posttoday

สธ.ยันการตรวจ RT-PCR และ ATK ใช้หาเชื้อโอไมครอนได้

29 พฤศจิกายน 2564

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผย การตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR และ ATK สามารถหาเชื้อโอไมครอนได้ ระบุจากการตรวจหลังเปิดประเทศยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การรระบาดของโควิดทั่วโลกยังเป็นสายพันธุ์เดลตาเป็นส่วนใหญ่

กรมวิทยาศาสตร์ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์โควิดอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจสายพันธุ์ทั้งหมด 45 ตัวอย่างจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์อีก 30 ตัวอย่าง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ทุกราย และเมื่อผลเป็นบวกจะทำการส่งตรวจหารหัสพันธุกรรมของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนต่อไป

ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ยังสามารถตรวจหาเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ แต่เวลาเกิดการกลายพันธุ์ อย่างล่าสุดเกิดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน อาจมีการตรวจบางยีนไม่พบ แต่บางยีนอาจโผล่ขึ้นมาได้ ดังนั้นการตรวจมากกว่า 1 ยีน ทำให้โอกาสที่จะตรวจไม่พบเกิดได้ต่ำมาก จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม น้ำยาตรวจหาสารพันธุกรรม SARS-CoV-2 โดยวิธี Real-time RT-PCR มีชุดตรวจที่ผ่านการประเมินขององค์การอาหารและยา (อย.) แล้วจำนวน 104 ยี่ห้อ แบ่งเป็น ชุดตรวจที่ตรวจยีนเป้าหมาย S ร่วมกับยีนอื่น มีจำนวน 15 ยี่ห้อ, ชุดตรวจที่ตรวจยีนเป้าหมาย N ร่วมกับยีนอื่น มีจำนวน 87 ยี่ห้อ และชุดตรวจที่ตรวจยีนเป้าหมาย N และ S มีจำนวน 2 ยี่ห้อ

ในส่วนของชุดตรวจที่ตรวจยีนเป้าหมาย N และ S จำนวน 2 ยี่ห้อนั้น หากมีการกลายพันธุ์ พันธุกรรมบางตำแหน่งบน N และ S หายไป อาจมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเชื้อได้ หรือเกิดการกลายพันธุ์ในจุดที่น้ำยาไม่สามารถตรวจพบได้ จึงจะมีการประสานงานกับผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายชุดตรวจทั้งสองยี่ห้อเพื่อดูรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ดี โอกาสที่การตรวจหาเชื้อจะหลุดรอดไปได้นั้นถือว่ามีน้อยมาก คือ 2 ใน 104 ยี่ห้อที่อาจตรวจไม่พบ

สำหรับเทคนิคการตรวจสายพันธุ์ มีทั้งหมด 3 ระบบ คือ

1. ต้องตรวจด้วย RT-PCR ด้วยน้ำยาของแต่ละสายพันธุ์ เช่น นำน้ำยาของเดลตาไปตรวจ ถ้าผลเป็นบวก คือเจอเชื้อเดลตา เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้รวดเร็ว

2. Target sequencing ใช้เวลา 3 วัน ตรวจตำแหน่งพันธุกรรมว่ามีหน้าตาเหมือนชนิดใด

3. Whole genome sequencing การถอดรหัสพันธุกรรรม ซึ่งจะใช้ระยะเวลานาน 7 วัน

อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ของกรมการแพทย์ พบว่า สายพันธุ์โอไมครอน มีการกลายพันธุ์บางส่วนคล้ายเดลตาพลัส และเบตา คือ ตำแหน่ง K417N และอัลฟาตำแหน่ง HV69-70deletion ดังนั้น เมื่อตรวจแล้วพบตำแหน่งสองสายพันธุ์ คือ K417N และ HV69-70deletion จึงอาจระบุได้ว่าเป็นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นการตรวจจับที่รวดเร็วกว่าการตรวจรหัสพันธุกรรม

นอกจากนี้ จากการสันนิษฐานตามตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน พบว่าอาจมีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น เปลี่ยนสายพันธุ์ได้ค่อนข้างเร็ว และพบเชื้อต่อคนได้ค่อนข้างมาก

ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) พบว่า เบื้องต้นการตรวจ ATK ยังสามารถใช้ได้อยู่ จากข้อมูลที่แอนติบอดี้ในชุดตรวจ ATK สามารถจับกับโปรตีน N ของเชื้อโรคโควิด-19 ประกอบกับการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อการตรวจด้วย ATK

"มาตรการที่จะสู้กับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน คือ ยังต้องฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมมากที่สุด เนื่องจากขณะนี้ข้อมูลของโอไมครอนจากทั่วโลกยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น จึงยังต้องปฎิบัติตามมาตรการสำคัญ ที่ถ้าปฎิบัติตามอย่างครบถ้วนสายพันธุ์ใหม่ก็จะไม่เป็นที่กังวลมากนัก" นพ.ศุภกิจ กล่าว