posttoday

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

13 กุมภาพันธ์ 2563

เรื่องราวของสาวอีสานผู้สู้ทุกคำดูถูก หอบกระเตงลูกกลับบ้าน ทิ้งงานระดับเอ็นจีโอ มาทำผ้าย้อมครามที่เคยสูญหายกว่า 50 ปี ให้มีชีวิตอีกครั้ง

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล ภาพ...ณัฐพล โลวะกิจ

‘ประไพพันธ์ แดงใจ’ หรือ ‘ป้าจิ๋ว’ สาวสูงวัยอายุ 60 ปี เจ้าของแบรนด์ผ้าย้อมคราม ‘แม่ฑีตา’ ในแวดวงผ้าคงไม่ต้องแนะนำให้มากความถึงความงดงามและความพิเศษอันทรงคุณค่าเหล่านี้

ตลอดระยะเวลา 24 ปี ที่ทิ้งเมืองหลวง พาครอบครัวและตัวเองกลับบ้าน ปลุกปั้นให้ผ้าย้อมครามกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังความตายในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

เธอทำให้โลกรู้จักผ้าย้อมครามแดนอีสานจากไทยแลนด์ ที่ขนาด ‘แบรด พิตต์’ ดาราดังยังสวมใส่เข้าฉากหนังเสริมความยิ่งใหญ่มหากาฬสงครามกรุงทรอย

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

หอบลูกทิ้งเมืองกรุงต่อลมหายใจ ‘ผ้าย้อมคราม’ 

ประไพพันธ์ เกิดและเติบโตที่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในช่วงปีพ.ศ. 2502 พื้นที่ทางภาคอีสานยังคงความเป็นธรรมชาติและวิถีชีวิตพื้นถิ่นกันอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทอผ้าในครัวเรือนอย่าง ‘ผ้าหม้อนิล’ หรือ ‘ผ้าคราม’ เป็นของใช้ประจำบ้านที่ต้องทุกต้องมีสวมใส่ เธอเองก็ได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงเป็นเด็กแบเบาะเพิ่งเกิดด้วยซ้ำ

“วัฒนธรรมผู้หญิงอีสานในอดีตต้องทอผ้าเป็นใครไม่เป็นหาสามีไม่ได้ ทุกๆ บ้านสมัยเด็กน้อยมีผ้าย้อมครามเป็นข้าวม้า ผ้าห่ม ผ้าถุง ผ้าอุ้มลูก”  

ความผูกผันระหว่างผ้าย้อมครามและประไพรพันธ์ พอโตมาหน่อยก็ใส่กระโปรงผ้าย้อมครามของยายทวดไปโรงเรียนประถมและมัธยม กระทั่งเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยประเทศไทยเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมตามโลกสากล ทำให้เส้นใยผ้าสีนิลค่อยๆ เลือนหายไป

“โลกเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร ทุกอย่างมีเครื่องจักรทำงาน ทำให้ความรู้หรือภูมิปัญญาเรื่องทอผ้า ย้อมผ้า หายไปจากประเทศไทย เพราะว่าเสื้อผ้าราคาถูกลงมาก มีมาขายเต็มบ้านเต็มเมือง ผ้าครามกว่าจะได้มันช้า เสียเวลา เสื้อย้อมคราม 1 ตัว ต้องดายหญ้า ปลูกต้นฝ้าย กว่าฝ้ายจะโต กว่าจะย้อมสี สีย้อมก็ต้องปลูกต้นครามให้โต กว่าจะได้เก็บใบมาทำสี ใครจะมานั่งทอผ้า”

ด้วยอาชีพเอ็นจีโอเทคโนโลยีพลังงาน หน้าที่หลักพัฒนาชีวิตเกษตรกร ต้องทำข้าวปลอดสารพิษ ทำการย้อมผ้าสีธรรมชาติแสดงตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็น ทว่าผ้าที่ขายนั้นกลับซีดไวเพียงแค่ซักไม่กี่ครั้ง เธอจึงพยายามมองหาผ้าย้อมครามดั้งเดิมอยู่เสมอแต่ก็หาไม่เคยพบ

