posttoday

ศบค.เตือน"เชียงใหม่"ยกการ์ดสูง หลังคลัสเตอร์ผุดเป็นดอกเห็ด

20 ตุลาคม 2564

ศบค.เผย ไทยติดเชื้อเหลือ 8.9 พันราย ดับ 79 ราย เตือนเชียงใหม่ยกการ์ดสูง หลังคลัสเตอร์ผุดเป็นดอกเห็ด เร่งระดมฉีดวัคซีน 4 จว.ชายแดนใต้-จว.นำร่องท่องเที่ยว ศบค.ชุดเล็ก เข้มการเปิดประเทศ หยุดยาว 4 วัน ประชาชน เน้น "มาตรการป้องกันสูงสุดแบบครอบจักรวาล"

เมื่อวันที่ 20 ตค. 64 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,918 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,859 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,195 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 64 ราย มาจากเรือนจำ 41 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,811,852 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 10,878 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,689,859 ราย อยู่ระหว่างรักษา 103,507 ราย อาการหนัก 2,728 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 619 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 79 ราย เป็นชาย 40 ราย หญิง 39 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 49 ราย มีโรคเรื้อรัง 23 ราย และเด็กอายุ 1 เดือนเสียชีวิตที่ จ.ตาก 1 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 18 ราย ขณะที่พื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตรวมกันสูงถึง 20 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 18,486 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 994,781 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 67,587,102 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 242,331,811 ราย เสียชีวิตสะสม 4,928,899 ราย

พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 20 ต.ค. ได้แก่ กทม. 1,020 ราย ยะลา 704 ราย ปัตตานี 520 ราย สงขลา 484 ราย สมุทรปราการ 359 ราย ชลบุรี 328 ราย เชียงใหม่ 294 ราย นราธิวาส 284 ราย นครศรีธรรมราช 266 ราย จันทบุรี 265 ราย ภาพรวมของทั้งประเทศถือว่าลดลง มีเพียง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และจากข้อมูลการตรวจหาเชื้อแบบ ATK พบการติดเชื้อมากในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK มากในพื้นที่นครศรีธรรมราช กระบี่ เชียงใหม่ และเชียงราย จึงขอให้ทุกจังหวัดที่มีแนวโน้มการรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมาตรการระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น คลัสเตอร์งานศพที่ จ.เลย อุดรธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น จึงขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ขอเน้นย้ำว่าถ้าเป็นไปได้อยากจะให้แจกจ่ายอาหารไปรับประทานที่บ้าน เนื่องจากการรับประทานอาหารร่วมกันมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ พบอีกหลายคลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์กาดเมืองใหม่ ซึ่งมีการแพร่เชื้อไปยัง จ.แม่ฮ่องสอน คลัสเตอร์แรงงานไม้ตัดยาง คลัสเตอร์ร้านอาหาร คลัสเตอร์บ้านพักนักเรียนประจำ คลัสเตอร์ร้านค้า ขอให้ จ.เชียงใหม่เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิต

พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า มี จ.ยะลา เพียงจังหวัดเดียวที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปเกินร้อยละ 50 ของประชากรในจังหวัด ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ มี จ.ยะลา สงขลา นราธิวาส ที่ฉีดเกินร้อยละ 50 แล้ว โดยหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งส่งวัคซีนเข้าไปเพื่อให้เร่งฉีดวัคซีนประชาชน ขณะที่ในส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัด หรือถ้ารวมกับจังหวัดนำร่องระยะแรก 2 จังหวัด คือ ภูเก็ต และพังงา ก็จะเป็น 17 จังหวัด ที่จะเปิดนำร่องท่องเที่ยวระยะที่หนึ่งในวันที่ 1พ.ย.นี้ ซึ่งทางส่วนกลางได้ส่งวัคซีนสนับสนุนไปเพิ่มเติมในจังหวัดนำร่อง กลุ่มนี้แล้ว 7 แสนโดส จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวหรือสีฟ้านั้นได้เข้ามารับการฉีดวัคซีนให้มากๆ ทั้งนี้ มีการฉีดครอบคลุมประชากรทั่วไปเกินร้อยละ 50 จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ ระยอง ตราด โดยเหลือเพียง 3 จังหวัดที่ยังฉีดวัคซีนได้น้อยกว่า 50% ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี ส่วนการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว มี 10 จังหวัดที่ฉีดเกิน 50% แล้ว ได้แก่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง ตราด และมี 5 จังหวัดที่ฉีดเกิน 70% ได้แก่ กทม. กระบี่ พังงา ชลบุรี ระนอง ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งส่งวัคซีนไปในพื้นที่นำร่องดังกล่าว

