posttoday

"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

29 พฤษภาคม 2559

ส่องเส้นทางจักรยานเมืองกรุง ทำไมคนยังใช้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ข่าวเล็กๆที่ดูไม่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป แต่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักปั่นจักรยานเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมพิจารณายกเลิกเส้นทางจักรยานบางแห่งที่สำรวจพบว่า ไม่มีผู้ใช้งาน เช่น ทางจักรยานถนนพุทธมณฑลสาย 2 และพุทธมณฑลสาย 3 ถนนเพชรเกษม รวมถึงเส้นทางเล็กๆอีกมากมาย เพื่อประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษา

คำถามชวนสงสัยเกิดขึ้นตามมาคือ ทุกวันนี้เลนจักรยานตามท้องถนน ตามฟุตบาทถูกใช้งานมากน้อยแค่ไหน เหตุใดถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า จริงหรือไม่ว่าเหตุผลหลักที่คนไม่นิยมใช้ เพราะเลนจักรยานเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางยึดครอง รวมทั้งยังขาดระบบอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้คนใช้จักรยาน

ส่อง48 เส้นทางจักรยานเมืองกรุง

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีทางจักรยานทั้งหมด 48 เส้นทาง รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร ประกอบด้วย

1.ถนนอุทยาน 2.ถนนพุทธมณฑล สาย 3 3.ทางจักรยานเลียบคลองไผ่สิงโต 4.เส้นทางจักรยานถนนดวงพิทักษ์ 5.เส้นทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม 6.ถนนสรงประภา 7.ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ 8.ถนนรามคำแหง 9.ถนนประชาชื่น 10.ถนนสุขุมวิท 11.ถนนเจริญนคร 12.ถนนพหลโยธิน 13.ถนนเพชรเกษม 14.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 15.ถนนลาดพร้าว 16.ถนนจรัญสนิทวงศ์ 17.ถนนราษฎร์บูรณะ 18.ถนนสุขาภิบาล 5 (สายไหม) 19.ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน 20.ถนนราชดำริ 21.ถนนกรุงธนบุรี 22.ซอยวัดอินทราวาส 23.ถนนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์

24.ถนนสาธร 25.ถนนพุทธมณฑลสาย 2 26.ถนนสะแกงาม 27.ถนนบางขุนเทียนชายทะเลระยะ 1 28.ถนนบางขุนเทียนชายทะเลระยะ 2 29.ถนนประชาธิปก 30.ถนนลาดหญ้า 31.ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน 32.ถนนอินทรพิทักษ์ 33.ถนนพระอาทิตย์ 34.ถนนพระสุเมรุ 35.ถนนบวรนิเวศ 36.ถนนราชดำเนิน 37.ถนนดินสอ 38.ถนนบำรุงเมือง 39.ถนนมหาไชย 40.ถนนตะนาว 41.ถนนกัลยาณไมตรี 42.ถนนสนามไชย 43.ถนนมหาราช 44.ถนนหน้าพระลาน 45.ถนนหน้าพระธาตุ 46.ถนนราชินี 47.ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า 48.ถนนอรุณอมรินทร์

"ทางจักรยานของกทม.ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มปั่นออกกำลังกาย หรือกลุ่มปั่นท่องเที่ยวโดยตรง สองกลุ่มนี้ค่อนข้างมีทักษะในการปั่น ต้องการทางจักรยานที่สมบูรณ์แบบ ไม่มียวดยานพาหนะอื่นๆหรือสิ่งกีดขวางเข้ามารบกวน กทม.จึงสร้างสนามปั่นจักรยานไว้เฉพาะ เช่น ศูนย์กีฬาบึงหนองบอน ส่วนกลุ่มที่ปั่นไปทำงานในเมืองเป็นประจำ พวกนี้มีทักษะการปั่น และมองว่าเลนจักรยานใช้งานไม่สะดวก ขี่ไม่สบาย จึงไม่จำเป็นต้องใช้

