posttoday

กทม.เร่งหาเตียงICUเพิ่มรองรับผู้ป่วยโควิดตามระดับอาการ

26 เมษายน 2564

กทม.เร่งหาเตียง ICU เพิ่มเติมพร้อมเตรียมบุคลากรทางการแพทย์เครื่องมือรองรับผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น การรักษาจะคัดแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดเตรียมเตียง ICU และบุคลากรทางการแพทย์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นว่า กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมสร้าง ICU เพิ่มเติมโดยเร่งด่วน พร้อมเตรียมบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงหมุนเวียนปรับโยกย้ายผู้ป่วยตามอาการ ตลอดจนปรับหอผู้ป่วยเตียงรวมที่ไม่มีห้องแยก (cohort COVID-ICU) เพื่อความเหมาะสม

ทั้งนี้ ยังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการเตียง ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก ซึ่งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์เอราวัณ จะเป็นหน่วยบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 และการจัดสรรเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของโรค พร้อมบริหารรถนำส่งผู้ป่วย ไปยังสถานพยาบาลซึ่งเป็นเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยคัดแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ ดังนี้

กทม.เร่งหาเตียงICUเพิ่มรองรับผู้ป่วยโควิดตามระดับอาการ

1.“ผู้ป่วยสีเขียว” คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาฯ ขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นแดงที่เท้าหรือผิวหนัง ถ่ายเหลว 2. “ผู้ป่วยสีเหลือง” คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง เริ่มมีอาการหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่ง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ) โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด) โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม) ตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (wbc < 1,000 cell/mm3) และ 3.“ผู้ป่วยสีแดง” คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหอบเหนื่อยเวลาเดิน หายใจลำบาก พบปอดอักเสบ มีภาวะปอดบวม (ความอิ่มตัวของเลือด < 96%) หรือความอิ่มตัวของเลือดลดลง > 3% หลังออกแรง

ทั้งนี้ เมื่อประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะนำส่งไปยังสถานพยาบาลต่อไป โดยการรับ-ส่งผู้ป่วยในแต่ละวันจะดำเนินการตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 น. หากผู้ป่วยท่านใดตกค้าง หรือรอคิวเป็นเวลานานสามารถประสานแจ้งข้อมูลได้ที่หมายเลขสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สายด่วน 1330 ศูนย์เอราวัณ กทม. โทร. 1669 และสามารถแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น Line @sabaideebot ได้อีกช่องทางหนึ่ง