posttoday

กสม.ยื่น5ข้อเสนอผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนคุมโควิด-19

01 เมษายน 2564

กสม.ยื่น5ข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อศบค.กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยรายงานข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 กล่าวได้ว่า รัฐบาลสามารถดำเนินการผ่านกลไกและมาตรการต่าง ๆ ที่จะควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผล

กสม. ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด 19 และพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หน้าที่และมาตรการของรัฐในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้แก่ สิทธิในสุขภาพ สิทธิที่จะมีการดำรงชีวิตที่ได้รับมาตรฐานที่เพียงพอ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ในการป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นการทั่วไป รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่เสนอต่อ ศบค. เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ควรมีมาตรการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมตีตรา เหมารวม ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลเหล่านั้น

2. ควรคำนึงถึงการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม สำหรับกลุ่มที่อาจถูกละเลย รวมทั้งควรสร้างความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับวัคซีนและขั้นตอนที่จะให้ประชาชนแจ้งความประสงค์ในการรับวัคซีน โดยคำนึงถึงรูปแบบและภาษาที่เข้าใจได้ง่าย รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ คนต่างด้าว เป็นต้น รวมทั้งควรสำรวจความประสงค์และอำนวยความสะดวกการเดินทางไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่รัฐบาลกำหนด โดยคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงทางกายภาพ (physical accessibility) ซึ่งอาจประสบความยากลำบากในการเดินทาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

3. ควรมอบหมายให้หน่วยงานในระดับพื้นที่สำรวจเพิ่มเติมว่าการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ ยังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ตกหล่นหรือไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาในภายหลังหรือไม่ เช่น ผู้ตกงานภายหลังจากการยุติมาตรการเยียวยา ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึงและเข้าถึงผู้มีความจำเป็นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ควรให้ความช่วยเหลือหรือมีมาตรการเยียวยากลุ่มนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในด้านการศึกษาและอื่น ๆ ให้เข้าถึงอุปกรณ์การเรียน การสอนเพิ่มเติมจากออนไลน์ อุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง เป็นต้น

4. ควรดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อันเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ และควรเปิดเผยผลการตรวจสอบการทุจริตกรณีการลักลอบนำแรงงานที่ผิดกฎหมายเข้าประเทศและการลักลอบเล่นการพนันให้ประชาชนทราบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการจัดการปัญหาดังกล่าว

5. ควรบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น เช่น การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม การห้ามทำกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดรายละเอียดของการบังคับใช้มาตรการให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกันหรือเกินสมควร

“กสม. จะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรด้านสาธารณสุขที่เสียสละอุทิศตนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะของ กสม. ไปปฏิบัติจะได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและประโยชน์ของสังคมโดยรวม” นายสุวัฒน์ กล่าว