posttoday

โพลเผยประชาชนเห็นพระมหากษัตริย์ทรงช่วยเหลือในทุกวิกฤต

15 สิงหาคม 2564

สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจภาคสนามร้อยละ 87.5 ระบุมีพระมหากษัตริย์ทรงช่วยเหลือประชาชนเสมอในทุกยามวิกฤต

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ทางรอด ทางร่วง ช่วงโควิด กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,118 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 14 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึง “ทางรอด” ช่วงโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ระบุ ทางรอดคือ คนไทยและทุกภาคส่วนต้องรู้หน้าที่ มีน้ำใจช่วยเหลือกันให้กำลังใจกันแก้ปัญหา เหมือนช่วงวิกฤตชีวิตหมูป่าที่ถ้ำหลวง รองลงมาคือร้อยละ 92.9 ระบุ คนในสังคมต้องสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชังกันในหมู่ประชาชน ร้อยละ 90.0 ระบุ ต้องปฏิรูประบบราชการ ช่วยเหลือประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 ระบุ มีพระมหากษัตริย์ทรงช่วยเหลือประชาชนเสมอในทุกยามวิกฤต ร้อยละ 87.1 ระบุ ภาคการเมืองและภาคราชการ ต้องถูกตรวจสอบและโปร่งใสมากขึ้น ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์จากประชาชนและวิกฤตชาติ ร้อยละ 72.0 ระบุ ทำให้คนไทยรู้ว่า รับวัคซีนไปช่วยป้องกันการเสียชีวิต แต่ยังคงติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ร้อยละ 64.9 ระบุ คนไทยควรติดตามสถานการณ์วิกฤตโควิด ประเทศต่าง ๆ ด้วย เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อเสียชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น และร้อยละ 64.1 ระบุ เรียนรู้ปรับตัวแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง เพิ่มรายได้ครอบครัว

ที่น่าเป็นห่วง เมื่อถามถึง “ทางร่วง” ช่วงโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.5 ระบุ การชุมนุมที่ไม่สามารถควบคุมและใช้ความรุนแรงฝ่าฝืนกฎหมาย ทำลายทรัพย์สิน เผาบ้านเผาเมือง ร้อยละ 98.2 ระบุ การซ้ำเติมวิกฤตชาติและประชาชนในโลกโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 98.0 ระบุ ปลุกระดมให้โกรธเกลียดและทำร้ายกันเองผ่านสื่อและการชุมนุม

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.8 ระบุ แก่งแย่งชิงอำนาจ ผลประโยชน์ทางการเมือง ร้อยละ 97.7 ระบุ การทุจริต คอร์รัปชันที่ยังมีอยู่ในระบบราชการและการเมือง ร้อยละ 97.4 ระบุ ปั่นกระแส ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ทำลายชาติ ทำลายผู้อื่น ร้อยละ 97.0 ระบุ ดูถูกดูแคลนผู้อื่น บั่นทอนกำลังใจผู้อื่น คุกคามและเบียดเบียนผู้อื่น และร้อยละ 96.0 ระบุ สร้างความเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเกิดการเผชิญหน้ากลายเป็นจลาจลยากควบคุม

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง จุดจบที่จะเห็นแต่ไม่ต้องการ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.8 ระบุ สังคมอยู่ไม่ได้ เพราะคนฝ่าฝืนกฎหมาย บ้านเมืองไร้ขื่อแปรเกิดความรุนแรงบานปลาย ร้อยละ 97.2 ระบุ ต่างชาติ เข้าครอบงำ แทรกแซง กอบโกยผลประโยชน์ชาติและของประชาชนไป และ 97.1 ระบุ วิกฤตโควิดติดเชื้อและตายมากขึ้น จากความไม่สำนึก ซ้ำเติมเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็น “ทางรอด” ที่จะผ่านไปด้วยกันในวิกฤตโควิด จากพลังความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ที่มีแบบอย่างที่ดีมาจาก “หมูป่าถ้ำหลวง” ที่มีความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันหลัก ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเอกชนและต่างประเทศ  มุ่งเป้าหมายเดียวกันคือ “ช่วยชีวิตเด็กทั้งหมด” ซึ่งแสดงถึงจุดแข็งของวัฒนธรรมไทยต่อชาวโลกที่มีน้ำใจช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน และยังสะท้อนให้เห็นถึงทางรอด ผ่านการเรียนรู้ติดตามสถานการณ์โลก ปรับตัวครั้งใหญ่ในการใช้ชีวิต ช่วยเหลือกันและกันบนโลกแห่งความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยพุ่งเป้าหมายเดียวกัน คือ “พาชาติรอดและช่วยชีวิตเราคนไทยทุกคน” จึงจำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีความหวัง ประเทศชาติจึงมีทางออกที่ดี

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาครั้งนี้ก็ได้สะท้อน “ทางร่วง” ที่เป็นหายนะและจุดจบร่วมกัน จากปัญหาการมองเป้าหมายที่ยังแตกต่างกันในวิกฤตชีวิตและทางรอดของประเทศ  ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศที่สำคัญ  โดยชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นถึงปัญหาความอ่อนแอของ โครงสร้างอำนาจและระบบของประเทศจากวิกฤติโควิดที่เป็นอยู่ จากหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล จนเกิดปัญหาการบริการทางสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึงไม่ทันเวลา  การแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง การทุจริตในระบบราชการ การสร้างความโกรธเกลียด ปลุกปั่นให้ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมที่นำมาซึ่งความรุนแรงและการละเมิดกฎหมายจนเกิดการจลาจลไม่สามารถควบคุม และนำไปสู่จุดจบของการครอบงำจากต่างชาติ ที่กำหนดให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น “ตัวเล่น” ตัวต่อไปของพวกเขา …แล้วเราทุกคนจะยอมรับจุดจบชะตากรรมของชาติและของประชาชนเช่นนี้หรือ