posttoday

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

02 พฤษภาคม 2564

.

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

***************************

“ไม่รู้จะรักษาหายไหม เชื้อจะลงปอดไหม เอายาอะไรมารักษา  กลับบ้านไปก็ไม่รู้ จะตกงานไหม  สองคืนแรกบางคนไม่ได้นอน นอนดูเวลาเมื่อไรจะหมดวัน พอเชื้อไม่หมดก็ยิ่งเครียด ใจหล่นตาตุ่ม”

พจนาถ แย้มยิ้ม  หรือ “มด” แท็กซี่จิตอาสาให้กำลังใจผู้ป่วยโควิด-19 อธิบายความกังวลของผู้ป่วยที่รักษาตัวในรพ.สนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) เป็นภารกิจที่เขาได้เข้าร่วมใน “โครงการจิตอาสาให้กำลังใจสู้ภัยโควิด @ปทุมธานี”  ที่นำผู้ที่หายป่วยโรคโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว มาดูแลสภาพจิตใจไม่ให้ป่วยซึมเศร้า ซึ่งเป็นอาการที่พบเกือบครึ่งกับผู้ป่วยโควิด-19   มด เป็น 1 ใน 3 จิตอาสา ที่เป็นกำลังหลักโครงการนี้

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

@เอาใจเขามาใส่ใจเรา

“ที่ผมมาช่วย เพราะท่านผู้ว่าปทุมธานี และนักสังคมสงเคราะห์ รพ. ธรรมศาสตร์ ชวนเข้าโครงการ ผมเองเคยเป็นโควิด และหายแล้ว ไม่ปิดบังไม่อาย เปิดเผยต่อตัวสังคม ออกทีวี แชร์ประสบการณ์ เพราะผมเอาใจเขาใส่ใจเราว่า ตอนที่เราเป็นไม่มีใครดูแล ญาติพี่น้องก็ไม่มา คุยแต่แฟนกับแม่แค่นั้น และก็เห็นหน้าลูกทางมือถือ เมื่อผมลงพื้นที่ได้คุยกับเขาแล้วช่วยให้เขาหายเครียด ผมก็อยากทำ

...เราทำงานเป็นจิตอาสาได้ 3 เดือน การตอบรับจากผู้ป่วยก็ดีขึ้น เพราะผู้ป่วยกับผู้ป่วยได้คุยกันเอง เหมือนคนอารมณ์เดียวกัน เลยตอบโจทย์ด้วยกันได้ คำถามที่ผู้ป่วยถามผม มันก็อยู่ในคำตอบผมอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดอะไรเลยเพราะผมผ่านจุดที่นั้นมาแล้ว“

จังหวัดปทุมธานีถูกจัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามมติ ศบค.  มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม ตั้งแต่การระบาดระลอกสาม 841 ราย (1 พ.ค.2564 )  มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จำนวนมาก จังหวัดปทุมธานีจึงได้จัดโครงการ กำลังใจสู้ภัยโควิด@ ปทุมธานี ขึ้นมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยผู้ว่าฯ ปทุมธานี ร่วมองค์กรหลัก เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,สสส. ,มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และภาคีเครือข่าย  จนถึงขณะนี้เป็นเวลาร่วม 3 เดือน

พจนาถ อายุ 41 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ เขาติดเชื้อโควิด-19  จากการระบาดระลอกแรกช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย.ปีที่แล้วจากการรับผู้โดยสาร ตอนนั้น เขารักษา ที่รพ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี หลังจากหายแล้วมากักตัวที่รพ.สนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 14 วัน ก่อนจะกลับบ้านกักตัวเองอีก 1 เดือน

เขาเล่าประสบการณ์ว่า ตอนที่ติดแรกๆ เป็นที่รับรู้กันในหมู่แท็กซี่ จากนั้นก็เป็นข่าวเพราะเป็นเคสแรกในอำเภอธัญบุรี ผลกระทบเกิดตั้งแต่วันแรกที่เข้ารพ. มีข่าวลือในหมู่บ้านที่พักอยู่แถวคลอง 5 กับครอบครัวว่า แท็กซี่ที่ติดโควิด อาการโคม่า ปอดทะลุแล้ว ทั้งที่ไม่มีอาการตอนนั้น  ขณะที่สังคมรอบข้างแถวบ้านก็กลัว ไม่มีใครกล้าเดินผ่าน แม้จะหายป่วยกลับบ้าน แต่เขาก็ได้รับผลกระทบหนัก ไม่มีกล้ามามาซื้อของที่บ้าน ต้องทำใจไม่ออกไปไหนร่วมเดือน

