posttoday

กทม.ยุบปีละ10มม.รามคำแหงหนักสุด

19 มิถุนายน 2558

เผยย่านรามคำแหงลาดกระบัง ทรุดหนักปีละ 1-2 ซม. เชื่ออีก 30 ปี ถ้าไม่แก้ กทม.จะเผชิญวิกฤต

เผยย่านรามคำแหงลาดกระบัง ทรุดหนักปีละ 1-2 ซม. เชื่ออีก 30 ปี ถ้าไม่แก้ กทม.จะเผชิญวิกฤต

นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "การรับมือแก้วิกฤตน้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุดใน กทม." จัดโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่า กทม.เสี่ยงกับปัญหาน้ำท่วมขังมากขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ การขุดเจาะน้ำบาดาล การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น เปลือกโลกเคลื่อนตัว การก่อสร้างอาคารสูงในเมือง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ พื้นดินทั่ว กทม.ทรุดตัวลง 10 มม./ปี

นายสุจริต ระบุว่า พื้นดินถนนรามคำแหงทรุดตัวมากที่สุดถึง 2 ซม. รองลงมาคือลาดกระบัง ทรุดตัวประมาณ 1 ซม.ต่อ/ปี ขณะเดียวกันตามแนวชายฝั่งทะเล จ.สมุทรปราการ และสมุทรสาคร กำลังถูกกัดเซาะ ดังนั้นในระยะเวลา 30-50 ปี หากยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด กทม.จะประสบปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อรับมือวิกฤตการณ์น้ำควรปรับปรุงแก้กฎหมาย เช่น กำหนดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับ กักเก็บน้ำ การบังคับใช้กฎหมายผังเมือง เพิ่มบทลงโทษลักลอบใช้น้ำบาดาล โดยไม่ได้รับอนุญาต

นายศรชัย โตวานิชกุล ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และวิจัย สำนักโยธา กทม. กล่าวว่า ได้เตรียมการรับมือ น้ำท่วมด้วยการควบคุมการสร้างบ้านหรืออาคารสูง ห้ามมีความสูงเกิน 12 เมตร หรือ 4 ชั้น แบ่งสัดส่วนพื้นที่สร้างอาคารได้เพียง 60 ตร.ว. ส่วนอีก 40 ตร.ว. ต้องใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำเพื่อรอการระบายออกสู่ทางน้ำ

นอกจากนี้ กทม.ได้ขุดลอกคูคลองระบบระบายน้ำ ก่อสร้างแนวป้องกันริมเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ สร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง จัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำหรือแก้มลิงทั้งหมด 26 แห่ง

สำหรับการป้องกันปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ได้ก่อสร้างแนวไม้ไผ่ป้องกันการทลายของดิน ปลูกป่าชายเลนเพิ่ม คาดว่าปริมาณชายฝั่งจะเพิ่มขึ้นปีละ 2.5 เมตร ทั้งนี้ กทม.พยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ตลอด ซึ่งต้องใช้งบกว่า 1 แสนล้านบาท

ภาพประกอบข่าว