เป้าหมายหลักจึงเป็นกลุ่มคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  เช่น แม่บ้านไปจ่ายตลาด ส่งลูกไปโรงเรียน เดินทางไปมาใกล้ๆบ้าน พวกนี้ทักษะการขี่น้อย แต่ใช้ทางจักรยานเยอะที่สุด เหตุผลที่ต้องมีเลนจักรยานไว้สนับสนุนคนเหล่านี้ เนื่องจากวินัยการจราจรบ้านเราต่ำมาก คงไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะให้คนใช้จักรยานที่มีทักษะน้อยต้องมาเสี่ยงบนท้องถนน"

คำชี้แจงของ วัชระ กาญจนสุต สถาปนิกปฏิบัติการ สำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. หนึ่งในทีมผู้ออกแบบเลนจักรยานในเมืองกรุง

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

วัชระยอมรับว่า ที่ผ่านมากว่าสิบปี เส้นทางจักรยานทั้ง 48 แห่งประสบอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่รถยนต์จอดทับ รถมอเตอร์ไซค์เข้ามาวิ่ง พ่อค้าแม่ค้าตั้งหาบเร่แผงลอย จนถึงชาวบ้านร้านตลาดนำสิ่งกีดขวางมาจับจองที่จอดรถ

"ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาหลักอย่างเดียวของเลนจักรยานที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งจอดรถกีดขวาง เอาแผงลอยมาตั้ง นำรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาวิ่ง ทำให้คนไม่กล้าเข้ามาใช้ หรือใช้ได้ไม่เต็มที่ เรื่องจิตสำนึก เรื่องวินัยของคนเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุด

ที่ผ่านมา เราเคยไม่นิ่งเฉย ทุกปัญหาที่ถูกร้องเรียนมาก็ได้ประสานไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) เพื่อให้ตำรวจผลักดันข้อบังคับต่างๆมาคุ้มครองสิทธิคนปั่นจักรยาน จนกระทั่งมีกฎหมายควบคุมดูแลเส้นทางจักรยาน 14 เส้นทางในโครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ขณะเดียวกันก็ให้สำนักงานเขตทุกเขตประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ พร้อมเข้มงวดติดป้ายเตือนห้ามจำหน่ายสินค้าและขับขี่จักรยานยนต์บนทางจักรยานมีโทษปรับตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด 2,000 บาท แต่ยอมรับว่าเราไม่สามารถไปนั่งเฝ้า กวดขันดูแลทางจักรยานได้ตลอดเวลา"

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ยืนยันว่า มีการของบประมาณในการปรับปรุงเส้นทางจักรยานเป็นประจำทุกปี ซึ่งหลายเส้นทางเริ่มมีสภาพทรุดโทรม สีลอก เลือนลาง ป้ายผุ หัก โค่น เสากั้นหักบิดเบี้ยว รวมทั้งการสร้างที่จอดจักรยานสำหรับผู้ที่ใช้จักรยานจากชุมชนมาเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้มีผู้มาใช้เลนจักรยานมากขึ้นในอนาคต

วันนี้ยังไร้ระเบียบ

ทุกๆวัน มนตรี ฉันทะยิ่งยง เจ้าของธุรกิจส่งเอกสารด้วยรถจักรยาน "BikeXenger" ต้องควบจักรยานแล่นไปทั่วเมืองกรุง แซงซ้ายแซงขวาทะลุช่องว่างระหว่างรถยนต์ที่ติดขัดบนท้องถนน บางจังหวะโดดขึ้นฟุตบาท บางจังหวะเลี้ยวเข้าตรอกซอกซอยลัดเลาะหาทางลัด เฉลี่ยวันละกว่า 100 กิโลเมตร

ด้วยประสบการณ์ปั่นในเมืองกรุงมาอย่างโชกโชน มนตรีบอกว่า เลนจักรยานเหมาะกับนักปั่นที่มีทักษะน้อย  เช่น ปั่นออกกำลังกาย ปั่นท่องเที่ยว ปั่นพักผ่อนหย่อนใจ ปั่นเดินทางใกล้บ้าน ส่วนนักปั่นที่มีทักษะในการขี่สูง มีประสบการณ์ในการปั่นบนถนนใหญ่ เลนจักรยานอาจไม่จำเป็นเท่าใดนัก

