posttoday

จับตาศบค.ชุดใหญ่ยกระดับ6จว. "เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด"

27 เมษายน 2564

จับตาที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 29 เม.ย.นี้ พิจารณายกระดับ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อเสนอของ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19ว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กได้รับทราบข้อเสนอของที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC)ที่ให้มีการยกระดับพื้นที่จังหวัดเป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสด และพื้นที่ควบคุม โดยจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกฯเป็นประธานในวันที่ 29 เม.ย.นี้

6จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

สำหรับข้อเสนอของ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ให้ยกระดับพื้นที่จังหวัดแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโรคให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และชลบุรี

2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง มี 55 จังหวัด

3.พื้นที่ควบคุม สีส้ม มี 16 จังหวัด คือ แพร่ พะเยา นครพนม ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน พังงา สตูล น่าน ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

จับตาศบค.ชุดใหญ่ยกระดับ6จว. "เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด"

มาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

หากย้อนกลับไปดูมาตรการที่ศบค.นำมาใช้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเมื่อครั้งการระบาดในช่วงเดือนธ.ค.63-ม.ค.64 ก็จะพบว่า มีมาตรการสำคัญประกอบด้วย 1.ปิดสถานที่เสี่ยง 2.ห้ามนั่งบริโภคในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มตั้งแต่เวลา 21.00-6.00 น. 3.ตรวจคัดกรอง การเดินทางข้ามจังหวัดให้มีการบันทึกข้อมูลและดำเนินการตามมาตรการสธ. 4.งดการเดินทางข้ามพื้นที่ เว้นแต่เหตุจำเป็นหรือขนส่งสินค้า 5.จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

ทั้งนี้มาตรการในปัจจุบันของแต่ละจังหวัดที่ถูกเสนอให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ก็ล้วนแต่ใช้มาตรการที่เข้มข้นเกือบทั้งหมดแล้ว ขาดแต่เพียงการงดเดินทางข้ามพื้นที่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้ในการยกระดับพื้นที่ในครั้งนี้