posttoday

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

18 สิงหาคม 2559

สำรวจ "ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ" ไชน่าทาวน์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง เป็นถนนสายเล็กๆยาวประมาณ 400 เมตร เริ่มจากแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก จรดถนนประชาอุทิศ ปัจจุบันถือเป็นย่านเศรษฐกิจน้องใหม่ที่น่าจับตามอง มีร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการผุดขึ้นอย่างคึกคัก

ทันทีที่ก้าวเข้าไป หลายคนต่างตะลึงพรึงเพริด อ้าปากค้าง ถึงขั้นควักโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายรูปบรรยากาศสองฝั่งถนนซึ่งเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาภาษาจีนโดดเด่นสะดุดตา ร้านขายสินค้าหลายชนิดของคนจีน คลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวจีนเดินกันขวักไขว่ตลอดทั้งวัน

ไม่น่าแปลกใจที่ถนนเส้นนี้จะถูกเรียกว่า "นิว ไชน่าทาวน์" (New Chinatown) แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

New Chinatown

ข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัยเรื่อง "การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่:กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่" โดย นางสาวชาดา เตรียมวิทยา ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จุดเริ่มต้นของ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง" เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 หลังมีนักศึกษาและครูสอนภาษาชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุผลคือใกล้สถานทูตจีน รายล้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง สถานบันเทิง ที่สำคัญเส้นทางคมนาคมสะดวก สามารถใช้ทางลัดจากถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนพระรามเก้า ถนนรามคำแหง เชื่อมต่อไปยังถนนสุขุมวิท ถนนสีลม จนถึงรอบกรุงเทพมหานคร

"คนจีนย่านห้วยขวางส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางสีและยูนนาน เป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว เริ่มจากการมาท่องเที่ยว เรียน หรือทำงาน พอวีซ่าหมดไม่ยอมกลับ จึงหาที่พักอยู่ชั่วคราว ประกอบกับเห็นช่องทางหาเงินในเมืองไทย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าส่งไปเมืองจีน เช่น ผลไม้แห้งแปรรูป นมอัดเม็ด ยาหม่อง น้ำผึ้งโครงการหลวง หมอนยางพารา เมื่อได้รับความนิยม ทีนี้เลยชักชวนครอบครัว คนรู้จัก และเปิดร้านทำธุรกิจเต็มตัว พอคนจีนเข้ามาเยอะ เริ่มมีการเช่าตึกแถวอาคารพาณิชย์โดยให้ค่าเช่าที่สูงกว่าราคาประเมิน เช่น จากเดิมคนไทยเช่าเดือนละ 12,000 บาท ก็ให้ 30,000 บาท ทำให้ผู้เช่ารายเก่าสู้ค่าเช่าไม่ไหวต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น คราวนี้เลยมีแต่ร้านค้าคนจีนเปิดขึ้นเต็มถนน จนถูกเรียกว่านิว ไชน่าทาวน์"คำบอกเล่าของดร.ชาดา ถึงที่มาไปของของไชน่าทาวน์ห้วยขวาง

สอดคล้องกับข้อมูลจากฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตห้วยขวาง พบว่า ปัจจุบันมีธุรกิจของชาวจีนบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญมากกว่า 60 ร้านค้าจากทั้งหมด 181 คูหา ประกอบด้วย ร้านขนส่งสินค้า 27 แห่ง ถือว่าเยอะที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ร้านขายเครื่องสำอาง 20 แห่ง ร้านรับฝากของและโลจิสติก 17 แห่ง ร้านอาหารจีน 14 แห่ง ร้านหมอนยางพารา 5 แห่ง ร้านนวดแผนไทย 5 แห่ง ร้านเครื่องหนัง 3 แห่ง ร้านจำหน่ายรังนก 2 แห่ง ร้านเบเกอรี่ 1 แห่ง คลินิกเสริมความงาม 1 แห่ง และบริษัททัวร์ 1 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีร้านที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าถึง 44 แห่ง

"ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไร้ระเบียบ เช่น ช่วงใกล้ปิดร้าตอนกลางคืนจะมีการแพ็คสินค้าลงกล่องกันริมถนน จอดรถกีดขวางการจราจร ทิ้งขยะเกะกะไม่เป็นที่เป็นทาง ส่งเสียงดังรบกวน เราก็เข้าไปตักเตือน เขาก็เชื่อฟัง โชคดีที่คนไทยก็ไม่เคยมีเรื่องกระทบกระทั่งอะไรกับคนจีน เราต้อนรับเขาดี  จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่าเป็นห่วง"สนธยา ชัชวงษ์ หัวหน้าฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตห้วยขวาง ยืนยัน

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

คนจีนในกรุงเทพ...เก่าไปใหม่มา 

สมัยก่อน หากพูดถึงไชน่าทาวน์เมืองไทยต้องนึกถึงเยาวราช ทว่าหลังการก่อขึ้นของไชน่าทาวน์แห่งใหม่ที่ห้วยขวาง คำถามชวนสงสัยที่ตามมาคือ ไชน่าทาวน์เก่า-ไชน่าทาวน์ใหม่ แตกต่างกันอย่างไร

กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ บรรณาธิการนิตยสารไทย-จีน New Silk Road อธิบายให้ฟังว่า "ตั้งแต่อดีตมีคนจีนอพยพมาอยู่เมืองไทยมานานแล้ว แต่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประเทศจีนเกิดความวุ่นวายต่อเนื่อง ทำให้ชาวจีนอพยพมามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะย่านเยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด โดยคนจีนอพยพสมัยนั้นส่วนมากไม่มีทุนรอนติดตัวมาจึงจำเป็นต้องเริ่มอาชีพง่ายๆที่อาศัยแรงกายไปก่อน เช่น กรรมกรแบกหาม คนลากรถ พอเริ่มสะสมทุนได้จึงขยับขยายไปทำสิ่งที่มีความถนัดมาแต่เดิม อาทิ ทำอาหาร เย็บรองเท้า ซ่อมจักรยาน  การทำมาหากินยุคนั้นส่วนมากจะอาศัยเครือข่ายจากผู้ที่เคยอยู่หมู่บ้านเดียวกันมาก่อน รวมเป็นกลุ่มๆ เรียกอย่างหยาบ ๆ ว่า ชาวแต้จิ๋ว (เฉาโจว-มณฑลกวางตุ้ง) ชาวฮกเกี้ยน ชาวแคะ ชาวไหหลำ และ ชาวกวางตุ้ง  ที่เมืองไทยมีชาวแต้จิ๋วอพยพมาอยู่มากที่สุด ย่านเยาวราชไปจนถึงย่านสำเพ็ง ต่อไปถึงทรงวาด ท่าน้ำราชวงศ์ ถือชุมชนชาวแต้จิ๋วขนาดใหญ่เน้นการค้าส่งระหว่างไทยจีนผ่านทางเรือ

ส่วนย่านห้วยขวาง จุดเริ่มต้นมาจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยตั้งอยู่ในย่านถนนรัชดาภิเษก แน่นอนว่า เมื่อมีคนจีนเข้ามาเรียนหรือทำงานเป็นจำนวนมาก ร้านค้า ภัตตาคารก็ตามมา นักศึกษาจีนต้องมารายงานตัวที่สถานทูต จึงถือโอกาสมารับประทานอาหารจีนในย่านนี้อย่างพร้อมเพรียงกันนอกจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ นักศึกษา ชาวจีนแล้ว กลุ่มกิจการที่เกี่ยวข้องจากทัวร์จีนที่นำนักท่องเที่ยวจีนมาไทยก็นิยมตั้งออฟฟิศในย่านนี้เพื่อให้ผู้นำทัวร์ หรือซัพพลายเออร์ชาวไทย-จีน  สามารถเคลียร์ค่าใช้จ่ายกรุ๊ปทัวร์ได้สะดวก อีกประการหนึ่งที่มีส่วนมากในการดึงดูดชาวจีนเข้ามาอยู่ในย่านนี้คือ เดิมจะมีแต่ร้านอาหารแนวแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แต่ย่านห้วยขวางจะมีอาหารจีนจากทุกมณฑลของจีน ซึ่งเรื่องอาหารมีผลต่อการดึงดูดคนเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันเป็นอย่างมาก"

