posttoday

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีฟอกเงินทุจริตเงินทอนวัดสระเกศ

16 กรกฎาคม 2564

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง อดีตพระเมธีสุทธิกรและเจ้าคุณเทอด คดีฟอกเงินทุจริตเงินทอนวัดสระเกศ สาเหตุโจทก์แก้ไขคำฟ้องและทำให้จำเลยเสียเปรียบหลังนำคดีขึ้นสู่การพิจาณาแล้วจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี วันที่ 16 ก.ค.64 ศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีฟอกเงินการทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หมายเลขดำ อท.520/2563 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสังคม สังฆะพัฒน์ หรือพระเมธีสุทธิกร หรือพระราชอุปเสณาภรณ์ อายุ 50 ปี อดีต ผช.เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , นายเทอด วงศ์ชอุ่ม หรือพระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือเจ้าคุณเทอด อายุ 50 ปี อดีต ผช.เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และนายทวิช สังข์อยู่ อายุ 46 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท ดีดีทวีคูณ ที่รับผลิตสื่อให้กับวัดสระเกศฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงินฯตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3,5,10,60 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23,45 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91

โดยคดีนี้อัยการโจทก์ ยื่นฟ้อง จากกรณีที่มีการสอบสวนกล่าวหาทุจริตเงินงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ในการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 10 ล้านบาท ให้วัดสระเกศ ฯ จากงบประมาณปี 2557 ทั้งหมด 72 ล้านบาท ทั้งที่วัดสระเกศ ฯ ไม่มีโรงเรียนแผนกสามัญศึกษา จึงไม่มีสิทธิได้รับงบนี้ โดยมีการร่วมกันลงชื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีไปใช้ในกิจการอื่น ทั้งที่เป็นงบประมาณแผนสำหรับอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 6 กระทง รวมเวลา 6 ปี 24 เดือน และปรับคนละ 168,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1-2 เป็นพระภิกษุผู้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัยซึ่งไม่ปรากฏว่า เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) กำหนดคนละ 1 ปี และให้ยกฟ้องนายทวิช จำเลยที่ 3

ต่อมา อดีต ผช.เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ฯ จำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี

ขณะที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-2 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-2 เป็นคดีหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วโดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1- 2 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ถอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเงินจำนวน 10 ล้านบาทในบัญชีนั้นเป็นทรัพย์สินที่นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.สำนักพศ. กับพวกรวม 4 คนได้มาจากการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาจากคำให้การปฏิเสธของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับฟ้องโจทก์ไม่ได้มีมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน

อีกทั้งเป็นการแก้ไขคำฟ้องในข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดมูลฐานที่เกิดจากการกระทำความผิดของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาคนก่อนกับพวกรวม 5 อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่สอบสวนไว้เดิม ซึ่งเป็นคนละคนกับนายพนม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาคนหลังที่ร่วมกับพวกรวม 4 คนกระทำความผิดต่อหน้าที่ตำแหน่งราชการตามที่ขอแก้ฟ้อง และเงินที่โอนเข้าบัญชีก็เป็นเช็คคนละฉบับกัน เป็นงบประมาณจัดสรรให้คนละโครงการกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน คนละปีงบประมาณกัน อันเป็นมูลเหตุที่สาระสำคัญของการกระทำความผิดฐานฟอกเงินต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นเหตุการณ์นอกเหนือไปจากที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาเป็นความผิดมูลฐานตามคำฟ้องเดิมและเป็นสาระสำคัญแก่คดี โดยไม่ได้เป็นเพียงรายละเอียดบางส่วนซึ่งต้องแถลงในฟ้องให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง และไม่เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนมาแต่แรกตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด

ประกอบกับจำเลยที่ 1-2 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมมูลฐานความผิดและทำให้จำเลยที่ 1-2 หลงข้อต่อสู้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1-2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยถือเอาข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดมูลฐานตามฟ้องเดิมเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้คดี

การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการทำให้จำเลยที่ 1-2 เสียเปรียบ และหลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่ไม่ได้กล่าวไว้ จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องไปเช่นนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 164 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง

แม้โจทก์จะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม จากนั้นจึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาภายหลังก็ตามก็เป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.อ.มาตรา 120 และ 143 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริต ฯ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลเท่ากับว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-2 เป็นคดีนี้ได้

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-2 มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ ไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-2 ในข้อนี้ฟังขึ้น

จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1-2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น