ขณะที่แก้โจทย์ไม่ตกก็ประกอบกับความเบื่อหน่ายชีวิตกรุงเทพฯ ที่อึดอัดคัดเคือง ต้องเร่งรีบ เกิดเป็นคำถามว่าตนมาลำบากทำไม? บ้านที่จ.สกลนครนั้นแสนกว้างขวาง ทุ่งนาก็อุดมสมบูรณ์ บ่อปู-ปลาล้อมรอบเพียงใช้ความรู้ที่มีต่อเติมหยิบมือก็โต จึงตัดสินใจหอบลูกกลับบ้าน ซึ่งนั้นทำให้เธอพบกับ ‘คราม’ ในความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง  

“ถูกมองว่าเป็นโรคประสาท ทำงานดี ครูก็เป็นมาแล้ว เอ็นจีโอเงินเดือนหลานหมื่นดันกลับมาบ้านชวนแม่ย้อมผ้าคราม”

อดีตสาวเมืองกรุงหัวเราะเขิน เพราะมาชวนแม่ทำแต่แม่ก็ทำไม่เป็น เนื่องด้วยสมัยเป็นเด็กน้อยยายทวดรักแม่มากจึงกลัวเล็บดำ มือดำ ตัวติดกลิ่นหมักคราม แม่ของประไพพันธ์ก็เลยทำไม่เป็นเพราะความที่ยายอยากให้ลูกสาวสวย

“แต่แม่ก็ช่วยเต็มที่เพราะว่าอาย อุตส่าห์ส่งลูกสาวไปเรียนจนจบปริญญาตรี แต่เอาตัวไม่รอดอุ้มลูกกลับมาให้แม่เลี้ยง”

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

บ่ย่านดอกความลำบาก

เมื่อผ้ามัดย้อมครามธรรมชาติหายไปจากเมืองไทย ‘ต้นคราม’ แหล่งผลิตสีก็หายไปด้วยจากแดนสยาม

“ครั้งสุดท้ายที่เห็นคือยายทวดทำกระโปรงให้ใส่ ตอนนี้ที่กลับมาบ้านอายุ 36 ในประเทศไทยไม่มีที่ไหนปลูก มีแต่สีเคมีเคาะกระป๋อง เป๊งๆ รับย้อมผ้า ต้นครามที่เคยขึ้นๆ ก็มีสวนผลไม้เกษตรเชิงเดียว”

เหลือไว้เพียงแต่ชื่อ ด้วยช่องว่างที่ห่างออกๆ เพราะคนขายไม่ใช่คนทำ คนทำไม่ได้ออกมาขาย เหมือนอย่างส้มบางมดที่ชื่อยังคงอยู่และถูกนำมาใช้ขายตลอด แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มาจาแหล่งบางมดจริงๆ ที่ดินบางมดเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรรไปเสียหมด ต้นส้มสักต้นเดียวยังไม่มีเลย แม่ของประไพรพันธ์เลยต้องเร่ป่าวประกาศบอกชาวบ้าน “ผู้ใด๋สิไปเฮ็ดไร่แตงโม ไร่แคนตาลูป เจอเมล็ดเหมือนผักกาด เก็บมาให้ข่อยแหน่”

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

เดือนแรกผ่านไปก็ยังไม่พบ เดือนที่สองจะหมดแล้วก็ยังไม่ได้ เธอเผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ต้องเก็บผักและผลไม้ออกขายประทังฝัน จนเข้าสู่ปีที่ 3 พ.ศ. 2538 เช้าวันหนึ่งเสียงเรียกชื่อจิ๋วๆ เบาหน้าบ้านก็ทำให้หัวใจพองโต เมื่อลูกพี่ลูกน้องนำเมล็ดครามยื่นใส่มือให้ 8 เม็ด

ทุกๆ 3 เดือนที่ต้นครามโตเธอจะนำมาเพาะปลูกสะสมเรื่อยๆ ด้วยความดีใจ แต่ก็ได้ไม่นานต้องเจอกับปัญหาที่สอง คือไม่รู้ว่าดูยังไงว่าต้นแก่พอที่จะริดใบมาย้อมครามได้