พญ.สุมนี กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้ประชุมเรื่องการเปิดประเทศ เพื่อที่จะปรึกษาวางแผนแนวทางการเปิดประเทศจากหน่วยงานต่างๆ โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้ ขอพิจารณาหลักในการเปิดประเทศประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ปัจจัยมาตรการทางสาธารณสุข 2. ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเศรษฐกิจ โดยแยกเป็น 2 เรื่อง คือเรื่องแรกการท่องเที่ยว เรื่องสองคือการมาทำธุรกิจในประเทศไทย 3. ปัจจัยพิจารณาในเรื่องของประเทศนั้นจะต้องมี ความสอดคล้องมาตรการ ระหว่างประเทศให้เข้ากับประเทศไทยได้ เช่น การเข้าออกประเทศ

พญ.สุมนี กล่าวว่า ข้อพิจารณาหลักทั้ง 3 ข้อ จะเป็นหลักในการพิจารณาเปิดประเทศและรูปแบบในการพิจารณาเข้าประเทศนั้นแบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1. การเข้ามาในสถานที่กับการที่รัฐกำหนดให้ เหมือนที่เคยกำหนดมาแต่เดิมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ แล้วเข้ามาในประเทศเราก็ต้องเข้าสู่มาตรการกักกัน ไม่ว่าจะเป็น 7,10,14 วัน แล้วแต่กรณี 2.แบบแซนด์บ็อกซ์ หรือแบบพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะที่หนึ่ง ใน 17 จังหวัดด้วย 3. แบบไม่กักตัว ซึ่งแบบที่ 2 และ 3 นั้น จะต้องมีเงื่อนไขคือต้องได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มเป็นหลัก

พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยที่เคยมีการชี้แจงไว้แล้วจะต้องเป็นผู้ที่นอกจากฉีดวัคซีนครบแล้ว ต้องได้รับการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ว่าไม่ได้รับเชื้อ 72 ชั่วโมง ควรมีการทำประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 เหรียญสหรัฐ และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วจะต้องมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำ ในวันแรกที่มาถึงทันที และเมื่อผลการตรวจเป็นลบจึงจะเดินทางต่อไปได้

พญ.สุมนี กล่าวว่า การประชุมเตรียมการเปิดประเทศจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพราะจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ มีความประณีตที่จะเปิดประเทศ โดยเป้าหมายหลักคือถึงแม้ว่าเปิดประเทศไปแล้ว ประชาชนไทยจะต้องมีความปลอดภัยและที่สำคัญระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรองรับเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต้องใช้แผนเผชิญ เมื่อเกิดเหตุ หรือสถานการณ์ไม่คาดคิดไม่คาดฝันเกิดขึ้น และจะมีการรายงานผลการประชุม ศบค.ชุดเล็กเป็นระยะ

พญ.สุมนี กล่าวว่า ช่วงวันหยุด 4 วันนี้ เชื่อว่าจะมี ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดเนื่องจากวันหยุดยาว อย่างไรก็ตาม ในการทำกิจการกิจกรรมใดขอให้ยังคงเข้มมาตรการส่วนบุคคลเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ใช้แอลกอฮอล์เจลในการล้างมือ เว้นระยะห่าง เน้นมาตรการป้องกันสูงสุดแบบครอบจักรวาล ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากการได้รับวัคซีนครบแล้ว มาตรการส่วนบุคคลจะทำให้เราลดการติดโรคโควิด-19 และลดการแพร่โรคไปให้คนอื่นได้ด้วย