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

มด เล่าว่า ในบทบาทการเป็นจิตอาสาทำให้เขาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลสนาม ธรรมศาสตร์ เพราะทำหน้าที่เหมือนเป็นญาติคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย

วิธีการทำงาน จะมีการประชุมแบ่งงานกับทีมนักสังคมสงเคราะห์หลักของโครงการ ดูเคสที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน เมื่อลงพื้นที่เจอผู้ป่วยจะแนะนำตัวก่อนว่า เป็นจิตอาสาของโครงการกำลังใจสู้ภัยโควิด และเคยเป็นผู้ป่วยโควิดมาก่อน จากนั้นก็ถามอาการเขา คำถามที่เจอมากที่สุด คือ ตอนอยู่ในโรงพยาบาลใช้ชีวิตอย่างไร จะหายไหม ตอนแรกผมจะไม่บอกว่าผมเป็นผู้ป่วยโควิด เขาก็จะไม่คุย พอเขารู้ว่า ว่าเราเคยเป็นแล้วหายแล้ว ก็จะคุยอย่างเป็นกันเอง

แท็กซี่จิตอาสาสู้ภัยโควิดผู้นี้ เล่าว่า อีกสิ่งที่ได้ช่วยผู้ป่วยที่หาย คือ ตอนกลับบ้านต้องคอยจัดหาแท็กซี่มาบริการส่งผู้ป่วยที่รพ.สนาม ธรรมศาสตร์

“ปกติตอนเช้าเราจะรู้ว่าคนไข้หายดีกลับกี่คน เฉลี่ยก็วันละ 15 คน ผมก็จะให้เพื่อนๆ แท็กซี่ที่มักรับผู้โดยสารจากต่างประเทศส่งมากักตัวที่โรงแรม (state quarantine) ก็ให้มารับผู้ป่วยที่รพ.สนาม ธรรมศาสตร์  เพราะถ้าเป็นรถแท็กซี่ทั่วไป เขากลัวกัน ไม่มีใครกล้ามารับ  ผมก็ตามเพื่อนๆ แท็กซี่มา ตอนนี้มากันเยอะเลย เพราะเขารู้ว่า คนไข้ที่หายแล้วไม่มีเชื้อ .... บางครั้งผมสงสารเห็นใจผู้ที่หายป่วยบางคนไม่มีเงินกลับบ้าน ผมก็อาสาวิ่งส่งให้ฟรี”

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

@ “ไม่อยากให้ใครถูกบูลลี่ซ้ำ”

กรกนก เหมทานนท์ หรือ “จีจี้” อีกหนึ่งจิตอาสา เธอติดโควิดจากการระบาดรอบแรกจากทำหน้าที่การงานที่เป็นแคชเชียร์ในผับ ช่วงที่ต้องกักตัวที่ รพ.สนาม เธอเหงา ว้าเหว่ แม้จะมือถือให้เล่น แต่ก็เบื่อ ต้องอยู่คนเดียว 24 ชม. คิดมากเพราะตกงาน ไม่รู้จะปรึกษาใคร จนทีมสุขภาพจิตของรพ.มาประเมินว่า เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงต้องทำการรักษา

“ตอนหายป่วย ออกจาก รพ.ก็ยังโดนบูลลี่ว่า ติดโควิดได้ไง สังคมรังเกียจ ไม่อยากมาซุงซิงด้วย  เป็นเกือบ 2-3 เดือน กว่าเพื่อนจะยอมรับ"

ปัจจุบัน "จีจี้" ทำแซนวิชขายที่คอนโดย่านพระราม 9 อีกด้านเธอแบ่งเวลาเป็นจิตอาสาเพื่อสังคมให้กำลังผู้ป่วยโควิด-19  ทำให้เธอมีความสุข รู้ถึงคุณค่าชีวิต ปลดเปลื้องความซึมเศร้าทิ้ง เธอลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้ป่วยที่ รพ.สัปดาห์ละ 2 ครั้ง สลับกับใช้ระบบวีดีโอคอลพูดคุยกับคนไข้

