posttoday

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ "นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง" มทร.ธัญบุรี

06 ตุลาคม 2558

เรื่องเล่าเปี่ยมแรงบันดาลใจของ"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง"แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ศศิธร จำปาเทศ

ภาพถ่ายนักศึกษาชายหญิงนั่งก้มหน้าก้มตากินข้าวราดแกงในโรงอาหารอาจไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นฉากชีวิตที่พบเห็นได้ทั่วไปในรั้วมหาวิทยาลัย

แต่ที่ไม่ธรรมดาก็เพราะภาพดังกล่าวถูกโพสต์ลงในโลกโซเชียลพร้อมระบุว่า เด็กทั้ง 7 คนนี้เป็นชาวเขาจากจ.เชียงใหม่มาเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทุกคนล้วนยากจน ไม่ได้รับทุนการศึกษาใดๆ ครอบครัวก็ไม่มีเงินส่งให้

และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ข้าวราดแกงจานเล็กๆที่กินอยู่นั้นเป็นมื้อกลางวันมื้อแรกที่พวกเขาได้ลิ้มรสในรอบสองเดือนเต็มๆ

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี ภาพถ่ายที่กำลังโด่งดังในโลกโซเชียล

นักศึกษาชาวเขา

"อาจารย์ทำยังไงคะเวลาหิว?"

ข้อความแปลกๆที่เด้งขึ้นในเฟซบุ๊ก สร้างความงุนงงให้แก่ ดร.กุลชาติ จันทร์เพ็ญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นอย่างยิ่ง

หลังมีชื่อเสียงโด่งดังจากการออกรายการเจาะใจ รวมทั้งพ็อคเกตบุ๊กชีวประวัติตัวเองอย่าง "ดอกเตอร์จากกองขยะ" ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ในวัยเยาว์ของเด็กเหลือขอ ครอบครัวแตกแยก ต้องเร่ร่อนลักขโมยและขอทานประทังชีวิต ก่อนจะได้รับแรงผลักดันจากแม่ให้มุ่งมั่นตั้งใจเรียน ควบคู่การเก็บขยะขายหารายได้เสริม จนท้ายที่สุดสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นแบบให้แก่คนอื่นๆได้

ทุกๆวันมีคนเข้ามาขอคำปรึกษาจากเขาไม่ขาดสาย แต่กับคำถามสั้นๆคำถามนี้ ดร.กุลชาติยอมรับว่างงอยู่หลายนาที กระทั่งพูดคุยไถ่ถามจึงได้ความว่า นักศึกษารายนี้เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และกำลังประสบความเดือดร้อนจากการมาเรียนหนังสือไกลบ้าน

เธอไม่มีเงินเลยสักบาท...

ธมลวรรณ แซ่ว่าง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คือนักศึกษาคนนั้นที่ติดต่อขอความช่วยเหลือจากอาจารย์

เด็กสาวชาวม้งจากร.ร.เชียงคำพิทยาคม อ.เชียงคำ จ.พะเยา ฐานะยากจนข้นแค้น ก่อนมาเรียนที่ม.ธัญบุรี เธอต้องทำงานในโรงงานนานถึง 1 ปีเต็มเพื่อเก็บเงินมาจ่ายเป็นค่าเทอม

"มาเรียนได้ 3 เดือนแล้ว แรกๆมีเงินเก็บที่ทำงานมาหนึ่งปีก็คิดว่าน่าจะอยู่ได้ แต่นอกจากจ่ายค่าเทอม ยังมีค่าหอพัก ค่ากิจกรรมรับน้อง ค่าหนังสือ เอกสาร อุปกรณ์การเรียนต่างๆ สุดท้ายเงินก็หมด

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี ธมลวรรณ แซ่ว่าง

เช่นเดียวกับภาวิณี ดำรงพรวารี กับ พรฟ้า ดำรงเกียรติไพร จากอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และพรทิพย์ นาแฮ จากอ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ทั้ง 3 เป็นตัวแทนคนทั้งหมู่บ้านมาเรียนเพื่ออนาคต ตั้งใจว่าเรียนจบจะกลับไปพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านของตนเองให้คนในหมู่บ้านมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทุกคนล้วนเผชิญกับอุปสรรคการใช้ชีวิตในเมืองที่มีความแตกต่างทางภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่

