posttoday

ศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่คดี "รุกป่าเขาแพง"

18 มีนาคม 2564

ศาลฎีกาสั่งย้อนสำนวน "แทน เทือกสุบรรณ" กับพวกรุกป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ หลังสั่งยกฟ้องจำเลยในคดีรุกป่าเขาแพง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีรุกป่าเขาแพงหมายเลขดำ อ.3534/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพรชัย ฟ้าทวีพร อายุ 55 ปีเศษ ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น , นายสามารถ หรือโกเข็ก เรืองศรี อายุ 63 ปีเศษ หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน , นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 39 ปีเศษ บุตรชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานีหลายสมัย และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 65 ปีเศษ อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 , 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 22

กรณีกล่าวหาว่า ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.43 – 5 ต.ค.44 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ่วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ซึ่งคดีศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย.59 ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดจริง ให้จำคุกนายพงษ์ชัย จำเลยที่ 1 และนายสามารถ หรือโกเข็ก ที่ 2 คนละ 5 ปี ฐานห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้ ฯ ซึ่งกระทำนั้นได้ทำเกินเนื้อที่ 25 ไร่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง , 72 ตรีวรรคสอง

ส่วนนายแทน บุตรชายของนายสุเทพ จำเลยที่ 3 และนายบรรเจิด ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) , 108 ทวิ และพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง , 72 ตรี วรรคหนึ่ง ให้จำคุกคนละ 3 ปี ฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและผู้ใด ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้ ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด และเพราะป่าไม้เป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมกันหวงแหน บำรุงรักษาให้อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ ร่วมกัน ไม่ให้เป็นของส่วนตัวแก่ผู้ใด การ กระทำของจำเลยทั้งสี่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ทั้งโดยตรงและทางอ้อม อันเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้ง และภัยพิบัติจากน้ำป่าไหลหลาก สภาพความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ พร้อมทั้งให้จำเลยทั้งสี่ , คนงาน , ผู้รับจ้าง , ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินและป่าไม้บริเวณที่เกิดเหตุทั้งหมด

ขณะที่จำเลยที่ 1-4 ยื่นอุทธรณ์สู้คดี โดยได้ประกันตัวกันคนละ 300,000 – 500,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ต่อมามีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่...ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ทุกข้อหา

อัยการโจทก์ จึงยื่นฎีกา วันนี้นายแทน บุตรชายของนายสุเทพ เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา เช่นเดียวกับจำเลยคนอื่น ๆ

ทั้งนี้ผลคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของอัยการว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของนายพรชัย จำเลยที่ 1 กับนายสามารถ จำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลฎีกาฯ เห็นว่าคดีนี้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 , 108 ทวิ กับ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 55, 72 ทวิ โดยระบุถึงฐานความผิดของจำเลยทั้งสี่อย่างชัดแจ้ง และบรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกอันเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา อันเป็นการทำลายป่าเขาแพง ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐและเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลใดได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดิน โดยจำเลยที่ 1-2 ไม่มีสิทธิครอบครอง หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ได้ระบุการกระทำซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 1-2 ได้กระทำผิด มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับวัน-เวลา-สถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ รวมทั้งบุคคลหรือสิ่งเกี่ยวข้องด้วยได้พอสมควรเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว

ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1-2 จะเป็นความผิดหรือไม่อย่างไร จะยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุอย่างไรบ้าง เป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา และเป็นเรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนต่อไป โดยคดีนนี้ทั้งจำเลยที่ 1-2ก็เข้าใจข้อหาได้ดีโดยให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีตลอดตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยจำเลยอ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายต่อมาจากเจ้าของที่ดินรายเดิม การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. 3 ก. ทั้ง 3 แปลงปฏิบัติโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นฟ้องของอัยการโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1-2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( ป.วิ.อ.)มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ของอัยการฟังขึ้น

ประกอบกับคดีนี้ จำเลย ที่ 1-4 ในชั้นอุทธรณ์ก็ต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1-2 โดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉั อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1-2 ที่โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด แต่กลับข้ามไปพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ นายแทน จำเลยที่ 3 กับนายบรรเจิด จำเลยที่ 4 ซึ่งมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการกระทำของจำเลยที่ 1-2 ทั้งที่มูลเหตุของการดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่ สืบเนื่องมาจากที่ดิน ส.ค.1 ทั้ง 3 แปลงที่จำเลยที่ 1-2 นำมาดำเนินการขอออกหนังสือรับรอง น.ส.3ก. ทั้ง 3 แปลงที่เกิดเหตุ ซึ่งการที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-2 ต่อไปนั้นอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยงแปลงไป ดังนั้นเพื่อให้การวินิจฉัยคดีไม่เป็นการลักลั่นและการกำหนดโทษของจำเลยทั้งสี่เป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้

ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เดิมและให้ย้อนสำนวนคดีนี้กลับคืนให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณา และมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เคยตัดสินให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยให้ย้อนสำนวนคดีนี้กลับคืนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น เท่ากับว่าคำพิพากษาของศาลศาลอุทธรณ์ ไม่มีผล ซึ่งจากนี้ศาลอุทธรณ์จะต้องนำสำนวนคดีมาพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่โดยอาจจะมีคำพิพากษาลงโทษ หรือยกฟ้องก็เป็นไปได้ ส่วนระยะเวลาการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ใหม่นี้จะใช้ระยะเวลานานเท่าใดไม่อาจทราบได้