posttoday

กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยอีก9แห่ง เผยปัจจุบันยังมีเตียงว่าง 1,849 เตียง

24 กุมภาพันธ์ 2565

กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 9 แห่ง จากปัจจุบันมี 31 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียง 1,932 เตียง เหลือเตียงว่าง 1,849 เตียง

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบันกทม.ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต รวมทั้งสิ้น 31 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,981 เตียง อัตราการครองเตียงขณะนี้ 1,932 เตียง เตียงว่าง 1,849 เตียง โดยมีการคัดกรองอาการและดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลตามการประเมินจากแพทย์

ทั้งนี้ กทม.อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง เตียง 970 เตียง ด้านโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,460 เตียง อัตราการครองเตียง 3,116 เตียง เตียงว่าง 377 เตียง คิดเป็นร้อยละ 90.06 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ.65 เวลา 08.00 น.)

ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อ หากประสงค์ทำการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (HI) สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน สปสช.1330 กด14 หรือประสานรับการรักษาผ่านศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต (EOC) 50 เขต โดยศูนย์ฯ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับคลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานพยาบาล มีเป้าหมายการเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 12 ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่จะติดต่อกับผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง และสามารถแยกกักตัวได้ จะเข้าสู่การแยกกักรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ จะนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) หรือส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงของอาการต่อไป

นอกจากนี้ ศูนย์เอราวัณ (1669) สำนักการแพทย์ ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยศูนย์เอราวัณ 1669 ได้เพิ่มจำนวนคู่สายด่วนจากเดิม 30 คู่สาย เป็น 100 คู่สาย พร้อมเจ้าหน้าที่บริการรับสายตลอด 24 ชั่วโมง โดยยังคงมีเป้าหมายนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาภายใน 1 วันโดยไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง

กทม.ยังได้ปรับปรุงศักยภาพการรับ-ส่งผู้ป่วย โดยร่วมกับเครือข่าย อาทิ เทศกิจ 50 เขต เจ้าหน้าที่ทหาร อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ทำให้รับ-ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมสามารถรับผู้ป่วยได้วันละ 150 คน เพิ่มเป็นวันละ 300 คน โดยรถ 1 คัน จะรับผู้ป่วยวันละ 2 รอบๆ ละ 3 คน