posttoday

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

29 กรกฎาคม 2562

จากผู้ป่วยมะเร็งมาเป็นนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย เปิดใจ "ป้าเจี๊ยบ-นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย" หญิงผู้เริ่มเล่น Longboard ในวัยใกล้ 60 จนก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งกีฬาซีเกมส์  

จากผู้ป่วยมะเร็งมาเป็นนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย เปิดใจ "ป้าเจี๊ยบ-นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย" หญิงผู้เริ่มเล่น Longboard ในวัยใกล้ 60 จนก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งกีฬาซีเกมส์  

*********************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

“ป้าเจี๊ยบ-นงลักษณ์ ชัยฤทธิไชย” หรือคุณแม่ของนักร้องนำแห่งวงมิราคูลัส “ดี้-โสธีระ ชัยฤทธิไชย” อาจมีเพียงแฟนคลับดนตรีหรือคนในกลุ่มรู้จัก แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นภาพคุณป้าผมสีดอกเลาวัย 62 ปี สวมชุดเซฟตี้ สวมหมวกกันน็อคใส่ถุงมือ ถือสเก็ตบอร์ดคู่ใจไถลงจากเนินเขาจ.แพร่ (สถานที่เก็บตัว) อาจเป็นภาพที่หลายคนเคยเห็นผ่านตาผ่านสังคมออนไลน์

ปัจจุบัน ป้าเจี๊ยบ คือ นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมประเภท ลองบอร์ด (longboard) ทีมชาติไทยที่เตรียมจะไปสู้ศึกซีเกมส์ที่ ฟิลิปปินส์ ในช่วงปลายปีนี้

กว่าจะมาถึงวันนี้ เธอต้องต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็งเต้านม เอาชนะคำปรามาสเรื่องอายุและความชราเพื่อยืนยันในการเล่นสิ่งที่รักอย่างลองบอร์ด ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนประเทศได้ในที่สุด

นี่คือคือเรื่องราวของ "แม่เจี๊ยบ"  และ "ป้าเจี๊ยบ" หรือ "พี่เจี๊ยบ" ที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ฝันได้เป็นอย่างดี

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

กลัวเท่ากับ ‘คนตาย’ ที่ยังหายใจ

“กลัวก็เท่ากับว่าเราตายไปแล้ว คือคำว่ามะเร็งทุกคนคิดว่าเป็นมะเร็งแล้วตาย แต่เราคิดอีกทางหนึ่ง มะเร็งมันก็อะไรสักอย่างที่มาอาศัยเรา ถ้าเราตายเขาตายด้วย อย่างนั้นถ้าเราไม่ตาย เขาจะตายไม่ตายเราไม่รู้ แต่เรายังอยู่ได้” ป้าเจี๊ยบเปิดฉากสนทนาถึงเส้นทางชีวิต

เธอเล่าว่า รู้จักกีฬาเอ็กซ์ตรีมตั้งแต่สมัยวัย 7-8 ขวบ โดยพี่ชายนักดนตรีที่เดินทางจากบ้านมาเรียนต่อกรุงเทพฯ เมื่อถึงช่วงโรงเรียนปิดเทอมเธอก็มักจะขึ้นมาเที่ยวและได้มีโอกาสตามพี่ชายไปเล่นดนตรีที่โคลีเซียม ที่นี้ทำให้เท้าของเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งโลดแล่นไปกับล้อของ ‘โรลเลอร์เบลด’ 

“ตั้งแต่เด็กๆ เป็นคนเล่นอะไรดื้อๆ มันอาจจะเป็นดีเอ็นเอเด็กต่างจังหวัด เล่นตามเพื่อน มีหัวโจก รุ่นพี่ชวนกันปั่นจักรยานไปเล่นน้ำลำตะคอง  พากันไปขึ้นเขาเป็นปกติ แต่มีปิดเทอมภาคเรียนขึ้นกรุงเทพฯ ไปหาพี่ชายที่มาเรียน และเขาไปเล่นดนตรีที่โคลีเซียม เราตามไปด้วยก็ไปเห็นโรลเลอร์เบลด มันดูน่าสนุกมากก็ขอเขาเล่น ทีนี้พอเปิดเทอมกลับไปบ้านก็ได้กลับไปคู่หนึ่ง เล่นไถ่ไปไถ่มา สักพักเราเล่นได้ทีละคน เพื่อนมาเล่นเราก็ต้องนั่งดู มันก็ไม่สนุก พอพังก็เลิกไป”

