posttoday

เจาะลึกสัมปทานรถเมล์สาย8

31 มีนาคม 2557

ส่องที่มาสัมปทานรถประจำทางสาย8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ กับคำถามเรื่องคุณภาพในการบริการและการทบทวนการให้สัมปทานแก่เอกชน

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึงเดือน รถประจำทางสาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ก็ตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง

คราวก่อนเบียดรถเก๋งตกถนน มาคราวนี้ก่อเหตุชนมอเตอร์ไซค์ล้มคว่ำจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย

มาตรการลงโทษทั้งหลายถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวด ตั้งแต่ปรับเงิน ทำทัณฑ์บน ยึดใบอนุญาตขับขี่ พักการเดินรถชั่วคราว จนถึงไล่ออก แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาดเสียที

วันนี้แนวคิดเรื่อง "ยกเลิกสัญญา" จึงถูกสังคมหยิบยกขึ้นมาพูดกันอีกครั้งอย่างจริงจัง ดังที่ระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการและกำกับดูแลรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ พ.ศ.2550 ข้อ 20.2 เรื่องการเลิกสัญญา ระบุไว้ว่า

"องค์การมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาผู้ประกอบการที่กระทำผิดสัญญา หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศขององค์การและกฎหมายต่างๆ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนและผู้ใช้บริการ การพิจารณาความเสียหายในกรณีใดเป็นความเสียหายร้ายแรง เป็นสิทธิองค์การ"

จากข้อมูลขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. พบว่า ผู้ประกอบการรถประจำทางสาย 8  แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ มีทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย บริษัททรัพย์ 888 จำกัด มีจำนวนรถทั้งหมด 26 คัน พนักงานขับรถ 33 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 33 คน บริษัทไทยบัส จำกัด จำนวนรถ 26 คัน พนักงานขับรถ 34 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 34 คน บริษัทกลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด จำนวนรถ 20 คัน พนักงานขับรถ 25 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 25 คน

ทั้งสามบริษัท เป็นผู้ประกอบการที่เดินรถมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ มีการศึกษา บ้างก็ร่ำเรียนจนจบจากเมืองนอก มีวิสัยทัศน์ ทั้งยังบริหารจัดการองค์กรได้อย่างทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล

จิตรา ศรีรุ่งเรือง รองผอ.ฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมามีผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการมากกว่า 74 บริษัท ยื่นเรื่องขอนำรถโดยสารเข้าร่วมเดินรถกับทางขสมก. ทั้งรถปรับอากาศ รถธรรมดา (รถร้อน) และรถมินิบัส รวมทั้งสิ้น 4915 คัน

ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการและกำกับดูแลรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ครั้ง กำหนดให้รถเอกชนร่วมบริการทุกคันต้องเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV โดยแบ่งประเภทเงื่อนไขการสัมปทานไว้ดังนี้ รถสภาพเดิม แต่มีการดัดแปลงเครื่องเป็น NGV ได้รับสัญญา 7 ปี รถสภาพเดิม แต่เปลี่ยนเครื่องใหม่ ได้รับสัญญา 10 ปี และรถใหม่ป้ายแดง จะได้รับสัญญานานถึง 15 ปี

ทั้งนี้ กำหนดอัตราค่าตอบแทน (ค่าเข้าร่วมครั้งแรกที่รถเอกชนร่วมบริการจะต้องชำระให้ทางขสมก.) รถปรับอากาศคันละ 6 หมื่นบาท รถธรรมดา 4 หมื่นบาท  นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนรายวันอีก รถปรับอากาศ วันละ 60 บาท รถธรรมดา 35 บาท อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บวกกับนโยบายรถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง จึงพากันยื่นเรื่องขอให้ลดค่าตอบแทนรายวันลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในที่สุดบอร์ดขสมก.ก็ได้มีมติให้ลดราคาลงมา 50%  

"สาย 8 ไม่แน่ใจว่าเป็นรถเมล์ร่วมบริการที่ทำเงินสูงเป็นอันดับต้นๆหรือเปล่า ตอบไม่ได้ แต่ยอมรับว่าเป็นเส้นทางเดินรถที่ยาวและมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก บางบริษัทก็มีการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน บางบริษัทก็ใช้วิธีแบ่งเปอร์เซนต์เป็นค่าตอบแทนให้ อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาขับเร็ว วิ่งแข่งกัน เพื่อแย่งกันหารายได้"

ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบรถเอกชนรวมบริการมานาน รองผอ.จิตรา ยืนยันว่าพฤติการณ์ของรถเมล์สาย 8 ถือว่าดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน  

"จากการตรวจสอบพบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงกว่า 22 % ขณะที่เรื่องร้องเรียน ตั้งแต่มีการติดตั้งกล่องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบนรถทุกคันพบว่าลดลงกว่า 25 % มีคำชมในระดับดีมากถึง 50 % พอใช้ 40 % แย่มากเพียง 2.5 % เท่านั้น เรียกว่ากำลังค่อยๆพัฒนาไปในทางที่ดี แต่อาจจะเป็นเพราะว่าพฤติกรรมในอดีต ทำให้สาย 8 ถูกตราหน้าไปแล้วว่าเป็นจำเลยของสังคม ภาพลักษณ์ไม่ดีจึงถูกจับตาเป็นพิเศษ เวลาเกิดเหตุไม่ว่าจะเล็กน้อยก็มักจะตกเป็นข่าวอยู่เสมอ"

ทุกครั้งที่เกิดเรื่อง จะมีการเรียกนายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการที่ก่อเหตุ เข้ามาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก มีทั้งกำชับสายตรวจให้ดูแลตรวจตราเป็นพิเศษ ส่งพนักงานไปอบรม พักงาน ไล่ออก ถึงขั้นมีคนเสนอไอเดียว่าจะเปลี่ยนชื่อสาย 8 แก้อาถรรพ์กันเลยทีเดียว

ที่ผ่านมา เคยมีการยกเลิกสัญญารถเอกชนร่วมบริการเพียงครั้งเดียวคือ สาย 6 เนื่องจากไม่ต่อสัญญา แต่กลับนำรถออกวิ่งรับผู้โดยสาร ไม่ต่างอะไรจากรถเถื่อน กรณีร้ายแรงเช่นนี้ ทางขสมก.มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที

เจาะลึกสัมปทานรถเมล์สาย8

คำถามที่ว่าเพราะเหตุใดถึงยกเลิกสัมปทานรถเมล์สาย 8 ไม่ได้ ได้รับคำตอบว่า หนึ่ง ปัจจุบันมีจำนวนรถโดยสารไม่เพียงพอ ยังไม่พร้อมที่จะจัดรถจากสายอื่นไปทดแทนสาย8 ทั้ง 72 คัน อีกทั้งยังขาดแคลนบุคลากร อาชีพพนักงานขับรถประจำทาง ถือเป็นอาชีพที่งานหนัก เหนื่อย และมีความเครียดสูง หากยกเลิก ประชาชนเดือดร้อนแน่

สอง สาเหตุทั้งหมดทั้งปวงที่เกิดขึ้น มาจากตัวบุคคล นั่นคือพนักงานขับรถคันดังกล่าว มิใช่ผู้ประกอบการ ดังนั้นการยกเลิกสัญญาอาจไม่เป็นธรรมนัก

รองผอ.ฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. กล่าวว่ารถร่วมประจำทางสาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ กำลังจะหมดสัญญาในปี 2559 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางขสมก.กำลังพิจารณาทบทวนว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ โดยพิจารณาจากสถิติร้องเรียน สถิติอุบัติเหตุ การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ

อีกไม่นานคงรู้ผลกัน