"ชีวิตหนูไม่เคยทำอะไรให้กับสังคมเลย นี่เป็นครั้งแรกที่ทำ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ รอยยิ้ม คำขอบคุณจากคนไข้ ทั้งที่บางคนก็อายุมากกว่าหนูด้วยซ้ำไป แค่นี้หนูก็รู้สึกมีความสุขมากแล้ว และภูมิใจในตัวเอง"

เธอบอกว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ 98%  มีความเครียด อยู่ที่เดิมๆ ทุกวัน ไม่มีอะไรเลี่ยนแปลง ไม่มีสังคมภายนอก  ต้องอยู่กับคนที่ไม่รู้จักอีก  เคสตัวอย่างมีหลากหลาย เด็ก วัยรุ่น คนแก่ บางคนปรับตัวกับเพื่อนร่วมห้องไม่ได้  กังวลเรื่องที่บ้าน ห่วงลูกอ่อน กลัวไม่มีนมกิน ไม่มีแพมเพิส เพราะไม่สามารถออกมาซื้อให้ได้ เด็กอยู่กับย่า เราก็ต้องประสานทีมนักสังคมสงเคราะห์ที่รพ.สนามธรรมศาสตร์ให้ซื้อนมไปส่งให้

ตอนนี้อยากให้โครงการอย่างนี้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดก็มีผู้ป่วยเยอะ เราก็เหมือนเป็นตัวแทนญาติผู้ป่วย สามารถไปเยี่ยม พูดคุยกับผู้ป่วยได้  หมอพยาบาลยังไม่รู้ดีเท่าเราในการถูกกักตัว นอกจากคนที่เป็นโควิดด้วยกันที่เคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว"

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

@โครงการเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ต่อสังคม

เริงศักดิ์ ยมะคุปต์ หรือ "วุฒิ"  อายุ 45 ปี เซลล์ดูแลสินค้านำเข้า จิตอาสาคนสุดท้ายในโครงการ "วุฒิ" เป็นโควิด-19 ระลอกแรกจากสถานที่ฟิตเนส

“ที่ผมเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเพราะผมอยากให้ผู้ป่วยที่ติดแล้ว มีทางออก หลังหายป่วย ส่วนคนที่ไม่ได้ป่วย เราจะได้ให้เขาเห็นข้อมูลในสิ่งที่เราทำ เพื่อไปต่อยอดให้เขาเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นว่า โรคโควิดไม่ใช่โรคที่น่ากลัว ป้องกันได้ สังคมเราก็จะได้อยู่ได้ปลอดภัยและไม่กลัวกับโควิด”

ตลอดช่วง 3 เดือนที่เข้าร่วมโครงการ วุฒิ ให้กำลังใจผู้ป่วยเฉลี่ย 10 คนต่อวันใน 2-3 โรงพยาบาลพื้นที่ จ.ปทุมธานี  วันไหนไม่ลงพื้นที่ใช้วีดีโอคอลจะอยู่ที่ 5 คนต่อวัน

“ส่วนใหญ่คนไข้กังวลว่า ถ้าเขาติดแล้ว จะได้กลับไปทำงานต่อไหม บางคนบอกว่า ผู้บริหารต้นสังกัดมาบูลลี่ บางรายมีภาวะซึมเศร้า แต่พอเราเข้าไปพูดบ่อยๆ เขาก็เริ่มมีความหวัง แล้วพอเขามีวิธีแก้ไข เมื่อหายป่วย เขาก็สามารถพูดคุยกับสังคมเขาให้เกิดความเข้าใจกันได้  เรามีกลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ คอยช่วยดูแลปัญหาหลังจากที่เขาออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับไปสู่สังคม”

ผู้ป่วยรายที่ "วุฒิ" สะเทือนใจที่สุด คือ ครอบครัวติดโควิด-19 หมดทั้งพ่อแม่ลูก ต้องกักตัวอยู่ในห้องเดียวกัน ที่รพ.สามโคก จ.ปทุมธานี เขากังวลใจว่า ถ้าหายแล้วจะกลับเข้าสู่สังคมอย่างไร จะดำเนินชีวิตตามปกติได้หรือไม่

