posttoday

"รถเมล์สาย8"มหากาพย์ความซ่าบนถนนกทม.

11 มีนาคม 2557

พฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับรถเมล์ร่วมบริการสายนี้อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดมาตรการที่เข้มงวด

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

"สาย 8 อีกแล้วเหรอ?"

ปฏิกิริยาแรกของใครหลายคน ทันทีที่ทราบถึงวีรกรรมของรถประจำทางสาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ที่เบียดรถเก๋งจนลอยคว้างกลางถนน ตกเป็นข่าวฉาวสะท้านเมือง 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รถเมล์ในตำนานสายนี้ตกเป็นจำเลยของสังคม ในฐานะรถประจำทางยอดแย่ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา พฤติกรรมขับซิ่งน่าหวาดเสียว ปาดซ้ายแซงขวา ผ่าไฟแดง แสดงกิริยาไม่สุภาพ ไม่ทอนเงิน ทะเลาะวิวาทกับผู้โดยสาร ถึงขั้นชนคนตายเพราะความประมาท สร้างความเอือมระอาแก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง

แต่ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

เมื่อเร็วๆนี้ "โพสต์ทูเดย์" ได้ไปใช้บริการรถประจำทางสาย 8 ตั้งแต่เที่ยวไปยันเที่ยวกลับ เริ่มต้นที่กรมการขนส่งทางบก-สะพานพุทธ ส่วนเที่ยวกลับ จากสะพานพุทธ-แฮปปี้แลนด์ และบรรทัดต่อไปคือประสบการณ์ตลอดเส้นทางที่ได้รับ

เวลาประมาณ 20.00 น. ขณะยืนรออยู่ที่ป้ายรถประจำทางหน้ากรมขนส่งทางบก รถประจำทางสาย 8 สีชมพูหวานพุ่งพรวดจากเลนขวาสุดปาดเข้ามายังเลนซ้าย แถมจอดเลยป้ายไปเกือบ 100 เมตร ผู้โดยสารที่มีทั้งนักศึกษา คนทำงาน ผู้สูงอายุต่างวิ่งตาลีตาเหลือกเพื่อรีบขึ้นรถให้ทัน

รถคันดังกล่าววิ่งเลนขวาสุดตลอด แถมยังจอดไม่ตรงป้ายเลยสักครั้งเดียว ขัดแย้งกับสติกเกอร์คำว่า "ซ้ายตลอด จอดทุกป้าย" ที่ติดไว้เด่นหราเหนือกรอบหน้าต่าง แถมพุ่งไปข้างหน้าเวยความเร็ว กระชากกระชั้น พยายามแซงคันหน้าทุกครั้งที่มีโอกาส ชอบบีบแตรเสียงดังหลายครั้งตลอดเส้นทาง ประตูทางขึ้น-ลงถูกเปิดอ้าซ่าตลอด บางขณะก็ขับแข่งกับรถเมล์ร่วมสายจนถึงขั้นผ่าไฟแดง

การเดินทางเต็มไปด้วยความระทึก ผู้โดยสารนั่งนิ่งเงียบ สองมือเกาะเก้าอี้ด้านหน้าแน่น ไม่ต่างอะไรกับกำลังนั่งรถไฟเหาะ เสียงดังครืนโครมของเก้าอี้เหล็กสั่นสะเทือนอย่างน่ากลัวว่ารถจะพังแตกเป็นชิ้นๆ

ขณะที่พฤติกรรมของพนักงานเก็บค่าโดยสาร แม้จะพูดจาสุภาพกับผู้โดยสารขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างดี แต่ก็หันไปผรุสวาทกับโชเฟอร์อย่างครื้นเครงโดยไม่สนใจใคร

"รถเมล์สาย8"มหากาพย์ความซ่าบนถนนกทม.