สันติภาพ เชมู และ อภิชาติ ขุนธาราดง นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยงร่วมคณะจากอ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ทั้งคู่ได้รับเงินติดตัวจากบ้านมาคนละ 5,000 บาท พร้อมข้าวสารกระสอบใหญ่ แต่พอเจอกับค่าใช้จ่ายจิปาถะสารพัด เงินในกระเป๋าก็ร่อยหรอแทบไม่เหลือ

"เงินที่พ่อแม่ให้มาต้องเสียทั้งค่าหอพัก ค่าอุปกรณ์การเรียนหลายรายการ เช่น หนังสือ ดินสอดรออิ้ง ปากกา ไม้บรรทัด โชคดีที่มีรุ่นพี่และอาจารย์คอยช่วย ให้หนังสือเรียนเก่าบ้าง อย่างไม้แบดอาจารย์ให้มาอันเดียวก็ต้องเวียนกันใช้ พวกเราลำบากกันทุกคน อาศัยหุงข้าวหม้อเดียวกินกันทั้งเช้าและเย็น เมนูประจำก็พวกไข่เจียว ไข่ดาว มาม่า ปลากระป๋อง แกงถุงที่วางขายในตลาดไม่เคยซื้อกิน เพราะต้องประหยัดให้มากที่สุดเท่าที่จะประหยัดได้"

ทั้งหมดนี้ชะตากรรมของนักศึกษากะเหรี่ยงจากแดนไกลที่กำลังเผชิญในเมืองใหญ่

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี หุงข้าวหม้อเดียวกินกัน 7 คน

น้ำใจที่ไม่มีวันลืม 

ทันทีที่ภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ธารน้ำใจอย่างเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย คณาจารย์ แม้กระทั่งแม่ค้าขายข้าวแกง และเจ้าของหอพัก ต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างกระตือลือร้น

เริ่มตั้งแต่รุ่นพี่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ลงขันช่วยกันเดือนละ 300 บาทให้น้องๆเป็นค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ภาควิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เรียนอยู่มอบทุนการศึกษาเบื้องต้นให้คนละ 4000 บาท ฝ่ายพัฒนานักศึกษามทร.ธัญบุรี อนุเคราะห์ให้นักศึกษาทั้งหมดได้รับอนุมัติกู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นกรณีพิเศษ แม้แต่แม่ค้าขายข้าวแกงยังออกปากให้มาทานข้าวกลางวันฟรีที่ร้าน รวมถึงเจ้าของหอพักที่เสนอให้ทั้ง 7 คนอยู่ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจนกว่าจะเรียนจบ

นี่คือธารน้ำใจที่หลั่งไหลมาจากพี่น้องร่วมสถาบัน

กุหลาบ แสงนิล เจ้าของร้านข้าวราดแกงแม่กุหลาบ มทร.ธัญบุรี บอกว่า ขนาดหิวยังนอนไม่หลับ ประสาอะไรกับเด็กที่เรียนหนังสือต้องใช้สมาธิมากกว่า

"รู้สึกสงสาร ถ้าเป็นลูกเราจะเป็นยังไง ขนาดเราหิวยังไม่ยังนอนไม่หลับเลย เวลาเรียนยิ่งต้องใช้สมาธิมากกว่า ป้าไม่ใช่คนร่ำรวย ก็ให้เท่าที่จะพอช่วยได้ ได้มีส่วนช่วยเหลือเด็กกลุ่มนนี้ก็ดีใจ เพราะทราบมาว่าทุกคนเป็นเด็กเรียนร้อย ตั้งใจเรียน ไม่เกเร แต่ฐานะยากจนมากตะเกียกตะกายอยากจะเรียน เทียบกับเด็กบางคนพ่อแม่มีตังค์ส่งให้เรียนให้ใช้แต่กลับทิ้งโอกาสไปอย่างไร้ประโยชน์"

ศุภวรรณ กาญจนเรืองโรจน์ เจ้าของหอพัก FourB Mansion ที่ให้นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยงทั้ง 7 คนอาศัยอยู่ฟรี เล่าว่า ที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดทุนทรัพย์มาแล้วกว่า 10 ปี ทางมหาวิทยาลัยติดต่อขอความช่วยเหลือมา ซึ่งตนเต็มใจที่จะช่วย