ป้าเจี๊ยบจบด้านอักษรศาสตร์ภาคพิเศษจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เติบโตเป็นพนักงานด้านการโรงแรม ก่อนจะมาเปิดบริษัททัวร์นำเที่ยวชาวต่างชาติเป็นของตัวเอง และสร้างครอบครัวจนมีลูกๆ 2 คน

“ไม่ได้เล่นอีกเลยตั้งแต่นั้น จะมีไปเล่นไอซ์สเก็ตบ้างสมัยสาวๆ  เล่นเอาสนุก จนมีลูก “ดี้-โสธีระ ชัยฤทธิไชย” นักร้องนำวงมิราคูลัส ก็คิดว่ากีฬาประเภทนี้มันสนุกดี ยิ่งมีเปิดให้เล่นในสถานที่ไม่ใช่ถนนแบบเด็กที่เราเล่นมันก็น่าจะปลอดภัย เราพาลูกไปเล่นเลยและสักพักพี่ชายก็ส่งสเก็ตบอร์ดจากอเมริกามาให้ก็พาเขาไปเล่นที่สวนสาธารณะแถวบ้านที่บางกะปิ ลูกเขาก็เล่นโดยที่เราเดินตามเขา จนเขา 3-4 ขวบ เราก็ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม”

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

โลกทั้งใบที่เคยกว้างแคบลงเหลือเพียงรั้วบ้าน ทิ้งงานและอดีตคนสนุกสนานชอบท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลของโรคมะเร็งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ การออกไปสถานที่นอกบ้านพัก เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโดยง่าย จึงต้องยุติกิจกรรมทั้งหมดถึง 2 ปี 

“เบื่อมากในระหว่างที่รักษามะเร็งอยากจะออกไปจากบ้าน ซึ่งพอเรามีพละกำลังออกไปได้ก็ตามลูกไปเล่นสเก็ตบอร์ดในสวนสาธารณะ เราก็ออกไปเดินเป็นเพื่อนเขา เดินๆ ไป หลายครั้งเราเบื่ออีก พอเขาพักเราก็เลยลองหยิบสเก็ตบอร์ดมาไถเล่นบ้าง ปรากฏว่ามันสนุกดีกว่าเดินตั้งเยอะ ไถ 1 ทีเหมือนเดิน 10 ก้าว”   

“ก็บอกลูกเลยว่าสอนแม่เล่นทีซิ” ตั้งแต่วันนั้นสุขภาพขอป้าเจี๊ยบที่เคยอ่อนแรงเหมือนใบสีไม้เข้มปลายกิ่งรอวันแห้ง ค่อยๆ กลับมาแข็งแรงสะพรั่งอย่างดอกแรกแย้มอีกครั้ง

“คือนอกจากมันสนุก สุขภาพมันก็ดีด้วยอย่างที่เขาบอกแค่ขยับก็เท่ากับออกกำลังกาย แต่การเล่นลองบอร์ดร่างกายมันได้ขยับในทุกส่วน ไม่ใช่แค่ใช้เท้าหนึ่งขึ้นไปยืนแล้วเอาเท้าหนึ่งไถ แต่เราต้องทั้งทรงตัวบนกระดาน เจอโค้งก็ต้องเอี้ยวตัวเลี้ยว เอามือราพื้นเพื่อควบคุมความเร็ว และการจะทำความเร็วเราก็ต้องย่อตัวและเกร็งกล้ามเนื้ออีก ผลลัพธ์คือหัวใจมันได้ทำงาน พอหัวใจมันทำงานทุกอย่างมันก็ดี  แรกๆ ก็แค่เคล็ดขัดยอก แต่ตอนนี้ 6-7 ปี ไม่มีอาการป่วยโรคอะไรอีกเลย มะเร็งหาย เบาหวาน ความดัน โรคคนแก่ไม่มี”

