posttoday

"จ่ายค่าขยะ"... มากกว่าหน้าที่คือความรับผิดชอบ

05 มิถุนายน 2558

ปัญหาการไม่จ่ายค่าเก็บขยะ สะท้อนความรับผิดชอบของคนกรุง

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คนกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อยพากันสะดุ้งโหยง หลังทราบข่าวกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมเดินหน้าพัฒนาระบบการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยจากครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายหลังร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. … ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

สาระสำคัญอยู่ตรงที่ หากร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ ค่าจัดเก็บ-กำจัดขยะในกทม. จะถูกปรับขึ้นจากครัวเรือนละ 20 บาทเป็นไม่เกิน  150 บาทต่อเดือน 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงดังกระหึ่มตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดราม่า...ค่าขยะ150 บาทต่อเดือน?

สุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.)  อธิบายว่า การบริการจัดเก็บและทำลายขยะมูลฝอย อยู่ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติ การสาธารณะสุข พ.ศ.2535 ซึ่งในมาตรา 20 กำหนดให้ท้องถิ่นสามารถที่จะกำหนดและจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าจัดเก็บได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

"จากพ.ร.บ.ปี 35 ก็มีกฎกระทรวงสาธารณะสุขว่าด้วยการจับเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยและสิ่งปฎิกูล พ.ศ. 2545 มารองรับ ซึ่งจะจับเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณน้ำหนัก เนื่องจากสถานที่เก็บขยะนั้นมีหลายลักษณะ เช่น บ้านเรือนประชาชนทั่วไป สถานประกอบการ อาคารชุดหรือคอนโดมีเนียม โดยกำหนดไว้ว่า สถานที่ที่เกิดมูลฝอยวันละไม่เกิน 20 ลิตร หรือ 4 กิโลกรัม ให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมได้ไม่เกิน 40 บาทต่อเดือน"

ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวอีกว่า จากกฎกระทรวงดังกล่าว กทม.ได้ออกข้อบัญญัติเพื่อรองรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและองค์ประกอบต่างๆ จนตัดสินใจเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ปัจจุบันล่วงเลยผ่านมา 13 ปีแล้ว เป็นธรรมดาที่ต้องมีการปรับปรุงกฎกระทรวงให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ผ่านการพิจาณาของคณะรัฐมนตรี กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ภายในร่างฉบับนี้มีการเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย สำหรับบ้านเรือนประชาชนทั่วไปได้ไม่เกิน 150 บาท ทว่าเมื่อประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงแล้ว กทม.จะต้องออกกฎหมายบัญญัติตามมา โดยพิจาณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่อีกครั้ง

"ปัจจุบัน กทม.เก็บอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน หลังจากนี้อาจจะเพิ่มเป็น 30 40 หรือ 50 ก็ได้ แต่อย่าให้เกิน 150 บาท ฉะนั้นประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะการพิจารณาขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สภาพทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ถึง 10 เท่าตามข่าวลือแน่นอน"

"จ่ายค่าขยะ"... มากกว่าหน้าที่คือความรับผิดชอบ

ไม่หวังผลกำไร แค่อยากให้มีความรับผิดชอบ

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า ทุกวันนี้กทม.มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 2.1 ล้านหลังคาเรือน สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าขยะได้ประมาณ 1.9 ล้านครัวเรือน ที่เหลือมีปัญหาไม่สามารถเก็บได้ เนื่องจากบ้านปิดร้าง หรือเป็นบ้านเช่าอาศัย ซึ่งอาจยุ่งยากติดขัดในตอนเรียกเก็บ แต่ถือว่าสามารถเก็บได้ใกล้เคียงกับฐานที่มีอยู่

ปี 2557 ที่ผ่านมา กทม.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนได้เพียงปีละ 450 ล้านบาท สวนทางกับค่าบริหารจัดการขยะที่สูงถึงปีละ 6,000 ล้านบาท

สุวพร บอกว่า เม็ดเงินที่เก็บได้กับสิ่งที่จ่ายนั้นห่างกันมาก เนื่องจากหน่วยงานราชการมีบริบทในการทำงานที่มุ่งเน้นสร้างความสุขและการบริการประชาชนเป็นหลัก ต่างจากเอกชนที่มุ่งหวังผลกำไร   

"รัฐไม่ได้มองผลกำไร เพียงแต่การขึ้นค่าธรรมเนียมให้สูงขึ้นบ้างเท่ากับเป็นการสร้างความรับผิดชอบที่มากขึ้นให้กับประชาชน  เพื่อให้คุณเข้าใจว่าต้องไม่พยายามผลิตขยะเพิ่มและพยายามลดปริมาณการใช้ให้น้อยลง ถ้าคุณทิ้งน้อยก็เสียค่าขยะน้อย ขณะเดียวกันขยะที่น้อยก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการทำลายและจัดเก็บก็จะน้อยลง ทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาหรือสร้างคุณประโยชน์ในด้านอื่นๆได้อีก ขอยืนยันว่าการเพิ่มราคาไม่ใช่เพิ่มในลักษณะฮวบฮาบ จนมีปัญหากับประชาชนแน่นอน"

