posttoday

ราชทัณฑ์ แจงยิบไทม์ไลน์ เหตุ "อานนท์-พวก" ไม่ยอมตรวจโควิด เจรจาหลายรอบเลยดึก

18 มีนาคม 2564

ราชทัณฑ์พร้อมส่งหลักฐานให้ศาลไต่สวน แจงยิบไทม์ไลน์เหตุ”อานนท์- พวก”ไม่ยอมตรวจโควิด-19 รับเจรจาหลายรอบเลยดึก ยันมีบันทึกภาพ-เสียงระหว่างจนท.ปฏิบัติงานชัด-เจ้าหน้าที่เป็นคนของราชทัณฑ์ทุกคน

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 64 ที่กระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและในฐานประธานคณะกรรมการประมวลข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ที่ประชาชนสนใจ กล่าวถึงกรณี นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ร้องเรียนถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ในช่วงยามวิกาล ว่า จากหลักฐานของกรมราชทัณฑ์ซึ่งมีหลักฐานเป็นกล้องบันทึกภาพและภาพมีเสียง ระบุเวลาชัดว่า นายอานนท์และพวกรวม 4 คนได้เดินทางจากศาลพร้อมด้วยผู้ต้องขังที่ไม่ใช่คดีการเมืองอีก 9 คนถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เวลา 17.10 น. จากนั้นเวลา 18.46 ได้รับย้ายตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำราษฎร และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่ม Wevo มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาจำแนกทำประวัติ และทำทะเบียนแรกรับ และนำตัวมาห้องกักโรคแรกรับพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นที่รับตัวกลับมาในวันเดียวกันจากภายนอกในห้องกักโรคแรกรับรวมเป็นทั้งหมด 16 คน

“ศบค. ได้ประกาศให้พื้นที่เขตบางแค และตลาดบางแค เป็นพื้นที่สีแดง จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่า 290 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเจรจาเพื่อให้ทั้ง 3 ที่มาจากเรือนจำธนบุรี แยกกักโรคต่างหากจากผู้ต้องขังรายอื่นที่มาในวันเดียวกันและตรวจเชื้อโควิด-19จึงเลยเวลาไปประมาณเที่ยงคืนเศษ แม้ว่าในเรือนจำจะมีห้องกักโรคแต่มีผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกวัน แม้ว่าทั้ง 3 คนจะถูกกักโรคอยู่ที่เรือนจำธนบุรีมา 7 วันแล้วก็ตาม ยังไม่ครบกำหนด 14 วัน อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ แต่ทั้ง 3 คนไม่ยอมและขออยู่รวมกับนายอานนท์”นายวัลลภ กล่าว

นายวัลลภ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเพื่อความสงบเรียบร้อยและไม่เกิดความวุ่นวาย ต่อต้าน จนควบคุมไม่ได้ จึงขอความร่วมมือขอตรวจร่างกายเพื่อคัดกรอง PCR ตรวจไวรัสโควิด-19 ทุกคน โดยมีผู้ยินยอมให้ตรวจเพียง 9 คนที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง ส่วนนายอานนท์และพวกรวม 7 คนที่เป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ยินยอม ทำให้แพทย์พยาบาลและ สหวิชาชีพจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต้องตรวจ 9 คนไปก่อน ในเวลา 23.00 น. เศษ และต้องใช้เวลาเตรียมอุปกรณ์ ตั้งโต๊ะตรวจในบริเวณพื้นที่หน้าห้องกักและสวมชุดป้องกัน ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้งไม่ใช่ที่ลับตา จึงเรียกตรวจทีละคนพร้อมเจรจากับผู้ต้องขังทั้ง 7 คนอีกครั้งที่ปฏิเสธในช่วงแรกไปด้วยซึ่งไม่เป็นผล จนแล้วเสร็จประมาณเที่ยงคืนกว่า

“ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เตรียมห้องใหม่เพื่อย้ายทั้ง 9 คนที่ตรวจโรคแล้วไปกักโรคอีกห้องเพื่อสังเกตอาการ โดยกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นประมาณ ตี 2 เศษ ซึ่งเจ้าหน้าเวรและชุดปฏิบัติการพิเศษ ได้เข้ามาเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง 2 นาย ซึ่งตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ชุดปฏิบัติการพิเศษไม่ได้กำหนดให้ติดป้ายชื่อ ยกเว้นหัวหน้าชุดที่จะมีป้ายชื่อและมีกระบองพกอยู่เนื่องจากเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังมีความเสี่ยงจึงต้องพกไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากกฎ ระเบียบที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นประธานฯคณะทำงานจะเร่งประมวลข้อเท็จจริงให้เสร็จโดยเร็ว “นายวัลลภ กล่าว

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า เหตุที่กระบวนการทั้งหมดที่ล่าช้า เพราะนายอานนท์และพวกรวม 7 คนไม่ยอมให้ตรวจหาเชื้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่และทีมงานแพทย์ พยาบาลต้องเจรจานานหลายชั่งโมง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ตรวจก็เป็นผู้หญิง หากดึกไปก็จะทำงานลำบาก ทุกคนอยากให้ทุกอย่างเสร็จโดยเร็ว แต่เมื่อเจรจาหลายครั้งไม่สำเร็จ ยืนยันว่า เรือนจำจำเป็นต้องแยกผู้ที่ให้ความร่วมมือตรวจแล้วไปกักโรคต่างหาก และหากพบการติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องย้ายไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล ซึ่งการตรวจโควิดจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ หากผู้ต้องขังอื่นทราบว่าเรือนจำฯไม่ได้ตรวจคัดกรอง หากภายหลังเกิดการแพร่ระบาดภายในเรือนจำ อาจเกิดการจลาจลร้ายแรงเหมือนกรณีเรือนจำในต่างประเทศได้

“เราไม่สามารถเอาผู้ต้องขัง 3,000 กว่าคนที่ผ่านช่วงการกักโรคแล้วมาร่วมเสี่ยงได้ การทำงานของเจ้าหน้าที่จะมีการบันทึกวีดีโอทั้งภาพและเสียงในช่วงการปฏิบัติงานเคลื่อนย้าย 9 ราย ยืนยันว่าไม่มีการทำร้าย ราชทัณฑ์ทำตามหลักสิทธิมนุษยชน เพียงแค่นำตัวผู้ต้องขังออกไปห้องกักโรคอีกห้องเท่านั้นและหากศาลเรียกข้อมูลตรงนี้เราก็พร้อมที่จะส่งให้ศาลเพื่อพิจารณาการประกอบการไต่สวน”นายวัลลภ กล่าว