posttoday

พบติดโอมิครอนBA.2ในไทยแล้ว14ราย ชี้ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์BA.1

26 มกราคม 2565

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2ในไทยแล้ว 14 ราย ชี้ยังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 คาดเดือนก.พ. ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นโอมิครอน

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 65 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.65 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการรายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 ว่า พบสายพันธุ์ BA.2 รวม 6 ราย และได้เพิ่มเติมเข้าไปอีก 8 ราย ซึ่งกว่าที่ระบบจะ submit ข้อมูลก็คาดว่าจะในอีก 1-2 วันนี้ รวมทั้งหมดคือ 14 ราย

สำหรับผู้ป่วยโควิด 14 รายที่พบสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ส่วนอีก 5 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีเสียชีวิต 1 ราย คือ หญิงไทย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และป่วยติดเตียงในจังหวัดทางภาคใต้

"ในภาพรวม เราส่งข้อมูลโอไมครอน 7 พันเรคคอร์ด ให้กรมการแพทย์ไปติดตาม ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 0.1% อัตราการตายค่อนข้างต่ำ" นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ตรวจพบในประเทศนั้น จากข้อมูลในขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ได้เหนือไปกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 อย่างเห็นได้ชัด เพราะถ้าเห็นได้ชัดเจน การระบาดในสายพันธุ์ย่อย BA.2 ก็คงจะมีมากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 ไปแล้ว แต่ในปัจจุบันยังพบว่าการระบาดของโอมิครอนส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 เพียงแต่จะต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เพิ่มเติมว่าจะมีสายพันธุ์ BA ย่อยๆ อีกหรือไม่

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะยังน้อยเกินไปที่จะสรุปว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะสามารถแพร่กระจายได้เร็วหรือไม่ เพราะสัดส่วนการตรวจพบยังมีไม่มาก โดยพบเพียง 2% เท่านั้น แต่หากในอนาคตสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 5% 10% ก็อาจจะต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังกล่าวด้วยว่า ในท้ายสุดแล้วถ้าการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาถูกแทนด้วยสายพันธุ์โอมิครอน ก็จะทำให้ไวรัสเดลตาที่กลายพันธุ์จะไม่มีความหมาย ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องจับตาดูสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนแทนว่าจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมอีกหรือไม่ แต่ยืนยันว่าประเทศไทยมีกระบวนการตรวจจับการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วและเพียงพอ

"คาดว่าเดือน ก.พ.จะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ เพราะแพร่เร็ว แต่ความรุนแรง หรือป่วยหนัก เสียชีวิตจะมีน้อย แต่ย้ำว่าต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ เพราะคนได้วัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสเสียชีวิตจะมีน้อยมาก" นพ.ศุภกิจ กล่าว