“แม่ปลุกให้ตื่นตี4 ไปดักรอคนแก่ๆ ที่อยู่มาขายของป่าที่ตลาด ใครมือดำๆ เคี้ยวหมาก ใส่เสื้อขาดๆ กะไปถามโลด”

ที่ต้องทำอย่างนั้นสาเหตุเนื่องมาจากสมัยก่อน ‘ผ้าคราม’ ถือว่าเป็นผ้าของคนจน ชาวนา เพราะนอกจากเป็นสีย้อมที่หาง่าย คุณสมบัติยังทนสีไม่ซีด ทนร้อน แห้งไว ไม่ต้องซักบ่อยๆ แค่สะบัดๆ ตากแล้วนุ่ง

“เจอแม่ใหญ่คนหนึ่งบอกว่าเพิ่งเลิกทำ แต่เพิ่งเลิกของแกเหมือนถามชาวเขาว่าอีกไกลไหม คำว่าไม่ไกลของชาวเขาคือไกล สรุปไม่ได้ทำมาจะ 40 ปีแล้ว หาดูผ้าก็ไม่มีเหลือ มีแต่หม้อแตก ไหแตกที่เหลือบ้างนิดหน่อยในบ้าน”  

สุดท้ายด้วยความที่อยากจะทำก็สะสมความรู้ไปเรื่อยจากปากต่อปากของคนเฒ่าคนแก่นำองค์ความรู้ที่ได้มาปะติดปะต่อจนย้อมครามได้สำเร็จ

“พอเราอยากจะทำอะไรที่รักจะทำ เราก็จะหาความรู้สะสมไปเรื่อยๆ มันก็ง่ายๆ แค่นั้น”

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

ลุยโชว์ครามจนถูกหาว่าเป็น ‘ปอบ’

กรรมวิธีของการย้อมครามมี 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ 1.การสกัดสี ให้เกี่ยวต้นครามเอาทั้งใบและดอก มามัดเป็นฟ่อนๆ โดยให้เหลือต้นครามไว้ประมาณคืบถึงสองคืบ จากนั้นนำมาแช่นำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อให้สีของใบครามหลุดออกมา จากนั้นขั้นที่สองให้ใส่ปูนกินหมากลงไปในหม้อ โมเลกุลของสีน้ำครามที่ลอยหน้าน้ำจะมาเกาะเนื้อปูน รอกระทั่งปูนดูดสีครามจนจม และแยกเนื้อปูนออกมาแล้วเทน้ำทิ้ง

2.การเตรียมน้ำย้อม ต้องเตรียมน้ำหวาน น้ำเปรี้ยวและน้ำด่าง ซึ่งหาได้จากของหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า น้ำตาลทรายหรืออ้อย จากนั้นใส่มะขามเปียกทำน้ำเปรี้ยว ส่วนน้ำด่างใช้น้ำขี้เถ้าจากการเผาฟืนต้นมะละกอ ต้นมะพร้าว มากรองเอาแต่น้ำใส่ลงไปในน้ำย้อมที่มี เสร็จแล้วทิ้งไว้ 3-7 วัน ให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงสภาพก่อนนำมาย้อมผ้า ซึ่งสีในน้ำย้อมครามที่ดีจะมีสีเหลืองอมเขียวแบบสีของมะเขือสุก

“จุ่มครั้งแรกเอาเส้นฝ้ายค่อยๆ หยอดลง สีฟ้าครามสวยมาก” 

ต่อจาก 3-4 หม้อที่เริ่มทำก็เพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว จนถูกชาวบ้านมองว่าเป็นผีปอบ ตามความเชื่อโบราณกล่าวว่าถ้าบ้านไหนมีหม้อย้อมครามเกิน 5 หม้อ ซึ่งความจริงก็คือเมื่อมีหม้อย้อมครามเยอะ วันๆ จะไม่ได้ออกไปไหน คลุกทำแต่ย้อมครามเนื่องจากกระบวนการที่หลายขั้นตอน ที่นี้บ้านของป้าจิ๋วมีหม้อย้อมครามถึงกว่า 100 ใบ ชาวบ้านเลยขนานนามว่า 'บ้านหัวหน้าผีปอบ'