"ทุกวันนี้ผมมองนักปั่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ ปั่นออกกำลังกายและท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ กับ ปั่นเดินทางในชีวิตประจำวัน กลุ่มแรก เวลาปั่นบนท้องถนน ถ้ามีเลนจักรยานเขาก็พยายามเข้าไปปั่นข้างใน เพราะมองว่าปลอดภัยกว่าปั่นข้างนอก ซึ่งรถวิ่งเร็ว น่าหวาดเสียว แต่สำหรับคนที่ปั่นเดินทางไปทำงานในชีวิตประจำวันแบบผม ไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่ เพราะถือว่าเรามีทักษะในการขี่ มีประสบการณ์ใช้จักรยานบนถนนใหญ่ เรียกว่า 'ปั่นเป็น' รู้จักสภาพผิวถนน รู้จักจังหวะเร่งความเร็ว ผ่อนแรง แซง ลัดเลาะตรอกซอกซอย กระทั่งขึ้นลงฟุตบาท ที่สำคัญคือชำนาญทาง

ยิ่งถ้าเห็นว่าเลนจักรยานมีสิ่งกีดขวาง เช่น รถจอดทับ พ่อค้าแม่ค้าวางขายของ มีโต๊ะ เก้าอี้ กระถางต้นไม้ หรือผิวขรุขระ ไม่เรียบ ดูแล้วเสี่ยงล้ม ปั่นแล้วไม่ราบรื่น หรือทางไม่ต่อเนื่อง ผมออกไปปั่นข้างนอกดีกว่า เร็วกว่า พูดตรงๆทุกวันนี้ปั่นในเลนจักรยานเจอปัญหาเยอะมากครับ"

มนตรีเชื่อว่า เลนจักรยานที่ดีต้องแยกออกมาต่างหาก ไม่อยู่รวมกับยวดยานพาหนะอื่นๆ

"เลนจักรยานที่ถูกต้องต้องแยกออกมาจากทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่จักรยานเท่านั้นที่เข้าไปปั่นได้ มิใช่ใช้ร่วมกับรถยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถมอเตอร์ไซค์ ถ้าเลนจักรยานปลอดภัย แบ่งเป็นสัดเป็นส่วนแยกจากยานพาหนะอื่น พื้นผิวเรียบ เส้นทางต่อเนื่อง ไม่มีสิ่งกีดขวาง ผมเชื่อว่าจะมีคนมาใช้เยอะขึ้น แต่ความเป็นจริงคือ เลนจักรยานในกทม.ทุกวันนี้ยังไร้ระเบียบ มีคนเข้าไปเดิน มีรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปวิ่ง จอดรถทับ เอาของมาขาย เอากระถางต้นไม้มาวางจอง แบบนี้ไม่มีใครกล้าใช้หรอกครับ"

ในสายตานักปั่นรายนี้ เขาบอกว่า เลนจักรยานที่แย่ที่สุดคือ ย่านวงเวียนใหญ่ เพราะตลอดเส้นทางถูกรถจอดขวางหมด ชาวบ้านร้านตลาดไร้จิตสำนึก เจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย ขณะที่เลนจักรยานที่ถูกใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่าพื้นที่อื่นคือ ย่านถนนสาทร เนื่องจากเป็นย่านธุรกิจและย่านคอนโดที่อยู่อาศัยที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ มีนักปั่นมาใช้บริการอย่างหนาแน่น ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน นักศึกษา ฯลฯ

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

ล้มเหลวเพราะไม่ศึกษาข้อมูลก่อนทำ

ถามว่า อะไรคือสาเหตุที่เลนจักรยานถูกใช้งานอย่างไม่ค่อยเต็มศักยภาพ

มงคล วิจะระณะ นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า ต้นตอปัญหาคือ การไม่ศึกษาข้อมูลก่อนที่จะทำ