บทสนทนาระหว่างโชเฟอร์หนุ่มเลือดร้อนและกระเป๋ารถเมล์สาวสุดเปรี้ยวระหว่างเส้นทางทำผู้โดยสารสะดุ้งเป็นระยะ

"8บาทคร๊า" พนักงานเก็บโดยสารสาวพูดเสียงรื่นหู ขณะต้อนรับลูกค้าที่เพิ่งขึ้นมาบนรถ

"เหี้...เอ๊ย แม่งไม่รีบไปวะ"โชเฟอร์สบถอย่างกราดเกรี้ยว เมื่อเห็นรถคันหน้าชักช้าไม่ทันใจ

"มึ...จะจ่อดากเค้าทำไม ออกซ้ายไปสิ"กระเป๋ารถเมล์สาวตะคอกคนขับ ยุให้แซงซ้าย

"ผ่าแ...งเลย อีกตั้ง 15 วิ"กระเป๋ารถเมล์สาวใจร้อน ตบไหล่โชเฟอร์ ให้ผ่าไฟแดง เมื่อถนนว่าง

"เดี๋ยวค่าาาา ค่อยๆลง เอ้า เร็วๆสิคะ ระวังรถด้วย"กระเป๋ารถเมล์สาวตะโกนบอกผู้โดยสารอย่างไม่สบอารมณ์ ขณะจอดส่งนอกป้าย

"อี...นี่ ชักช้า"กระเป๋าคนเดิมตะโกนไล่หลังหญิงสูงวัยคนหนึ่งลงจากรถด้วยความเชื่องช้า

"ค....! อย่าให้เจอที่ท่านะไอ้....(หัวเราะ)"ทั้งคู่หัวเราะเสียงดัง ขณะขับไล่บี้แข่งกับเพื่อนรถเมล์ร่วมสาย

"บุหรี่กูอยู่ไหนวะ"คนขับพูดพลางควานหาบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ

"อ๋อ รถจากสะพานพุทธไปแฮปปี้แลนด์หมด 5 ทุ่มค่า"พนักงานเก็บค่าโดยสารตอบลูกค้าเสียงหวาน

"เอ้า อี.... ลงสิ เอาเงินมาด้วย จะไปเซเว่น"ทันทีที่รถถึงท่า โชเฟอร์ก็ลุกขึ้นด้วยรีบร้อน ก่อนตะคอกใส่เพื่อนร่วมงานอารมณ์หงุดหงิด

ฯลฯ

ผู้โดยสายรายหนึ่งที่ใช้บริการมานานนับสิบปียอมรับว่าเวลากลางคืน ถนนโล่ง ยิ่งอันตราย  

"โหนรถเมล์มาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมจนตอนนี้อายุ 30 กว่าแล้วก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม คนขับยังซิ่งไม่เปลี่ยน กระเป๋ารถมารยาทแย่ พูดตรงๆว่าเหมือนคนที่จะมาทำงานบนนี้ได้ต้องเถื่อน พร้อมจะมีเรื่องได้ทุกเวลา พอตกเป็นข่าวทีไร ก็จะมีมาตรการลงโทษครั้งหนึ่ง แต่ไม่นานต่างคนต่างลืม ผู้โดยสารอย่างเราก็จะชิน และทำใจได้เอง"

รถประจำทางสาย 8 ได้รับอนุมัติให้เดินรถได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2475 จนถึงวันนี้รวมทั้งสิ้น 81 ปีแล้ว (จากประวัติข้อมูลเส้นทางรถเมล์ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพ ปี 2486) โดยมีบริษัท นายเลิศ จำกัด เป็นผู้ประกอบการรายแรก ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มบริหารรถเมล์เอง เมื่อปี 2519 ทุกวันนี้รถเมล์สาย 8 เป็นสัมปทานของบริษัทรถร่วมบริการรวม 3 ราย  

ปัจจุบัน เส้นทางเดินรถ เที่ยวไป เริ่มต้นที่ตลาดแฮปปี้แลนด์ แยกขวาไปตามถนนลาดพร้าว ถึงปากทางลาดพร้าว แยกซ้ายไปตามถนนพหลโยธิน แยกขวาไปตามถนนราชวิถี แยกซ้ายไปตามถนนพระราม 6 แยก โรงพยาบาลรามาธิบดี (รพ.รามาธิบดี) ขวาไปตามถนนศรีอยุธยา แยกซ้ายไปตามถนนสวรรคโลก แยกขวาไปตามถนนหลานหลวง แยกซ้ายไปตามถนนวรจักร ถนนจักรวรรดิ์ แยกซ้ายไปตามถนนข้างสะพานพระปกเกล้า ลอดใต้สะพานพระปกเกล้า ไปตามถนนลอดใต้สะพานพุทธฯ จนสุดเส้นทางที่ใต้สะพานพุทธฯ (ฝั่งพระนคร)