"การให้ที่พักเป็นการบริจาคที่ให้เห็นๆ ดีกว่าไปทำบุญบริจาคเงิน เห็นแน่นอนว่าสิ่งที่ให้เขาได้โดยตรง เมื่อคิดถึงสถานะของเรา ก็ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยสังคมบ้าง เพราะถ้าในสังคมมีแต่คนเอาเปรียบ เห็นแก่ได้ทั้งหมด เราต้องคืนให้สังคมด้วย"

กฤษณ์ ฟุ่มเฟือง อาจารย์ประจำคณะวิศกรรมสิ่งทอ และที่ปรึกษาของเด็กทั้ง 7 คน เผยว่า

"ครั้งหนึ่งพวกเขาคงตัดสินใจอยู่นานกว่าจะโทรหาผม เพื่อขอไม้แบดไว้ใช้เรียนวิชานันทนาการ แต่ให้เวียนกันใช้ ส่วนปากกากระดาษให้ไปเอาที่ภาควิชา เมื่อเห็นพวกเขาทำให้รู้สึกว่าเราเลี้ยงลูกสบายไปหรือเปล่า มีทุกอย่างพร้อมไม่ต้องดิ้นรนทำงาน เด็กพวกนี้มีใจใฝ่เรียนอยู่แล้ว การที่เราช่วยให้โอกาสก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี ป้ากุหลาบ เจ้าของร้านข้าวแกงใจดีที่ให้กินฟรีจนกว่าจะเรียนจบ

 

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี น้ำใจจากเจ้าของหอพัก

กองทุนเด็กใฝ่ดี

ผู้โพสต์ภาพถ่ายชีวิตของนักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยงทั้ง 7 คนลงในเฟซบุ๊ก ดร.กุลชาติ จันทร์เพ็ญ คนเดียวกับไอดอลสู้ชีวิตเจ้าของฉายา "ดอกเตอร์จากกองขยะ" ที่โด่งดังจากรายการเจาะใจ และพ็อคเกตบุ๊กชื่อ "ดอกเตอร์จากกองขยะ" สำนักพิมพ์นานมีบุ๊กส์ ปัจุบันเขาเป็นวิทยากรเดินสายเล่าเรื่องราวชีวิตอันเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจของตัวเองให้ผู้ที่กำลังท้อแท้

วันนี้ ดร.กุลชาติ ตัดสินใจยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กๆทั้ง 7 คน เพื่อให้เขายืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง 

"เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กในโควต้าที่มหาวิทยาลัยมอบให้โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ มีทั้งเชื้อสายกะเหรี่ยง ม้ง  อาข่า มองเผินๆเป็นเด็กเรียบร้อย ตั้งใจเรียน ดูภายนอกจะไม่รู้เลยว่าเป็นเด็กยากไร้ขาดโอกาส กระทั่งวัหนึ่งเขาเข้ามาปรึกษากับผมว่า'อาจารย์คะ หนูไม่ไหวแล้ว หนูไม่มีเงินสักบาท' ตอนนั้นเองทำให้ผมรู้ว่า เด็กเหล่านี้ไม่ได้ทุนการศึกษาใดๆ ทางบ้านก็ไม่มีเงินส่งมาให้เลยแม้แต่บาทเดียว

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี ดร.กุลชาติ จันทร์เพ็ญ ไอดอลคนสู้ชีวิต

ดร.กุลชาติย้ำว่า ความหิวเป็นสิ่งเดียวที่คนมีเงินไม่เคยได้สัมผัส

"ความหิวคือรสชาติชีวิตที่มีพลังมากๆ ท้องที่มีแต่น้ำเปล่าๆ มาม่าแค่ห่อเดียว หรือขนมปังชิ้นเดียวก็มีค่า เพราะผมผ่านจุดนั้นมาทำให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องเจออะไรมาบ้าง"  

นอกจากจะเป็นโต้โผในการระดมความช่วยเหลือให้น้องๆแล้ว อาจารย์กุลชาติยังควักเงินส่วนตัวที่มาจากรายได้จากการขายหนังสือมาช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน ทั้งยังหางานให้ทำเป็นรายได้เสริม ควบคู่กับการเรียนหนังสือด้วย