"20 ปีที่แล้วไม่ค่อยมีคนใช้จักรยาน แต่เดี๋ยวนี้คนใช้เยอะมาก การเรียกร้องให้มีการแชร์พื้นผิวถนนจึงเสียงดังขึ้น แต่การทำช่องทางจักรยานของหน่วยงานของรัฐยังศึกษาข้อมูลไม่ดีพอว่าควรเริ่มตรงไหน อย่างไร พฤติกรรมผู้ใช้จักรยานแต่ละพื้นที่เป็นแบบไหน ยกตัวอย่างเลนจักรยานถนนพระอาทิตย์ ทำเป็นเสากั้นไม่ให้รถคันอื่นเข้า ผมมองว่าไม่สมควร เป็นการจำกัดสิทธิคนอื่น เพราะแต่ละวันมีนักปั่นจักรยานมาใช้น้อยมาก มันเลยเสียพื้นที่ไปอย่างเปล่าประโยชน์

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการออกแบบที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน เช่น ชีวิตประจำวันคนแถวนั้นเขาเปิดร้านขายของจึงมักมีรถส่งของมาจอด ถ้าไม่มีที่จอดรถรองรับ เขาก็จำเป็นต้องชิดซ้ายเข้ามาจอดเพื่อเอาของลง ปรากฎว่าเจอเลนจักรยานมีเสากั้นเข้าไม่ได้ก็ต้องจอดตรงนั้น ทำให้รถติดหนัก ดีไม่ดีเฉี่ยวชนเสากั้นหักอีก

ผมมองว่าการออกแบบไม่ผิด แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องทำทางจักรยานลักษณะนี้ ถ้าถนนพระอาทิตย์มีนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานเข้ามาใช้เลนจักรยานกันเยอะ และมีเสากั้น แบบนี้ก็โอเค ปลอดภัย แต่ความจริงคือ ทุกวันนี้ทั้งวันมีคนขี่ผ่านมาไม่ถึง 20 คน ทางจักรยานแบบนี้จึงไม่เหมาะสม ควรตีเส้นแบ่งเลนให้ห่างจากทางเท้า 1- 1.20 เมตร ไม่ต้องมีเสากั้น ให้รถส่งของ ให้แท็กซี่จอดส่งแป๊บเดียวได้ ให้เขาได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะด้วย แต่พวกจอดแช่ จอดนาน แบบนี้ก็ต้องว่ากันอีกเรื่อง"

ปัญหาคลาสสิกที่เลนจักรยานจำนวนไม่น้อยมักมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งหาบเร่แผงลอยทับ มงคลมองว่าจะไปโทษกลุ่มผู้ค้าแต่เพียงผู้เดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก

"ต้องบอกว่ามันเป็นวิถีชีวิตของคนกรุงที่คนค้าขายกันริมถนน คนก็มาซื้อกันจนเป็นความเคยชิน ปัญหาเรื่องเลนจักรยานมาทีหลังด้วยซ้ำ ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดระเบียบ ห้ามขายบนทางเท้า หรือจัดโซนนิ่งให้ขายแบบเป็นสัดส่วน เราจะไปด่าว่าเขาผิดไม่ได้

ประเด็นอยู่ตรงการจัดระเบียบการค้า คุณหาที่หาทางให้เขาไหม ถ้าคุณทำ คงไม่มีใครมาขาย แต่นี่คุณปล่อยให้ขาย ผ่อนผัน แล้วมาเก็บเงินเขา เช่นเดียวกับปัญหาจอดรถกีดขวาง ต้องมองลึกไปถึงเรื่องควบคุมการซื้อรถ ถ้าใครไม่มีที่จอดก็ห้ามซื้อ แต่นี่ปล่อยเสรีให้ถอยรถป้ายแดงกันจำนวนมหาศาลแล้วจะให้เขาไปจอดที่ไหน ก็ธรรมดาที่จะมาจอดริมถนนว่างๆ แต่ถ้าหาที่หาทางให้เขาจอดได้อย่างเพียงพอ เข้มงวดกวดขันให้ไปจอด เก็บเงินก็ได้ เขาก็ไปจอด แต่นี่ปล่อยปะละเลย ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มันก็เละ"

นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ทิ้งท้ายว่า การสร้างช่องทางจักรยานเป็นการลงทุนที่สูงมาก ถ้าทำไปแล้วก็อยากจะเชิญชวนให้คนมาใช้กันเยอะๆ ส่วนตรงไหนยังไม่ทำ ขอให้ศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน บางเส้นทางแค่ตีเส้นแบ่งเลน ก็พอ ไม่ต้องทาสี มีเสากั้น มีลูกแก้วสะท้อนแสงให้เลิศหรูวิลิศมาหราเกินความจำเป็น

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

เลนจักรยานที่ดีต้องเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน

รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิเคราะห์ประเด็นเลนจักรยานในเมืองกรุงไม่ค่อยมีคนใช้ว่า ต้องดูเฉพาะพื้นที่ อย่าเหมารวมว่าทุกเส้นทางไม่มีคนใช้

"สาเหตุที่คนไม่ใช้เลนจักรยานมีหลายประการ เช่น เส้นทางไม่ต่อเนื่อง ไม่เชื่อมต่อ ไม่ปลอดภัย บางพื้นที่ถ้ามีรถเช่าให้ยืมก็น่าจะมีคนหันมาใช้เยอะ เพราะเวลารถติด หลายคนอยากจะหนีลงรถมาใช้รถจักรยานแทน เร็วกว่า สะดวกกว่า  สำหรับกระแสข่าวที่ว่าจะยกเลิกเส้นทางจักรยานบางแห่งเพราะไม่มีคนใช้ ผมมองว่า กทม.ควรไปสอบถามชาวบ้านพื้นที่ก่อนไหม จะได้รับรู้ปัญหา รับรู้ความต้องการของเขาว่า คนใช้น้อยจริงไหม หรือใช้น้อยแค่บางจุด เหตุที่ไม่ใช้เพราะอะไร

สิ่งที่สำคัญในการส่งเสริมเส้นทางจักรยานต้องขอความเห็นจากคนในพื้นที่ จะยกเลิกเส้นทาง จะปรับปรุง จะพัฒนา หรือสร้างใหม่ ควรทำประชาพิจารณ์ก่อน ถามความเห็นชาวบ้านว่าเขาคิดเห็นอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร เพราะการสร้างทางจักรยานนั้นส่งผลประทบต่อทุกฝ่าย ทุกคนควรได้ใช้งานอย่างเกิดประโยชน์ร่วมกัน"

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งรายนี้ เผยว่า เส้นทางจักรยานที่ดีต้องมีการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างชุมชน วางระบบให้เป็นโครงข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ หรือรองรับเส้นทางในรัศมี 2-3 กิโลเมตร จะทำให้คนหันมาใช้รถจักรยานมากขึ้น

"อยากเสนอให้กทม.เน้นพัฒนาเส้นทางจักรยานที่ใช้งานได้จริงระหว่างชุมชนเพื่อการเชื่อมต่อในอนาคต ไม่ใช่เน้นเพิ่มระยะทางหรือเชิงปริมาณ สำคัญที่ความต่อเนื่อง เช่น ทางแยก ทางลอด ทางข้าม สะพาน ถ้าสะดุด ไม่ต่อเนื่อง คนก็ไม่นิยม จะใช้น้อยลง เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ถึงขั้นเลิกใช้ นอกจากนี้ควรเพิ่มพื้นที่จอดรถจักรยานให้มากขึ้น โดยเฉพาะตามระบบขนส่งมวลชน เพราะการจะรณรงค์ให้คนมาขี่รถจักรยานจะต้องหาที่รองรับเรื่องที่จอด ถ้าไม่มีที่จอดปลอดภัย รถหายเยอะ คนก็ไม่กล้าเสี่ยง สุดท้ายก็ไม่กล้าปั่น ผมเชื่อว่าหากมีทางจักรยานที่ดีและปลอดภัย ประชาชนจะเปลี่ยนมาใช้ทางจักรยานกันมากขึ้น

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

เสียงสะท้อนจากคนกรุง

ลองฟังความเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนนเมืองกรุง พวกเขาคิดอย่างไรเมื่อมีเลนจักรยาน