ถามว่าจะเป็นอย่างไรหากประชาชนไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมเก็บขยะ? สุวพรตอบว่าตามกฎหมาย ค่าธรรมเนียม ไม่มีโทษอาญาทางแผ่นดินเหมือนภาษี ถ้าไม่ชำระโทษระบุเพียงแค่ต้องชดใช้คืนทางแพ่งเท่านั้น

"ถ้าเป็นไฟฟ้า ประปา สามารถตัดน้ำตัดไฟได้เลย แต่ขยะ ถ้าไม่จ่าย จะมีการฟ้องร้องเรียกชดใช้คืนในภายหลัง มาตรการลงโทษไม่มี เพียงแต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล"

เจ้าหน้าที่ต้องเอาใจใส่

ปกครอง พลเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่  เผยว่า พื้นที่เขตหลักสี่มีประชากรตามทะเบียนบ้านอยู่ประมาณ 1 แสนคน ใน 79 ชุมชน ยังไม่รวมที่ไหลเวียนแต่ละวันอีกประมาณ 1 แสนคน ทั้งหมดสร้างขยะเฉลี่ยปริมาณ 140-160 ตันต่อวัน 

ที่ผ่านมามีประชาชนไม่จ่ายธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ โดยมีสาเหตุหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1.กลุ่มคนที่ไม่มีรายได้จริงๆ  2.ไม่ยอมจ่าย 3.อ้างว่าพักอาศัยอยู่บ้านเช่าไม่จำเป็นต้องจ่าย และ 4.กลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ

"กลุ่มคนที่อยู่บ้านเช่ามักจะอ้างว่าให้ไปเก็บกับเจ้าของบ้านสิ มาเก็บกับชั้นทำไม ส่วนกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ หรือผู้สูงอายุเขาก็บอกตรงๆว่าไม่มี เจ้าหน้าที่เราไปเก็บ 6 เดือนครั้ง รวมเป็นเงิน 120 ซึ่งเขาก็บอกว่าไม่มี”

ผช.ผอ.เขตหลักสี่ ขอความร่วมมือประชาชนว่า ทุกคนต้องช่วยกันสร้างขยะให้น้อยลงที่สุด ไม่ใช่คิดแค่ว่าเป็นหน้าที่ของกทม. เพราะท้ายที่สุดแล้ว เงินที่เสียไปก็คือเงินภาษีของทุกคน ทั้งนี้หากขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขยะเป็น 150 ต่อเดือนเชื่อว่าเกิดปัญหา

"ส่วนที่ว่าจะเก็บ 3 เดือนครั้งหรือ 6 เดือนครั้ง เนื่องจากแต่ละเขตมีเจ้าหน้าที่จำกัด ขณะที่ประชาชนก็เรียกร้องให้เก็บทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือนมากกว่าที่จะมาเก็บทุกเดือน"

"จ่ายค่าขยะ"... มากกว่าหน้าที่คือความรับผิดชอบ

ลองมาฟังเสียงของผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเก็บขยะกันบ้าง เริงศักดิ์ ยศประยูร หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตดอนเมือง กล่าวว่า ขั้นตอนการเก็บค่าขยะ โดยทั่วไปจะจัดเก็บทุก 3 เดือน เท่ากับ 60 บาท  สำหรับเขตดอนเมืองไร้ปัญหาในการจัดเก็บ ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี และทำให้สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9 ล้านบาทต่อปี

การประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และบริการอย่างเต็มความสามารถ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเก็บค่าขยะเป็นไปอย่างราบรื่น

เริงศักดิ์ บอกว่า เขตดอนเมืองกำหนดให้มีการจัดเก็บขยะเฉลี่ย 190 ตันต่อวัน ในพื้นที่ 36.8 ตารางกิโลเมตร ตามระยะเวลาที่กำหนด คือ ช่วงเช้าตั้งแต่ 5.00 น. – 12.00 น. และบ่าย 13.00 น.-16.00 น. เมื่อประชาชนได้รับบริการที่ดีแล้ว ย่อมเต็มใจที่จะจ่ายเงินค่าบริการให้กทม. แลกกับความสะอาดเรียบร้อย

"ผมคิดว่า ประชาชนจะจ่ายหรือไม่จ่ายนั้นอยู่ที่การทำงานที่เข้มแข็งและความเอาใจใส่ครบถ้วนของเจ้าหน้าที่ เชื่อว่าหากมีสองอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่ประชาชนจะให้ความร่วมมือ" 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน คงเป็นไปได้ยากที่จะเก็บค่าธรรมเนียมสูงถึง 150 บาท แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามคือ “ความรับผิดชอบ” ที่ไม่ได้สะท้อนออกมาผ่านแค่ตัวเงิน แต่หมายถึงการจัดการกับขยะของตัวเองก่อนลงถังด้วย