posttoday

ผังเมืองไร้การควบคุม สาเหตุน้ำท่วมซ้ำซาก ใน กทม.

29 พฤษภาคม 2560

เมืองถูกสร้างให้ใหญ่ขึ้นโดยมีแต่ผังก่อสร้าง แต่ไม่มีแผนผังทางเดินน้ำที่สอดรับไปกับการเจริญเติบโตและสิ่งก่อสร้าง

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เหตุผลที่น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ตามที่ได้ยินกันมาทุกครั้งที่มีฝนตก และเกิดน้ำท่วมในหลายจุด คือ เป็นผลจากภัยธรรมชาติ ที่ว่ากันด้วยเรื่องปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่หลากลงมา มีจำนวนมากกว่าความจุของแม่น้ำ

แต่ กทม. ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหลและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็สร้างสาเหตุของน้ำท่วมอื่นๆ ให้พอกพูนขึ้นตามมาเช่นกัน

สภาพภูมิประเทศโดยภาพรวมของ กทม.เป็นพื้นที่ลาดเทจากด้านตะวันออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หากมีฝนตกในปริมาณมาก ฝนที่สะสมตัวก็จะเริ่มไหลเทผ่านพื้นที่ กทม.ตามแรงโน้มถ่วงของโลก ไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา

หากเครื่องมือที่มี ระบบคลองและแผนการระบายน้ำ ซึ่งเปลี่ยนจากระบบระบายน้ำในเมืองจากคลองธรรมชาติมาสู่ระบบท่อ ไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำและยังมีปัญหาการอุดตัน หรือกรณีที่มีการสร้างถนนในลักษณะที่กีดขวางทิศทางการไหลของน้ำ มีขนาดของช่องระบายน้ำไม่เพียงพอ กทม.ก็ยากจะรอดพ้นจากเหตุน้ำท่วมในทุกครั้งที่มีฝนตกหนักได้

ทว่า จากข่าวที่ปรากฏ นอกจากพบว่าเริ่มมีพื้นที่น้ำท่วมระบายไม่ทันจากเดิมที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงกว่าที่เคยประสบแล้ว ยังพบด้วยว่าน้ำท่วมยังสามารถเกิดขึ้นในที่ใหม่ๆ หลายจุด จึงน่าสงสัยว่านอกจากสาเหตุที่กล่าวมา ยังมีเรื่องอื่นที่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญหานี้ซ่อนอยู่อีกหรือไม่

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัญหาใหม่ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่เพียงแต่เฉพาะ กทม.เท่านั้น ก็คือการก่อสร้างที่ไม่มีการควบคุมกำกับดูแล โดยเฉพาะการตัดถนนในบางจุด โดยพบว่าการสร้างถนนหลังปี 2554 นั้นไม่มีการสร้างสะพานให้น้ำไหลผ่านจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งเลย

“สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมทำให้น้ำถูกบล็อกอยู่บนถนน ซึ่งก็จะเห็นภาพน้ำท่วมถนนหลายแห่งตามมา และนอกจากนี้ เมื่อเมืองเจริญเติบโตขึ้น พื้นที่ลุ่มที่เคยเป็นจุดรับน้ำ เป็นแก้มตามธรรมชาติก็ถูกถมสูงสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร สร้างเป็นคอนโดมิเนียม ไม่กี่วันมานี้เราจึงได้เห็นว่ามีน้ำท่วมวัดลาดพร้าว ทั้งที่ไม่น่าจะท่วม สาเหตุนั้นไม่น่าจะใช่เพราะรื้อเขื่อนกั้นน้ำหน้าวัดออก แต่พื้นที่ซึ่งเคยเป็นแก้มลิงรับน้ำของพื้นที่ลาดพร้าวนั้นถูกถมสูงมีสิ่งก่อสร้างมาแทนที่พื้นที่วัดซึ่งไม่ได้ถมสูงก็กลายเป็นแอ่งกระทะ ที่ไม่รู้ว่าจะสูบน้ำออกไปทางไหนไปในทันที”

