posttoday

เปิดผลสำรวจคนกทม.อยากฉีดไฟเซอร์มากสุดตามด้วยโมเดอร์นา

29 กรกฎาคม 2564

กรมควบคุมโรคเผย คนกทม.อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากสุด รองลงมาเป็นโมเดอร์นา พบ79%มองว่าควรไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ขณะที่ 21% ไม่อยากไปฉีดเนื่องจากกลัวผลข้างเคียงจากวัคซีนที่มีอยู่

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 15- 60 ปีขึ้นไป จาก 50 เขตในจังหวัดกรุงเทพฯ วันที่ 24 - 25 ก.ค.64

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.5 ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว โดยเป็นวัคซีน 1 เข็ม ร้อยละ 44 ครบ 2 เข็ม ร้อยละ 32.3 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 0.3 โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca คิดเป็น 47.3% Sinovac 28.3% และอีก 1% เป็น Sinopharm

กลุ่มตัวอย่างเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนด้วยช่องทาง ดังนี้ ประกันสังคม/โควตา หน่วยงาน ร้อยละ 32.1 หมอพร้อม ร้อยละ 19.5 และไทยร่วมใจ ร้อยละ 11.4 ซึ่งกว่าครึ่งของการสำรวจ จำนวน 59.1% ได้ตอบว่าเข้าถึงระบบการจองยาก และอีกส่วนหนึ่งจำนวน 22% ยังไม่ได้ลองเข้าไปทำการจอง

เมื่อถามถึงชนิดวัคซีนที่คนกรุงเทพฯ ต้องการมากที่สุด 46.3% คือ Pfizer อันดับสอง Moderna 27.5% และ Johnson & Johnson 9.3% มีผู้ตอบว่ายี่ห้ออะไรก็ได้ขอให้ได้ฉีดในสถานการณ์ที่มีคนติดเชื้อในปริมาณมาก (2.8%)

กลุ่มผู้ตอบ ร้อยละ 79 เห็นว่า ควรไปฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจาก 1) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง 2) กลัวการติดเชื้อและผลข้างเคียงที่เกิดจากการเจ็บป่วย 3) จะได้ใช้ชีวิตปกติ 4) กลัวรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือ 5) ไม่มีทางเลือก 6) ลงทะเบียนจองโดยโอนเงินจองไปแล้ว

อีก 21% ที่ไม่อยากไปฉีดสาเหตุจาก 1.กลัวผลข้างเคียงของวัคซีนที่มีอยู่ 2.อยากฉีดวัคซีนทางเลือกที่มีประสิทธิภาพแต่ยังไม่เข้ามาในไทย

จากสถานการณ์ที่มีการระบาดในปัจจุบัน มาตรการใดที่เป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้ควบคุมการระบาดได้ ผู้ตอบเห็นว่า 55.93% มาตรการทางกฎหมาย ร่วมกับมาตรการวัคซีน 44.53% คิดว่า มาตรการส่วนบุคคลร่วมกับ มาตรการฉีดวัคซีน 31.53% คิดว่า มาตรการส่วนบุคคลร่วมกับ มาตรการทางกฎหมาย ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ คิดว่าต้องใช้ทุกมาตรการร่วมกัน

ในส่วนของความวิตกกังวลในสถานการณ์ การระบาดระลอกใหม่นี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% มีความวิตกกังวลมาก โดยสาเหตุ คือ กลัวติดเชื้อโควิด 19 เรื่องปัญหารายได้ลดลงและขาดรายได้ ด้านการเรียนไม่ต่อเนื่อง และกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน/ได้รับวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครอบครัวด้วย คิดเป็น 65.7% ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนแล้ว คิดเป็น 79.92% ซึ่งยังต้องเร่งฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุให้ครอบคลุมถึง 80% ต่อไป

จากความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกับกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนวัคซีน โดยผ่านคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการ การให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยจัดสรรให้มีการกระจายผ่านสำนักอนามัยไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดกรุงเทพฯ นั้น มีการฉีดสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-28 ก.ค. 64 จำนวน 5,533,406 โดส เป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 4,643,227 โดส คิดเป็น 60.31% เข็มที่ 2 จำนวน 1,025,493 โดส คิดเป็น 13.32% (ประชากรกรุงเทพฯ 7,699,174 คน)

ซึ่งความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นเป็นไปตามแผนการบริหารการให้วัคซีนที่ทาง ศบค. ได้กำหนดไว้ และสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของ DDC Poll ที่เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเข้ารับบริการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 607 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้มีโรคอ้วนและหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ได้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ยึดหลักมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายในพื้นที่สีแดงเข้ม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422