เที่ยวกลับ เริ่มต้นที่บริเวณใต้สะพานพุทธฯ (ฝั่งพระนคร) ไปตามถนนลอดใต้สะพานพุทธฯ แยกซ้ายไปตามถนนจักรเพชร แยกขวาไปตามถนนอัษฎางค์ แยกขวาไปตามถนนพระพิทักษ์ แยกซ้ายไปตามถนนตรีเพชร แยกขวาไปตามถนนเจริญกรุง แยกซ้ายไปตามถนนจักรวรรดิ์ ถนนวรจักร แยกขวาไปตามถนนหลานหลวง โรงพยาบาลรามาธิบดี (รพ.รามาธิบดี) แล้วไปตามเส้นทางเดิม จนสุดเส้นทางที่ตลาดแฮปปี้แลนด์

ราคาค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสาย เวลาวิ่งตั้งแต่ 04:00 - 23:00 น.(หรือบางวันอาจมีวิ่งตลอดทั้งคืน) ผ่านทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รวมถึงแหล่งค้าขายสำคัญของกรุงเทพ จึงไม่น่าแปลกใจที่รถประจำทางสายนี้จะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่คนทำงาน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมได้เปิดเผยสถิติร้องเรียนปัญหาการให้บริการรถเมล์ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการ ผ่านสายด่วน 1384 ในปีงบประมาณ 2556 พบว่า มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 3,863 ครั้ง โดยสายรถเมล์ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในปี 2556 ประเภทรถธรรมดา อันดับหนึ่ง ยังเป็นของรถเอกชนร่วมบริการสาย 8 โดยติดหนึ่งในสามที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากสุดถึง 11 เดือน และติดอันดับหนึ่งถึง 7 เดือน เฉลี่ยถูกร้องเรียนเดือนละ 20 ครั้ง  

ปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามาเยอะที่สุด ในส่วนของพนักงานขับรถ ได้แก่ ขับรถช่องขวาไม่หยุดรับ-ส่ง ขับเร็วปาดซ้ายแซงขวา เบรกแรง ขับประมาทหวาดเสียว ขับรถขวางการจราจร ปิดประตูหนีบผู้โดยสาร ส่วนพนักงานเก็บเงิน ได้แก่ แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ เก็บค่าโดยสารเกินราคา ไม่ทอนเงิน ฉีกตั๋วไม่ตรงตามอัตราที่กำหนด รวมทั้งไล่ผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมาย

"รถเมล์สาย8"มหากาพย์ความซ่าบนถนนกทม.

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการณ์รมว.คมนาคม ถึงกับเคยทดลองเดินทางไปใช้บริการรถประจำทางสาย 8 ด้วยตัวเอง เมื่อ15 ส.ค. 2556 เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมา โดยโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กว่า

"วันนี้มาลองขึ้นรถเมล์สาย 8 ทั้งขาออกและขาเข้าเมือง รถที่ผมได้นั่งทั้งสองคันไม่ซิ่งมากนัก (สงสัยเพราะว่ารถติด) คุยกับกระเป๋า น้องเขาบอกว่าคนขับกับกระเป๋าไม่มีเงินเดือนครับ ต้องแบ่งรายได้จากค่าตั๋ว เลยต้องพยายามรับผู้โดยสารให้ได้เยอะ ๆ น้องกระเป๋าเริ่มงานตี 5 ถึง 5 ทุ่ม ส่วนรายได้พออยู่ได้ แต่ต่างจาก ขสมก. ที่พนักงานมีเงินเดือนประจำ และแบ่งจากค่าตั๋วนิดหน่อยครับ"

ขณะที่ แนวทางการแก้ไขปัญหา กระทรวงคมนาคม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ต่างหารือกันหลายโอกาสหลายวาระ นอกจากโทษสูงสุดคือไล่ออก พักงาน จนถึงส่งไปฝึกอบรมโดยทหาร  ล่าสุดได้ติดตั้งกล่องรับร้องเรียนจากผู้โดยสารในรถทุกคัน

นเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. เผยว่ามีมาตรการในการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการทั้งรถของ ขสมก.และรถร่วมเอกชนอย่างต่อเนื่องปีละ 2 ครั้ง และตรวจโดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อีกปีละ 2 ครั้ง นอกเหนือจากการตรวจสภาพรถตามตารางคู่มือ รวมถึงตรวจสภาพรถและพนักงานประจำรถ คือคนขับและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ก่อนออกจากท่าทุกครั้ง ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างความมั่นใจกับประชาชนได้ระดับหนึ่ง

