posttoday

สธ.เผยกลุ่มเสี่ยงจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์มหาสารคามรอผลตรวจโควิด1.6พันราย

03 กุมภาพันธ์ 2564

สธ.เผยพบกลุ่มเสี่ยงเชื่อมโยงเลี้ยงโต๊ะแชร์มหาสารคาม 4,149 ราย ตรวจไม่พบเชื้อโควิด 2,477 ราย ส่วนอีก 1,672 รายอยู่ระหว่างรอผล

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 64 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากมาตรการคัดกรองเชิงรุก ซึ่งส่วนใหญ่เกือบ 80% เป็นแรงงานชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร

สำหรับกรณีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ในจังหวัดมหาสารคาม ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 21 ราย โดยเป็นคนในมหาสารคาม 17 ราย ราชบุรี 3 ราย และขอนแก่น 1 ราย ซึ่งขณะนี้ทีมสอบสวนโรคกำลังเร่งติดตามกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้เข้ามารับการตรวจหาเชื้อ โดยมีจำนวนกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับงานเลี้ยงโต๊ะแชร์นี้ถึง 4,149 ราย มีผลตรวจออกมาแล้วว่าไม่ติดเชื้อ 2,477 ราย ส่วนอีก 1,672 รายอยู่ระหว่างการรอผล

โดยผู้ป่วยติดเชื้อรายล่าสุดเป็นแพทย์อาวุโสอายุ 66 ปีที่เปิดคลีนิก ได้ตรวจผู้ป่วยโควิด-19 รายที่สองเมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 พอได้ข่าวก็ไปตรวจเมื่อวันที่ 29 ม.ค.64 แต่ไม่พบเชื้อก็กักตัวที่บ้าน วันที่ 1 ก.พ.64 มีอาการทางเดินหายใจก็ไปตรวจอีกครั้ง ผลตรวจพบเชื้อ ซึ่งได้แจ้งให้คนไข้ที่ไปใช้บริการช่วงวันที่ 25-29 ม.ค.64 ไปตรวจหาเชื้อ แต่ตามหลักฐานทางวิชาการเมื่อตรวจไม่พบเชื้อก็ไม่น่าจะแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

นอกจากนี้ทางจังหวัดมหาสารคามได้เพิ่มการเฝ้าระวังด้วยการตรวจผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น โรคปอดอักเสบ, โรคคล้ายหวัด ผู้ขายอาหารสดในตลาด โดยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการยืนยันว่ามีการเตรียมความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี

ด้าน พญ.พรรณวิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดความตื่นตระหนกเนื่องจากมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสูงกว่าระลอกแรก โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงจะกลัวติดเชื้อ

ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีส้มและสีเหลืองจะกลัวว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังนั้นนอกเหนือจากการดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพตามหลักชีวอนามัยแล้ว ยังต้องหมั่นดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี โดยมีผลศึกษาในต่างประเทศระบุว่าระดับความเครียดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติถึง 7 เท่าตัว