"ผมกำลังทำกองทุนชื่อว่า "กองทุนเด็กใฝ่ดี" เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากจน แต่มีความใฝ่ดี เด็กใฝ่ดีในที่นี้คือ 1.ไม่ต้องเรียนดี แต่ต้องเรียนให้รอด 2.ต้องหารายได้ระหว่างเรียน 3.ช่วยงานกิจกรรมและมีจิตอาสา 4.ถ้ามีเงินเหลือต้องส่งไปให้พ่อแม่ที่บ้าน 5.เมื่อเอาตัวรอดได้ ต้องช่วยเหลือคนอื่นต่อไป ถึงแม้ผมช่วยเหลือเด็กยากจนไม่ได้ทุกคน แต่ผมจะช่วยเด็กใฝ่ดีก่อนเป็นอันดับแรกครับ ลักษณะของเด็กใฝ่ดีของผมคือ ถ้าขาดจะไม่เคยขอ พยายามใช้ชีวิตให้เหมือนคนอื่น ไม่ร้องขอให้ช่วย เด็กใฝ่ดีส่วนใหญ่จะช่วยตัวเองก่อน มีแค่ไหนก็จะอยู่แค่นั้น ต้องมีจิตใจที่ดี หางานเพื่อช่วยเหลือตัวเอง เหลือเก็บก็ส่งให้พ่อแม่ 

"ผมจะปลูกฝั่งเรื่องจิตสำนึกเรื่องการให้ ให้คิดว่าคนเราก่อนที่รับอะไรจากใคร คุณต้องรู้ก่อนว่าพลังของการให้คืออะไร คนให้เขาให้ด้วยความสุขและความเต็มใจ วันนี้คุณไม่มีอะไร คุณก็ยังสามารถให้คนอื่นได้ นั่นคือเรื่องจิตอาสา การทำกิจกรรม ไม่มีเงินก็ให้แรง ไม่มีทรัพย์ก็ให้ความร่วมมือ แค่มีใจให้มันก็มีความสุขแล้ว สุดท้ายวันหนึ่งข้างหน้า คุณทำทั้งหมดได้แล้ว คุณก็ต้องเป็นผู้ส่งต่อโอกาส เหมือนกับที่ผมให้กับคุณ"

น้ำใจของเพื่อนพี่ครูอาจารย์ร่วมสถาบันครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มใจอย่างไม่มีวันลืมแก่นักศึกษาชาวเขาทั้ง 7 คน ทำให้พวกเขากินอิ่ม นอนหลับ มีเรี่ยวแรง มีกำลังใจอีกครั้ง

“ผมรู้สึกว่าเหมือนมีคนมาต่อชีวิตให้ ผมอธิบายไม่ถูก ทำได้แค่คำว่าขอบคุณ หากไม่มีคนที่ช่วยเหลือกลุ่มนี้ชีวิตพวกผมคงลำบากมากกว่าเดิม คงเรียนได้ไม่เต็มที่ เพราะถ้าไม่มีจริงๆอาจหยุดเรียนแล้วไปทำงาน แต่ยังไงก็ตามผมคิดว่ายังมีคนลำบากกว่าผม ก็อยากให้กำลังใจว่าต้องสู้ อย่าท้อถอย สักวันสิ่งดีๆก็จะเข้ามา และเมื่อเรามีโอกาส เราต้องตอบแทนน้ำใจที่ได้รับกลับคืน และช่วยเหลือคนอื่นด้วยการให้ต่อๆไป"

ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังของภาพถ่ายที่กำลังถูกพูดถึงอย่างถล่มทลายในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องราวอันน่าประทับใจของคนกลุ่มหนึ่งที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คนที่กำลังเดือดร้อน โดยไม่หวังผลตอบแทน

ที่มา https://www.facebook.com/kunlachart.junlapen/posts/966869066708377

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี นักศึกษาชาวเขามาเรียนหนังสือในเมืองใหญ่

 

มื้อกลางวันที่ไม่มีวันลืมของ \"นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยง\" มทร.ธัญบุรี สันติภาพ เซมู นักศึกษาเชื้อสายกะเหรี่ยงมทร.ธัญบุรี