“ผมอยากให้โครงการจิตอาสาอย่างนี้เกิดขึ้นทุกๆ อำเภอ ทุกจังหวัดเพราะผู้ป่วยก็มีเยอะทั่วประเทศ โครงการเล็กๆแต่ได้ผลมากเพื่อป้องกันการถูกบูลลี่ ทำให้คนที่หายแล้วกลับไปใช้ชีวิตลำบาก"

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

@ ลดตีตรา ทำร้ายจิตใจผู้ป่วย

ดร.ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ รพ.ธรรมศาสตร์  แกนหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้ กล่าวว่า โครงการสร้างกำลังใจสู้ภัยโควิดจ.ปทุมธานี ถือเป็นแห่งแรกของประเทศที่เกิดขึ้นเพื่อลดการตีตรา ทำร้ายจิตใจผู้ที่หายป่วยและอยากให้มีโครงการอย่างนี้ขึ้นทั่วประเทศ  ถ้าไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ หรือ นักจิตวิทยา มาช่วยดูแลในส่วนนี้ โอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายจะมีสูง

โครงการนี้มีจิตอาสาอยู่เพียง 3 คน รับผิดชอบ 8 รพ.ในจ.ปทุมธานีที่มีรพ.สนาม ศูนย์กลางอยู่ที่ รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ โดยทั้ง 8 แห่งมีผู้ป่วยโควิด-19 นอนรักษาตัวจำนวน 569  ราย (ข้อมูลวันที่ 28 เม.ย.) ในจำนวนนี้เฉพาะที่ รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ มีอยู่มากสุด 330 ราย

เธอบอกว่า ปัจจุบันการทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในเคสหนักๆจะอยู่ 20 รายต่อวัน เช่น มีครอบครัวหนึ่งติดกันทั้งบ้าน 5 คน ทั้งนี้รพ.สนามบางแห่งจะเป็นห้องให้คนไข้อยู่รวมกัน จิตอาสาก็จะมาพูดให้กำลังใจผ่านกระจกที่กั้นไว้ เวียนรอบกันเป็นทีม  ก็มีภาพที่น่ารักเกิดขึ้น เช่น เมื่อคนไข้ได้ฟังและเห็นเราชูป้ายให้กำลังใจ เขาก็ถ่ายรูปพวกเราเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ทีมงานสัมผัสได้

เธอ กล่าวว่า ที่รพ.สนาม ธรรมศาสตร์ เรามีนักสังคมสงเคราะห์ 9 คน จะแบ่งความรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เมื่อครั้งการระบาดระลอกแรกปีที่แล้ว กระทั่งการระบาดรอบสองปลายปี จะมีชาวเมียนมาเป็นผู้ป่วย เราจะมีภาษาเมียนมา ภาษาอังกฤษเข้าไปเติมเต็มให้

ในการระบาดระลอกนี้ เราพบว่า ผู้ป่วยในรพ.สนาม 40% ได้รับผลกระทบทั้งภาวะซึมเศร้า ความเครียดสะสม  บางคนเป็นผู้นำครอบครัว ดูแลการเงิน และกังวลเศรษฐกิจภาพรวม การตกงาน กลัวจะอยู่ได้แค่ 3 เดือนแล้วลำบาก อีกส่วนกังวลว่า เมื่อหายแล้วจะกลับเข้าไปทำงานไม่ได้

"หลายคนตกงาน ขาดรายได้ และเด็กไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัว ภาวะการเจ็บป่วยส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยที่เป็นหัวหน้าครอบครัวส่วนหนึ่งประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน หากต้องสงสัยถูกกักตัวไว้ 14 วัน จึงทำให้ครอบครัวเดือดร้อน"

เธอ กล่าวว่า ผลกระทบของผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากหายป่วย จะถูกตีตราจากสังคม เพราะสังคมมีข้อสรุปว่า คนกลุ่มดังกล่าวเป็นเชื้อโรคโควิด-19 ที่ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ควรเข้าใกล้ ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการดูแลที่ถูกต้อง แต่กลับไม่ได้รับการดูแล และหากเป็นผู้ที่ได้สัมผัสกับผู้ที่อาจจะติดเชื้อโควิด -19 ก็ไม่อยากแสดงตัว แต่กลับใช้ชีวิตเป็นปกติจนกระทั่งมีอาการมากขึ้น จึงจะเข้าสู่ระบบการไปตรวจรักษาจากโรงพยาบาล 

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม

จิตอาสาสู้ภัยโควิด โมเดลลดผลกระทบสังคม