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

“แต่เราไม่สน มัวแต่ตื่นเต้นจากที่เฝ้ารอ ย้อมใส่ผ้าฝ้ายที่เราปลูก เราทอ อะไรที่เรานุ่ง เราห่ม เสื้อผ้าใส่เองย้อมหมด โก้มาก ไม่มีใครเหมือน รู้สึกแต่ดีใจมากใส่ไปอวดคนรู้จัก ไปเที่ยว ทีนี้ก็ไปฝากเพื่อนที่เปิดร้านขายเครื่องของเก่าที่เชียงใหม่ ราคาเมตรละ 700 บาท ไม่เคยเหลือ”

สาวสกลนคร อธิบายเหตุผล ทั้งๆ ที่แพงกว่าผ้าไหมที่ขายเมตรละ 200-300 บาท แต่ขายได้ดี เพราะมีชิ้นเดียวในโลก สีของครามในแต่ละครั้งที่ทำจะไม่เหมือนกัน ที่สำคัญทำจากธรรมชาติทั้งสีและเนื้อผ้าฝ้ายซึ่งทั้งโลกเหลืองานผลิตภัณฑ์แบบนี้น้อยมาก

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

ติดความภูมิใจให้คนไทย

หลังจากย้อมผ้าครามใช้เองและขายได้มากขึ้น ความมั่นใจของประไพพันธ์เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ จึงใช้ความรู้ปริญญาตรีทางด้านภูมิศาสตร์ การได้เรียนชั้นหิน ดิน ฟ้าและอากาศ ถอดสลักความสวยงามของธรรมชาตินั้นๆ มาประยุกต์ทำเป็นลวดลายแบบใหม่ได้หลากหลายสร้างเนื้อผ้าให้มีเรื่องราว     

จนในปี พ.ศ. 2540 ‘แบรนด์แม่ฑีตา’ กลายเป็นผ้าครามชื่อดังจากการเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และได้รับ Prime Minister's Export Award รางวัลสูงสุดของรัฐบาลที่มอบให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจดีเด่น เพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ของคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าไทยในตลาดโลก ลูกค้าต่างๆ เช่น อเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ ให้ความสนใจและชื่นชอบ ยกระดับผ้าครามเป็นของพรีเมียมมีคุณค่า ราคา ไม่ใช่ของคนรากหญ้าอีกต่อไป

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

ขณะที่ต่อมาพ.ศ. 2549 ดังไกลถึงฮอลลีวูด ความสวยงามของผ้าย้อมครามได้ถูกนำไปใช้แต่งกายประกอบในภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง ‘ทรอย’ นำแสดงโดย ‘แบรด พิตต์’ ขณะที่ในเมืองไทยผ้าย้อมครามก็ได้ทำละครเพลงผ้าฟ้าล้อมดาว แสดงโดยคุณนุ่น วรนุช 

“คนสนใจเรียนย้อมครามกันเยอะมาก ติดต่อมาขอวิชาความรู้จากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลย ก็สอนๆ ลูกหลานชาวบ้าน ใครที่สนใจมาเรียนมาเลย มีความรู้เสร็จให้เมล็ดครามให้ไปปลูกด้วย

“เราภูมิใจที่สามารถทำให้คนมีอาชีพ สามารถทำให้คนมีรายได้ส่งลูก สร้างบ้าน ดูแลครอบครัว เราก็ไม่ห่วง เพราะมันแสดงว่าสิ่งที่เราทำเราทำมาถูกทางแล้ว” เธอกล่าวทิ้งท้าย

และนี่ก็คือเรื่องราวของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาอนุรักษ์สิ่งของพื้นบ้านของคนไทยให้คงอยู่ ซึ่งปัจจุบันประไพรพันธ์ในวัย 60 ปี ยังคงทำหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็งบนเส้นทางของสีครามและใยฝ้าย พร้อมกับส่งไม้ต่อแบรนด์แม่ฑีตาให้กับลูกๆ เพื่อให้สีย้อมครามดั้งเดิมไม่สาบสูญไปอีกครั้งหนึ่ง

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก

แบรด พิตต์ ยังใส่ "ป้าจิ๋ว" สาวสกลผู้ปลุกชีพ 'ผ้าย้อมคราม' ไทยจนดังไประดับโลก