นักวิชาการรายนี้บอกว่า ลักษณะการเข้ามาอยู่อาศัยทำการค้าของคนจีนในห้วยขวางเป็นแบบ "ชั่วคราว" ไม่ได้ "ปักหลักถาวร"

"เมื่อก่อนชุมชนชาวจีนใหม่จะอยู่ซอยข้างสถานทูต รัชดาภิเษกซอย 3 ต่อมามีการขยายตัวตามแนวคอนโดที่พักมาจนถึงย่านสำนักงานเขตห้วยขวาง ถนนประชาอุทิศ ประกอบกับการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าใต้ดินทำให้คนจีนนิยมมาอยู่มากยิ่งขึ้น ถามว่าคนไทยอพยพออกจากพื้นที่ไหม เผอิญผมมีธุระไปย่านนั้นทุกเดือนยังเห็นว่า บ้านหรืออาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังเป็นของคนไทย  แต่ที่เห็นคนจีนอยู่เยอะ เพราะส่วนมากคนไทยปล่อยเช่าให้คนจีน ซึ่งคนจีนย่านนี้เป็นนักธุรกิจแนวร้านอาหารและขายปลีก จึงนิยมการทำสัญญาเช่ามากกว่าลงทุนซื้อ อีกทั้งคนจีนยุคนี้ไม่ได้แต่งงานกับชาวไทยมากนัก ทำให้ไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่คอนโดอาคารชุดได้"

บรรณาธิการนิตยสารไทย-จีน New Silk Road มองว่า ข้อกังวลว่าการเกิดขึ้นของไชน่าทาวน์ห้วยขวางจะส่งผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยที่อยู่มาดั้งเดิมกับคนจีนที่เพิ่งมาอยู่ใหม่หรือไม่นั้น น่าจะเกิดขึ้นน้อยมาก

"คนจีนห้วยขวางส่วนมากเข้าใจวัฒนธรรมไทยแล้ว ไม่ใช่นักท่องเที่ยวบางคนที่เพิ่งมาเที่ยวเป็นครั้งแรก ผมมองว่าไชน่าทาวน์ห้วยขวางน่าจะไม่ส่งผลเสียต่อกรุงเทพ คงเปรียบเสมือนชุมชนชาวต่างประเทศในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก เช่น Little India ย่านชุมชนของคนอินเดียที่สิงค์โปร์  Little Italy ที่นครนิวยอร์ค หรือ ย่านชาวอาหรับที่นานา ย่านชาวญี่ปุ่นสุขุมวิท ที่นับวันยิ่งขยายตัวและยากที่จะปฏิเสธถึงการมีอยู่ของชุมชนเหล่านี้"  

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

เสียงสะท้อนจากคนห้วยขวาง

ลองฟังความเห็นของคนห้วยขวางว่า รู้สึกอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบบ้าน

เจ้าของร้านขายยาแห่งหนึ่ง เผยว่า ตั้งแต่ถนนประชาราษฏร์บำเพ็ญกลายเป็นไชน่าทาวน์ การค้าขายคึกคักขึ้น  