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

วันนี้มีแต่ "คุณป้า" สุดเฟี้ยวและนักกีฬาทีมชาติวัยเก๋า 

นอกจากสุขภาพที่กลับมาแข็งแรง ล้อของกระดานบอร์ดได้ขยี้ลบความเชื่อที่ว่า “แก่แล้วก็ควรอยู่ส่วนแก่” โดยป้าเจี๊ยบได้กลายมาเป็นหนึ่งในบุคคลวัย 62 ปี ที่วัยรุ่นเคารพและนับถือในความเฟี้ยวคนหนึ่งในเมืองไทย 

“พอเล่นไปสักพักมันก็หลงรัก เราก็ไปเล่นกับลูกทุกที่ ชวนกันกลับบ้านไปเล่นที่ปากช่องที่ภูมิประเทศเหมาะบ้าง ไม่ก็พากันไปเล่นที่สะพานพระประแดงยังสร้างไม่เสร็จ ขึ้นกันไปแล้วก็ไถลองบอร์ดลงมา ช่วงปีประมาณปี พ.ศ. 2556 บ้านเราได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน world skateboard ให้นักเล่นมาเล่นสเก็ตบอร์ดกันในเมืองเยอะๆ เราก็ไปไถจากสวนรมณีนาถไปพระราม 8  คนก็แปลกใจป้าแก่มากแล้วป้ามาไถกับเขาที่อายุเฉลี่ยอยู่ 30 ปีลงมาทั้งนั้น เขาก็ชมบอกว่าป้าเฟี้ยว”

ป้าเจี๊ยบเผยด้วยว่า มีบ้างที่คนใกล้ชิดต่างห้ามปรามด้วยความหวังดีในสุขภาพ

“เขาบอกว่ารุ่นนี้อะไหล่ไม่มีเปลี่ยนแล้วนะทั้งเพื่อนทั้งคุณแม่ เราเข้าใจทุกคนเตือนเพราะหวังดี แต่เรามองอีกมุมจากที่เราสัมผัสมันไม่ใช่ จริงๆ จักรยานอันตรายเท่ากันเพียงคนนิยมมากกว่าก็เลยชินตา สเก็ตบอร์ดมีคนเล่นน้อยภาพมันก็เลยเป็นมายเซ็ตว่าอันตราย จริงๆ เรื่องอันตรายมีทุกที่ อยู่บ้านนอนตกเตียงก็อันตราย  มีคนเป็นอัมพาตเพราะการนอนตกเตียงก็มี  มะเร็งที่อยู่ๆ เรายังเป็นได้ เราคิดแค่นั้น คิดว่าทำอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข ดีที่สุด เราก็เลยไม่ค่อยไปกังวลกับคำพูดที่ว่าแก่แล้วอย่าเล่นเลย”

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

“จากที่เล่นไปเอาสนุกและร่างกายแข็งแรงแถมยังได้ใช้ชีวิตกับลูก เสน่ห์อีกอย่างของลองบอร์ดคือเราต้องไปเล่นบนเขา เราได้วิวทิวทัศน์ที่สวยงามเราได้อากาศที่ดี ได้เที่ยวพักผ่อนไปในตัว และก็ไปมีกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนๆ ต่างวัย ที่มีความรักความชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ออกทริปกลุ่มต่างๆ อย่าง จ.ชัยภูมิ จ.เพชรบูรณ์ จ.เชียงใหม่ พากันกางเต้นท์ มันก็กลายเป็นความชอบและรัก ต่อมาเกิดความชำนาญ พอซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ปีนี้ประกาศบรรจุกีฬาลองบอร์ดประเภทดาวน์ฮิลล์เป็นครั้งแรกในกีฬานานาชาติ ทางสมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมเลยประกาศหานักกีฬา” 

การประกาศคัดตัวเมื่อวันที่  20 เมษายนที่ผ่านมา จากผู้ลงสมัครประมาณ 30 คน ซึ่งป้าเจี๊ยบติด 1 ใน 3 ทัพนักกีฬาหญิงตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันประลองความเร็วในการดิ่งลองบอร์ดจากยอดภูเขาในระยะทาง 2-3 กิโลเมตรตามหลักกติกาสากลเพื่อมายังเส้นชัยด้วยระยะเวลาที่น้อยที่สุด ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 30 ช่วงวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค. 2562 นี้

“เราก็เริ่มจากตรงนั้นเราไม่ได้มีเป้าหมายว่าเราจะต้องมาให้ถึงวันนี้ แต่เราก็จะทำให้เต็มที่แม้ว่าทางเจ้าภาพเขาจะได้เปรียบที่กีฬาลองบอร์ดเข้ามาประเทศเข้าก่อนเรา ขณะที่บ้านเราเพิ่งจะเล่นกันราวๆ 10 ปี” ป้าเจี๊ยบกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าพร้อมกับคำสัญญาว่าจะทำเต็มที่ในศึกครั้งนี้เพื่อนำชัยชนะฝากพี่น้องชาวไทย 

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

‘คำตอบ’ ของชะตาถูกกำหนดจากวันนี้

เบื้องลึกของความสามารถทั้งหมดทั้งมวลของป้าเจี๊ยบ เกิดขึ้นได้เพราะ "ทัศนคติ" ในการดำเนินชีวิตที่ผลักดันให้มาถึงวันนี้

“จริงๆ เราเจ๋งได้ทุกอายุ อยู่ที่จะกล้าทำให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ ความเจ๋งมันไม่จำกัดอายุ แต่เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสังคมถึงไปจำกัดว่าคนกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่น วัยชรา วัยผู้ใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันรวมกันได้ คนแก่ยังอยู่กับเด็กเล็กๆ เลี้ยงหลานได้เลย แต่ทีนี้วัยรุ่นมีชีวิตที่อยู่นอกบ้านเยอะ คนแก่ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ถ้าเราออกไปนอกบ้านอย่างสยามเราก็เจอวัยรุ่น เราไปเดินปะปนกับเขา เขาไม่ได้มองเราด้วยซ้ำว่าเป็นคนแก่ที่มาเดินปนกับเขา”

ป้าเจี๊ยบบอกต่ออีกว่า “แค่อิสระ ชีวิตเป็นอิสระ” คือสิ่งที่จะปลดล็อคทุกๆ อย่างในชีวิต ทั้งคนต่างวัยที่เป็นเพื่อนกันได้โดยที่คนพูดกันมานมนานว่ามันไม่มีทางเข้ากันได้ การเข้าใจวัยรุ่น การมีเพื่อนต่างวัยที่ห่างกันกว่าครึ่งอายุอย่างเธอ

“ชีวิตเราไม่รู้วันพรุ่งนี้จะเป็นยังไง ก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุดให้เรามีความสุขมากที่สุด” เธอย้ำ

“ปล่อยชีวิตให้มันทำเท่าที่ใจอยากจะทำ ทำเท่าที่เรามีความสุข ชีวิตคนบางคนยังไม่ได้ทำเลยมีความทุกข์ไปแล้ว เพราะกลัว  พอกลัวไปแล้วเราก็จะไม่ลงมือทำ  แต่เราไม่กลัว ป้ามีแฮชแท็กประจำตัวว่า เฟี้ยว เฟี้ยว ไม่ต้องเดี๋ยวก่อน คือเราคิดว่าไอ้นี้น่าทำ ทำเลย แล้วเราจะได้คำตอบว่าไอ้ที่เราคิดว่ามันน่ากลัว มันอย่างนั้นหรือไม่ ทีนี้ก็อยู่ที่คุณ คำตอบของคุณคืออะไร” 

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

"ป้าเจี๊ยบ Longboard" จากผู้ป่วยมะเร็งสู่นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย

ภาพประกอบ : JeabSae Chairidchai Miraculous Ninety-Nine และZazuSk8 Bangkok Longboard Bar แผ่นลองบอร์ด