ปัญหาที่ กทม.และเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ กำลังประสบ คือ ไม่มีการจัดการน้ำอย่างมีแบบแผน เมืองถูกสร้างให้ใหญ่ขึ้นโดยมีแต่ผังก่อสร้าง แต่ไม่มีแผนผังทางเดินน้ำที่สอดรับไปกับการเจริญเติบโตและสิ่งก่อสร้าง จุดไหนต้องมีความจำเป็นสำหรับกรณีที่ปริมาณฝนมาก มีน้ำหลากหรือจำเป็นต้องมีการระบายน้ำออกจากเขตเมือง ห้ามมีสิ่งก่อสร้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เมืองที่ไม่มีแผนที่กล่าวมา มีการถมบึง ถมทางน้ำเดิม ทันทีที่มีฝนตกเกิน 100 มม.ต่อชั่วโมง ก็จะถูกน้ำท่วมทันที” ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าว

ผังเมืองไร้การควบคุม สาเหตุน้ำท่วมซ้ำซาก ใน กทม.

ภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) ระบุว่า ปกติแล้วตามกฎหมาย ทุกเมืองที่สร้าง จะต้องมี “ผังเมืองรวม” ที่กำกับดูแลการเจริญเติบโตของเมืองในภาพรวมกว้างๆ ด้านนโยบายและโครงการรวมทั้งมาตรการควบคุมโดยทั่วไปเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคม และการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม

 

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะระบุว่า ควรจะมี “ผังเมืองเฉพาะ Zoning Ordinance” หรือผังที่เป็นข้อกำหนด ต้องระบุรายละเอียดโครงการดำเนินการเพื่อพัฒนาหรือดำรงรักษาบริเวณเฉพาะแห่งหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง ถนน อาคาร แต่ละจุดที่สร้างต้องมีความสูงเท่าใด ต้องกำหนดให้น้ำไหลไปทางไหน เรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีการกำหนดให้ชัด และเมื่อไม่มีกรณีที่กล่าวมา สิ่งที่ไม่มีตามไปด้วยก็คือ ระดับความสูงของที่ดินถมสูงที่จะอนุญาตให้ทำได้ เพื่อจะไม่เกิดปัญหาต่างคนต่างถมที่ตัวเองให้สูง จนเกิดปัญหาน้ำไปท่วมที่อื่นที่ไม่ได้ถม ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาวัวพันหลัก เกิดปัญหาไม่รู้จบ

ตอนนี้คือ ใครจะถมที่ตัวเองให้สูงแค่ไหนเพื่อหนีน้ำก็ได้ เพราะไม่มีผังเมืองเฉพาะที่คอยกำกับ ซึ่งหากจะนำมาใช้ได้ จะต้องมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง อีกฉบับหนึ่งออกมาบังคับ แต่ก็ออกกฎหมายบังคับเรื่องนี้ยาก เพราะในรายละเอียดมีการตีความว่า พ.ร.บ.ที่จะบังคับผังเมืองเฉพาะได้นั้น จะมีอำนาจเวนคืนที่ดินด้วย พอมีเรื่องนี้ก็ผ่านสภายาก ทางออกคือควรแยกอำนาจการเวนคืนออกไป ก็น่าจะบังคับผังเมืองเฉพาะออกมาเป็นกฎหมายได้

ทั้งนี้ แม้จะกำหนดผังเมืองเฉพาะได้ในอนาคต แต่จุดไหนที่มีการก่อสร้างขวางทางน้ำไปแล้ว กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังเพื่อแก้ปัญหาที่ กทม.กำลังประสบอยู่ได้ หากกฎหมายผังเมืองใหม่ออกมากำกับเรื่องนี้ได้ ก็ทำได้แค่ป้องกันปัญหาใหม่ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างที่ต่างคนต่างถมในอนาคตเท่านั้น”ภราเดช กล่าวทิ้งท้าย