posttoday

เปิดดัชนีครูไทยยุคโควิด ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

16 มกราคม 2565

สวนดุสิตโพลเผยดัชนีครูไทยปี64 พบประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ชี้จุดเด่นมีการใช้เทคโนโลยี ทักษะการสอนใหม่ๆ แต่จุดด้อยยังมีภาระงานมาก ไม่มีเวลา

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ดัชนีครูไทย ปี 2564 ครูไทยในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่าง 3,734 คน สำรวจวันที่ 10-13 มกราคม 2565 พบว่า ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น “ดัชนีครูไทย” ปี 2564 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 7.75 คะแนน โดยดัชนีที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับผู้อื่นได้ 7.98 คะแนน ดัชนีที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านการประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน 6.75 คะแนน

โดยประชาชนมองว่าจุดเด่นของครูไทย คือ การใช้เทคโนโลยี มีทักษะใหม่ ๆ มีเทคนิคการสอนที่ดี ร้อยละ 82.29 จุดด้อยคือ มีภาระงานมาก ไม่มีเวลา ร้อยละ 74.99 โดยครูไทยในยุคโควิด-19 ต้องปรับตัวด้านการสอนออนไลน์ให้น่าสนใจ ปรับรูปแบบการสอน ร้อยละ 85.38 รองลงมาคือ ใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ พัฒนาด้านภาษาและเทคโนโลยี ร้อยละ 84.46

กลุ่มตัวอย่างที่เป็น “ครู” ให้คะแนนดัชนีครูไทย 8.40 คะแนน ส่วน “นักเรียน/นักศึกษา” ให้ 8.25 คะแนน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ  ด้วย

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เมื่อครูมองครู นักเรียนมองครู จึงมีความเข้าอกเข้าใจ “หัวอกครู” เป็นอย่างดี เมื่อโควิด-19 พลิกวงการศึกษาไทยอย่างรวดเร็ว รัฐบาล จึงควรคว้าโอกาสนี้ในการพัฒนาการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นและไม่ทิ้งให้ใครต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนก็ตาม

ด้าน ดร.กิ่งกาญจน์ ทองงอก ผู้จัดการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ สุพรรณบุรี กล่าวว่า ดัชนีครูไทย ปีนี้น่าสนใจมาก หากวิเคราะห์รายละเอียดจะพบว่าดัชนี 5 อันดับแรกเป็น Soft skills ทั้งสิ้น เช่น มนุษยสัมพันธ์ที่ดี ความเมตตา บุคลิกภาพที่ดี ความเป็นครูที่ดี หรือความเสียสละ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญและเห็นว่าครูไทยมีความโดดเด่นในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ดัชนีอันดับต้น ๆ เป็น Hard skills เช่น มีความรู้ หรือการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ ๆ  ในเรื่องจุดด้อยของครูไทยหากต้องการพัฒนาเรื่องภาระงานมากและไม่มีเวลา ควรนำจุดแข็งด้านเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้ทำงานง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงควรปรับจากการทำงาน คนเดียวมาเป็นการทำงานเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง บริหารจัดการบทบาทของคนในทีมอย่างเหมาะสม เชื่อว่าครูจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายเรื่องนี้ได้

ในยุคโควิด-19 ครูต้องปรับตัวอย่างมาก การสอนในรูปแบบ Online หรือ Hybrid Learning ทำให้บทบาทของครูต้องปรับเปลี่ยนจาก “ผู้ให้ความรู้” เป็น “ผู้สร้างสภาพแวดล้อมและออกแบบกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้” โดยต้องเหมาะสมกับการเรียนแบบ Online และทำงานเป็น Partner กับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตอย่างสมวัยในยุคโควิด-19