posttoday

ตกงาน-หนี้อ่วม! กางผลโพลดูปัญหาครอบครัวไทยยุคโควิด

14 มีนาคม 2564

สวนดุสิตโพลเผยปัญหาครอบครัวไทยในยุคโควิด-19 พบมีปัญหาหนี้สินมากสุด รองลงมาเป็นการตกงาน/ว่างงาน และความเครียด โรคซึมเศร้า

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” โดยสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,184 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม 2564 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นจากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รายจ่ายเพิ่ม รายได้ลด เกิดความเครียด วิตกกังวลจนนำไปสู่การกระทบกระทั่งและปัญหาอื่นๆในครอบครัว สรุปผลได้ ดังนี้

1. ในยุคโควิด-19 ปัญหาครอบครัวในภาพรวมที่พบเห็นมากขึ้น คือ

อันดับ 1 มีปัญหาหนี้สิน 75.41%

อันดับ 2 คนในครอบครัวตกงาน/ว่างงาน 69.96%

อันดับ 3 ความเครียด/โรคซึมเศร้า 67.19%

อันดับ 4 การทะเลาะเบาะแว้ง 36.02%

อันดับ 5 การเลิกรากัน/หย่าร้าง 30.30%

2. ในยุคโควิด-19 หากมองในแง่บวก ครอบครัวของท่านเป็นอย่างไร

อันดับ 1 ระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น 70.28%

อันดับ 2 ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น 66.61%

อันดับ 3 มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น 63.28%

อันดับ 4 พักผ่อนมากขึ้น 51.32%

อันดับ 5 มีกิจกรรมทำร่วมกัน 49.36%

3. พฤติกรรมของครอบครัวไทยในยุคโควิด- 19

พฤติกรรมที่ “เพิ่มขึ้น”

1. ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้น 75.17%

2. ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 67.31%

3. มีความเครียด ความวิตกกังวล 57.09%

พฤติกรรมที่ “ลดลง”

1. การเดินทางท่องเที่ยว 63.77%

2. กินข้าวนอกบ้าน 62.42%

3. รายได้ 44.51%

4. ปัญหาหนักอกเกี่ยวกับครอบครัว คือ

อันดับ 1 รายรับไม่พอกับรายจ่าย /รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 44.27%

อันดับ 2 วิตกกังวลเรื่องสุขภาพ กลัวติดโควิด-19 20.31%

อันดับ 3 เรื่องการทำงาน ความมั่นคงในอาชีพ 11.11%

อันดับ 4 มีปัญหาทะเลาะกันในครอบครัวมากขึ้น 9.20%

อันดับ 5 ปัญหาด้านการศึกษาของบุตร-หลาน 7.64%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ปัญหาครอบครัวไทยก็ยังเป็นเรื่องปากท้อง รายได้ หนี้สิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเรื่องเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาหลักของคนไทย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมองเห็นปัญหาระดับจุลภาคนี้หรือไม่ และจะมีแนวทางในการแก้ไขทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือนอย่างไร เพราะครอบครัวนั้นเป็นหน่วยเริ่มต้นของสังคม ถ้าทุกครอบครัวอยู่ดีมีเงินใช้ก็ย่อมส่งผลให้ภาพรวมคุณภาพชีวิตของคนไทยนั้นดีมีความสุขนั่นเอง

ขณะที่ ผศ.ดร.พิมพ์มาดา วิชาศิลป์ คณบดีโรงเรียนท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่า ผลกระทบเชิงลบหลักที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเศรษฐกิจ คือ ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก่อให้เกิดหนี้สินตามมาและเกิดสภาวะความเครียด ซึ่งความเครียดนั้นมิได้มีเพียงแค่ปัญหาปากท้องเท่านั้น แต่มีความเครียดที่มาจากความกังวลใจในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

"จะเห็นได้ว่าผู้คนติดตามข่าวสารและสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยง ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามในสภาวการณ์แพร่ระบาดนี้ ข้อดีที่เห็นได้ชัด คือ การที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมดูแล ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อก้าวข้ามผ่านสภาวการณ์เช่นนี้ไปได้ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง"ผศ.ดร.พิมพ์มาดากล่าว