หลังจากเหตุการณ์ล่าสุดนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยจะสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการของประชาชน หากพบว่ามีพนักงานขับรถหรือเก็บค่าโดยสารคนใดมีประชาชนไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า 10% จะมีการติดตามทั้งจากนายตรวจสายตรวจพิเศษและนายท่าเป็นกรณีพิเศษ

จิตตรา ศรีรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการของขสมก. บอกว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุก็ไม่เคยนิ่งนอนใจ จะรีบแจ้งไปยังผู้ประกอบการทันที เบื้องต้นจะมีการสั่งพักรถไว้ก่อน เรียกให้คนขับได้เข้ามาชี้แจงเพื่อความเป็นธรรมของต่อทั้งสองฝ่าย

ภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า การขับรถเมล์เป็นงานหนักกว่าอาชีพอื่น ทำให้ขาดแคลนคนขับรถอย่างมาก จึงอยากขอความเห็นใจประชาชนให้เข้าใจปัญหา และเห็นใจผู้ประกอบการด้วย นอกจากนี้ รถร่วมยังได้รับผลกระทบจากมาตรการรถเมล์ฟรี ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ผู้ประกอบการได้เสนอขอให้รัฐบาลรับรถร่วมเข้าโครงการด้วย ซึ่งจะทำให้มีรถเมล์ฟรีบริการประชาชนถึง 2 พันคัน โดยขออุดหนุนรถร้อน 6 พัน บาทต่อวันต่อคัน รถปรับอากาศ 7.5 พันบาทต่อวันต่อคัน แต่รัฐบาลอ้างว่าเป็นมาตรการระยะสั้น จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เลิกมาตรการ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนอย่างหนัก

"รถเมล์สาย8"มหากาพย์ความซ่าบนถนนกทม.

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเด็ดขาดจากภาคประชาชน เมื่อ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก.ต้องเพิกถอนสัมปทานรถเมย์สาย 8 โดยทันที โดยมีเนื้อสาระดังนี้

ตามที่ปรากฏต่อสาธารณชนโดยชัดแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้มีรถร่วมบริการเอกชนสาย 8 หมายเลข 36-115 ได้ขับรถเบียดรถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนในช่องเลนขวาสุด หน้าสวนจตุจักร ถนนพหลโยธิน สร้างความหวาดผวากับผู้ขับขี่ยานยนต์และประชาชนผู้โดยสาร และผู้พบเห็นโดยทั่วไปแล้วนั้น

พฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับรถเมล์ร่วมบริการสายนี้ จนเป็นที่โจษขานกันโดยทั่วไปของประชาชนและผู้โดยสาร อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดมาตรการที่เข้มงวด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตของสัมปทานที่มีต่อองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม

การปล่อยให้ผู้ขับขี่ (พขร.) หรือแม้แต่พนักงานเก็บเงิน (พกส.) และเจ้าของสัมปทานเส้นทางเดินรถดังกล่าว กระทำความผิดซ้ำซากในลักษณะสร้างความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับผู้สัญจรโดยสารบนทางสาธารณะ อันเป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 32 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เข้าข่ายการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชัดแจ้งของหน่วยงานผู้ให้สัมปทานและกำกับดูแล

การลงโทษ พขร. โดยการสั่งพักงานเพียงแค่ 5 วันนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นหรือความอุ่นใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ กรมการขนส่งจะต้องเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะของ พขร.ดังกล่าว รวมทั้งถึงเวลาแล้วที่ ขสมก. และกระทรวงคมนาคมจะต้องพิจารณา “สั่งเพิกถอนสัมปทานรถเมล์สาย 8 ทั้งหมดโดยทันที” เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อผู้รับสัมปทานรายอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับประชาชน ผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวได้ในที่สุด

กรณีซ้ำซากเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญหาก ขสมก. และกระทรวงคมนาคม ไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เด็ดขาดตามข้อเรียกร้องนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จำเป็นที่จะต้องหาข้อยุติเพื่อปกป้องคุ้มครองการโดยสารของประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลสั่ง ขสมก.และกระทรวงคมนาคมเพิกถอนสัมปทานรถเมล์สาย 8 ทั้งหมดต่อไป (ประกาศ ณ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2557)

นี่คือเรื่องราวของรถเมล์ที่อื้อฉาวที่สุด มหากาพย์ความซ่าบนท้องถนนกรุงเทพท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของผู้โดยสารและผู้สัญจรร่วมถนน