"ไม่ได้รู้สึกว่ากระทบกระเทือนอะไร เพราะต่างคนต่างทำธุรกิจตัวเอง ไม่ได้แข่งขันกันดุเดือด คนจีนเขาก็เปิดร้านก็ขายคนจีนด้วยกันนั่นแหละ คนจีนมันเก่งนะ ช่วงแรกๆเข้ามาเรียนหนังสือ มาทำงาน อยู่ๆไปเริ่มเซอร์เวย์สินค้า อันไหนขายดีก็ส่งไปขายต่อเมืองจีน กำไรอื้อซ่า วันดีคืนดีสั่งเพิ่มเป็นล็อตใหญ่ ต่อมาขอเช่าตึกเปิดร้านเองเลย พวกนี้ถือเงินสดเป็นฟ่อนๆแล้วหาคนไทยมาเป็นตัวกลางเจรจา ใช้แค่ชื่อ แต่ลงทุนเองทั้งหมด พวกนี้เงินเยอะ กิจการไม่ดีมันขายทิ้งเลยนะ ผมยังเคยโดนคนไทยมาด้อมๆมองๆร้าน จู่ๆถามเฮียเซ้งไหม ผมด่าเลย ไอ้ห่า คิดว่ามีตังค์แล้วทำอะไรก็ได้หรือไง"

สมศักดิ์ วันสุขศรี เจ้าของร้านถ่ายรูปผู้อาศัยอยู่ละแวกนี้มานานกว่า 40 ปี เล่าว่า ย้ายมาอยู่เมื่อปี 2522 โดยซื้ออาคารพาณิชย์สามชั้น 300,000 บาท ตั้งแต่ยังรายล้อมด้วยทุ่งโล่ง ไม่มีตึกสูงห้างสรรพสินค้า โรงแรม และรถไฟฟ้าเหมือนทุกวันนี้

"ที่คนพูดกันว่าคนจีนมายึดครองหมดแล้ว ไม่จริงครับ แค่ 30 % เท่านั้นแหละ แล้วมาเช่าตึกทำการค้าเท่านั้น เจ้าของยังเป็นคนไทยอยู่ แต่ยอมรับว่าพอคนจีนมาเช่า คนไทยเก่าๆที่เคยอยู่ก็ย้ายออกไปหมด โดยเฉพาะพวกผู้ค้ารายเล็กๆอย่างร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายส้มตำ ร้านอาหารตามสั่ง เพราะสู้ราคาใหม่ไม่ไหว จากเคยเช่าอยู่เดือนละ 12,000 คนจีนมาเสนอให้เดือนละ 30,000 เจ้าของตึกเขาจะเลือกใครล่ะ ... คุณรู้ไหมเดี๋ยวนี้เขาขายตึกกันเท่าไหร่ 14 ล้าน"

คนจีนที่มาอยู่บางส่วนก็ไม่สุภาพ เอะอะโวยวาย ไม่เป็นระเบียบ คนไทยบางคนรับไม่ได้เขาไล่เลยนะ แต่ผมไม่ติดใจเอาความ ขอให้เราค้าขายได้ ไม่ถือสา ทุกวันนี้มีลูกค้าคนจีนมาอุดหนุนเยอะ ถ่ายรูปทำวีซ่า  สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ สมัยก่อนคนแถวนี้ทุกคนรู้จักกันหมด มีอะไรช่วยเหลือกัน เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครสนใจใครแล้ว มีแต่คนแปลกหน้าทั้งนั้น"

กระแสเติบโตอย่างก้าวกระโดดของไชน่าทาวน์ห้วยขวาง จนกลายเป็นชุมชนจีนแห่งใหม่ที่สร้างสีสันทั้งในแง่วิถีชีวิตผู้คน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าอย่างถูกต้อง การทำธุรกิจแบบตัวแทนอำพราง (นอมินี) การกำหนดมาตรการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อจัดเก็บภาษี รวมถึงการควบคุมธุรกิจที่พักขนาดเล็ก เพื่อจัดระเบียบให้บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น ไร้ปัญหา

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

 

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

 

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"

 

ย่ำถิ่นมังกรใหม่ "ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง"