posttoday

มท.เร่งผลักดันบทบาท"คณะกรรมการหมู่บ้าน"สร้างสุขลดทุกข์ประชาชน

16 มีนาคม 2564

กรมการปกครองเร่งผลักดันบทบาท“คณะกรรมการหมู่บ้าน”ทำงานเป็นผู้ช่วยมหาดไทยทำหน้าที่ให้ประชาชน"ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” 

นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า กรมการปกครองได้ผลักดันคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.)ให้เป็นรากฐานของแผ่นดินมีความสำคัญต่อกระบวนการบริหารพัฒนาประเทศ คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นบุคคลในระดับพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนโดยทำหน้าที่ในการนำนโยบายของภาครัฐไปปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านทำให้ประชาชน 75,086 หมู่บ้านทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการหมู่บ้านเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2486 ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาเพื่อให้การบริหารจัดการในหมู่บ้านสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคม จึงได้ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน มีโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากทุกกลุ่ม/องค์กรในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม และกำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการอันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ นอกจากนั้น ยังเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและบริหารจัดกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วน

สำหรับ การทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้านแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 6 ด้านหลักประกอบด้วย 1.คณะทำงานด้านอำนวยการ 2.คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย 3.คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน 4.คณะทำงานด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข 5.คณะทำงานด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 6. คณะทำงานด้านอื่น ๆ (ตามความเหมาะสมของพื้นที่) การแบ่งหน้าที่ของคณะทำงานด้านต่าง ๆ จะครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน รวมถึงหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน กรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้บูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนเรื่อยมา เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเปรียบเป็นคณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน

นายธนาคม กล่าวว่า หากหมู่บ้านใดมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่เข้มแข็งจะทำให้หมู่บ้านโดดเด่นและพัฒนาตามไปด้วย การจะสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านจะต้องช่วยเหลือกัน และทำหน้าที่วางแผนหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่แผนระดับต่าง ๆ เช่น แผนตำบล แผนท้องถิ่น แผนอำเภอ แผนจังหวัด โดยแนวทางในการดำเนินการของคณะกรรมการหมู่บ้านต้องทราบว่าหมู่บ้านตนเองเป็นอย่างไรและต้องการอะไร เพื่อเสนอแผนงานในการของบประมาณดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านของตนเองต่อไป ทั้งทางด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดความพร้อมและความเข้มแข็งภายในหมู่บ้าน สามารถพึ่งพาตนเองได้

"ในสถานการณ์การโควิด-19 คณะกรรมการหมู่บ้านมีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงกิจกรรมที่ทางผู้ใหญ่บ้านร้องขอ เช่น ในบางครั้งผู้ใหญ่บ้านอาจมีภารกิจอื่นที่จะต้องทำนอกเหนือจากที่กำหนดในระเบียบ กฎหมาย และไม่สามารถจะทำงานได้เพียงลำพัง จึงต้องขอให้คณะกรรมการหมู่บ้านช่วยเหลือ และยังมีบทบาทที่สำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาของหมู่บ้านให้ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การบูรณาการในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ หน้าที่ในการประนีประนอมข้อพิพาทในหมู่บ้าน อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการหมู่บ้าน คือ หน้าที่ในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย เช่น การดำเนินการตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ เป็นต้น" อธิบดีกรมการปกครองกล่าว

สำหรับ ความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครองในปี 2564 กรมการปกครองได้กำหนดให้มี 10 โครงการสำคัญสู่การเป็นกรมการปกครองวิถีใหม่ (10 Flagships to DOPA New Normal 2021) ในการบริหารพัฒนาองค์กรเพื่อ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงมหาดไทย และมีเป้าหมายในการพัฒนาหมู่บ้าน โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้านให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภารกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ “หมู่บ้านอยู่เย็น” ตามแนวทางแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ผ่านหลักการ “บวร” หรือ “บรม” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของหมู่บ้านโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน