือได้แล้วเช่นกัน

‘ขอนแก่นคอนเนค’ เชื่อมโยงโลจิสติกส์ภูมิภาค

 

“การขนส่งระบบรางวันนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยล่าสุดการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้พิจารณาพื้นที่ขอนแก่น เป็นท่าเรือบกในการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ขนส่งสินค้าทางราง หรือ ICD ที่เชื่อมต่อการขนส่งระบบรางในการนำผลผลิตทางการเกษตร สินค้าต่างๆ รวมไปถึงด้านการขนส่งทางบกต่างมาไว้ในระบบราง ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงจากพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมตามแนวเขตชายแดน หรือพื้นที่จังหวัดโดยรอบขอนแก่น ที่สามารถมาใช้บริการการขนส่งทางรางได้โดยสะดวกมากขึ้น มีการพิจารณาพื้นที่สถานีรถไฟโนนพะยอมเป็นที่ตั้งโครงการ และเป็นการดำเนินงานแบบร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือ PPP ที่จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2561”

เข็มชาติ กล่าวว่า ขณะเดียวกันในการขนส่งทางอากาศ ปีที่ผ่านมาขอนแก่นมีสัดส่วนผู้เดินทางเข้ามาเพื่อประชุมสัมมนา ท่องเที่ยว หรือประกอบธุรกิจมากถึง 5 ล้านคน ทำให้กรมท่าอากาศยานไทย อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสนามบินเพิ่มเติมในเฟสที่ 2 ด้วยงบประมาณรวมเกือบ 2,500 ล้านบาท โดยขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนของการศึกษา การออกแบบ และการบริหารจัดการพื้นที่ด้านข้างอาคารสนามบินขอนแก่นแห่งเดิม เพื่อที่จะให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึงวันละไม่น้อยกว่า 2,500 คน และรองรับเที่ยวบินพาณิชย์ เที่ยวบินขนส่งสินค้า รวมไปถึงเที่ยวบินส่วนตัว ที่ปัจจุบันมีเปิดให้บริการอยู่ที่วันละ 20 เที่ยวบิน และมีแนวโน้มที่จะมีการเปิดเที่ยวบินและขยายเส้นทางไปในประเทศและต่างประเทศ จากสายการบินต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันยังคงมีการพูดคุยกันในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สนามบินขอนแก่นในทางพาณิชย์ หรือรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“วันนี้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของขอนแก่นจัดอยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศ ประมาณปีละ 187,271 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 2 ของภาคอีสาน รองจาก จ.นครราชสีมา ขณะที่แนวทางการพัฒนาจังหวัดที่ยังคงเน้นไปในรูปแบบร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา และเดินหน้าพัฒนาตามกรอบแนวทางของเมืองศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจสมัยใหม่ หรือขอนแก่น คอนเนค ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ที่จะแสดงให้เห็นฝีมือของคนขอนแก่นในการที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง”

เข็มชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นแล้วในหลายรูปแบบ ทั้งในเรื่องของขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ การดำเนินการขอนแก่น สมาร์ทซิตี้ เส้นทางแรกของประเทศไทย ที่ปรับโฉมรูปแบบรถโดยสารของไทย เป็นรถโดยสารสมัยใหม่ให้บริการที่ครอบคลุมทุกเส้นทาง ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย บริการตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง การกำหนดรูปแบบเมืองที่สามารถให้บริการแก่ผู้มาเยือนอย่างครบถ้วน ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย และที่สำคัญคือการที่หน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและช่วยผลักดันโครงการพัฒนาเมืองต่างๆ เพื่อให้ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ถูกกล่าวถึงและเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยว จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

จากความสำเร็จที่ผ่านมา และเริ่มปรากฏผลจนเป็นรูปธรรม เมื่อถามถึงโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่ KKTT จะดำเนินการต่อไป เข็มชาติ บอกว่า กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุย หารือ คาดว่าอีกไม่นานคงจะได้ข้อสรุปสำหรับโครงการใหม่ๆ ที่จะดำเนินการต่อไป และเมื่อมีความชัดเจน ก็พร้อมที่จะเปิดเผย

เมืองขอนแก่น ณ เวลานี้ จึงเป็นพื้นที่ซึ่งน่าจับตา เพราะมากไปด้วยโอกาสสำหรับการลงทุน