posttoday

ตำรวจชี้โทรขายประกันโควิดลูกค้าไม่ซื้อส่งข้อความเย้ย!ผิดอาญาร้องคปภ.ได้

29 เมษายน 2564

ตำรวจชี้"โทรขายประกันลูกค้าไม่ซื้อส่ง sms เย้ย บัตรทอง เตียงสนามรออยู่"ผิดอาญาม.397ข่มขู่คุกคามแนะร้องคปภ.ดำเนินการตามกม.เกี่ยวข้อง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. และโฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอกล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอข่าวกรณี “โทรขายประกันลูกค้าไม่ซื้อ ส่ง sms เย้ย บัตรทอง เตียงสนามรออยู่” ว่า

เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดอย่างมาก ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อาจมีความจำเป็นต้องซื้อประกันเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยแต่ละบริษัทก็จะมีการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป ดังนั้นบริษัทประกันภัยจะมีการเข้าหาลูกค้าในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีวิธีการเข้าหาที่แตกต่างกันไป เช่น มีการเดินขายประกันกันตามที่พักอาศัย , มีการประกาศขายทางอินเทอร์เน็ต , มีการโทรศัพท์หาลูกค้าเพื่อขายประกัน ฯลฯ

จากกรณีดังกล่าวที่ปรากฎตามสื่อสังคมออนไลน์นั้น ได้มีตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งโทรมาขายประกันให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าได้ปฏิเสธการซื้อขายดังกล่าว ต่อมา ตัวแทนบริษัทคนดังกล่าวได้มีการส่ง sms มาให้ลูกค้าโดยมีข้อความระบุว่า “บัตรทอง เตียงสนามรออยู่” ซึ่งทำให้ลูกค้ารายดังกล่าวเกิดความไม่พึงพอใจ และได้โพสต์เรื่องราวดังกล่าวลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการส่งต่อและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในเรื่องของความเหมาะสมและข้อกฎหมาย

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดฐาน กระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวนั้น เป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

รอง โฆษก ตร. และ โฆษก บช.สอท. ขอฝากเตือนไปยังผู้ที่กระทำการลักษณะดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งพี่น้องประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการซ้ำเติมทางด้านจิตใจเข้าไปอีก และหากพบเห็นการกระทำลักษณะดังกล่าวหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ขายประกัน สามารถร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวได้โดยตรง