posttoday

เปิดผลสุ่มตรวจเฝ้าระวังเชื้อโควิดพบ "สายพันธุ์อังกฤษ" พบมากสุดในไทย

09 มิถุนายน 2564

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลสุ่มตรวจเฝ้าระวังเชื้อโควิดตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.64 จำนวน 4,185 ราย พบสายพันธุ์อังกฤษพบมากสุดในไทย รองลงมาเป็นสายพันธุ์อินเดีย และ สายพันธุ์ดั้งเดิม ขณะที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้พบ 26 ราย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศ ซึ่งการร่วมมือนี้จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่เข้มแข็ง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค การรักษา และการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ในประเทศ

ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนเม.ย. –มิ.ย.64 รวมจำนวน 4,185 ราย สรุปผลได้ดังนี้

-สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มีการพบมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 3,703 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.48

-รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 348 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.32

-สายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1 (dade G), B.1 (dade GH), B.1.1.1 (dade GR) จำนวน 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.34

-สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.62

-สายพันธุ์ B.1.524 จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24

ซึ่งข้อมูลต่างๆ นี้มีการประสานรายงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ในการควบคุมเฝ้าระวังในพื้นที่ต่อไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลรายงานขององค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ และ WHO พบว่าสายพันธุ์อังกฤษ เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้

ส่วนสายพันธุ์อินเดีย พบว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ อย่างไรก็ตามยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าแต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้เช่นกัน

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่ามีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

ข้อมูลล่าสุด (วันที่ 9 มิถุนายน 2564) มีการรายงานพบสายพันธุ์อินเดีย ในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 348 ราย พบในกรุงเทพมหานคร 318 ราย อุดรธานี 17 ราย สระบุรี 2 ราย นนทบุรี 2 ราย ขอนแก่น 2 ราย ชัยภูมิ 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย

การรายงานผลการเฝ้าระวังนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศ จังหวัด ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังติดตามในจังหวัด รวมถึงเป็นข้อมูลในการรักษาโรค และเพื่อให้ประชาชนได้ป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เช่นเดิมไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเดินหน้าเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ข้อมูลการเฝ้าระวังกับทุกหน่วย เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