ปกรณ์ ท้ายเหมือง นักศึกษา มองว่า ระบบผังเมืองกรุงเทพฯเละเทะไร้ระเบียบมาก เลนจักรยานไม่เหมาะจะมาอยู่บนถนน

"จริงๆควรสร้างเลนจักรยานบนฟุตบาท จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยหาพื้นที่ให้เขาขายเป็นเรื่องเป็นราว แล้วเปลี่ยนฟุตบาทให้เป็นถนนคนเดิน โดยแชร์ร่วมกับคนใช้จักรยาน ตีเส้น ติดป้ายสัญลักษณ์ ทำพื้นผิวให้มันเรียบ แบบนี้ดีกว่าไปแบ่งช่องจราจรบนถนน เพราะบ้านเรารถเยอะ วินัยการขับขี่ห่วยแตก เสี่ยงอันตรายมากๆ"

พลกฤต โอภาสี พนักงานส่งเอกสาร บอกว่า อยากให้รถมอเตอร์ไซค์ได้ร่วมใช้ประโยชน์จากเลนจักรยานด้วย

"พูดตรงๆ ผมเห็นเลนจักรยานส่วนใหญ่ วันๆมีคนใช้แค่หยิบมือ แถมห้ามไม่ให้รถคันอื่นเข้าไปใช้อีก อย่างชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า รถติดมาก ผมอยากให้รถมอเตอร์ไซค์ได้เข้าไปวิ่งในเลนจักรยานได้ สะดวก คล่องตัว ดีกว่าวิ่งซิกแซกไปมาระหว่างรถติด พวกเราก็เสียภาษีนะครับ"

สุนีย์ แซ่งวด แม่บ้าน บอกว่า การมีเลนจักรยานทำให้ผู้ใช้รถจักรยานมีความปลอดภัยมากขึ้น

"เดี๋ยวนี้คนปั่นจักรยานเยอะ ออกกำลังกาย จ่ายตลาด ส่งลูกไปโรงเรียน ไปสวนสาธารณะ ทำธุระใกล้บ้าน สมัยก่อนใช้วิธีขี่ชิดซ้ายอย่างเดียว เจอทั้งฝาท่อ ร่องน้ำ เศษแก้ว แถมรถวิ่งกันเร็วน่ากลัว พอมีเลนจักรยานก็รู้สึกอุ่นใจขึ้น ปั่นได้โดยไม่ต้องกลัวรถคันหลังบีบแตรไล่ แต่ไม่ดีตรงที่ชอบมีรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาวิ่ง มีรถจอดขวาง บางบ้านเอาโต๊ะ เก้าอี้มาวาง ถ้าเจ้าหน้าที่จัดการตรงนี้อย่างเด็ดขาดก็น่าจะหมดปัญหา"

ศุภวุฒิ สร้อยสำราญ พนักงานบริษัทเอกชน ผู้ใช้รถจักรยานเป็นประจำ มองว่า แม้เลนจักรยานหลายเส้นทางจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน ทว่ายังมีข้อจำกัดที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้จักรยานได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส อนุญาตให้จักรยานทุกประเภทขึ้นได้ ทว่าช่วงเร่งรีบโดยเฉพาะตอนเช้า ผู้โดยสารจะเต็มโบกี้ ส่วนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีและแอร์พอร์ตเรลลิงค์ อนุญาตเฉพาะรถจักรยานแบบพับ ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา อนุญาตให้เฉพาะรถจักรยานพับและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

"ในอนาคต ถ้าระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงถึงกันหมด คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นกว่านี้ อยากให้กทม.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆเพิ่ม เช่น ที่จอดจักรยาน รถให้ยืม ล็อคเกอร์เก็บของ ห้องอาบน้ำ แบบนี้ถึงจะเอื้อประโยชน์ให้คนใช้จักรยานอย่างแท้จริง"

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?

 

\"ไม่เชื่อมต่อ-เจอกีดขวาง-ขัดวิถีชุมชน\" ต้นเหตุเลนจักรยานล้มเหลว?