posttoday

ไทยหล่นอันดับโปร่งใสโลก สะท้อนรัฐมีแต่นโยบายปราบโกง ไร้การปฎิบัติ

30 มกราคม 2564

เลขาองค์กรต้านโกงชี้ไทยหล่น3อันดับความโปร่งใสแย่สุดในรอบ7ปีสะท้อนรัฐบาลมีแต่นโยบายไม่มีการปฎิบัติ

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กร ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงการจัดลำดับ CPIหรือ ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันประจำปี 2020 (Corruption Perception Index) ที่ให้ประเทศไทยตกลง 3 ลำดับจาก 101 เป็น 104 ว่า เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงที่ผลออกมาอย่างนี้ เพราะแสดงว่าขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกเห็นความสำคัญและพัฒนาระบบของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาคอรัปชั่น แต่ประเทศไทยกลับย่ำอยู่กับที่

นายมานะกล่าวว่าประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ลำดับครั้งนี้ของประเทศไทยแย่ที่สุดตั้งแต่มีการจัดลำดับมา ปี 2556 เราได้ลำดับที่ 102 ปี 2559 เราได้ที่ 101 ปีนี้ถือว่าแย่สุดคือได้ลำดับที่ 104 โดยองค์กรที่ให้คะแนนเราต่ำลง คือ World Competitiveness นั้น หลักๆ ของผู้ตอบแบบสอบถามคือภาคธุรกิจ นักบริหาร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในสายตาของนักธุรกิจนักลงทุน มองว่าการคอรัปชั่นยังเป็นปัญหาสำคัญในบ้านเรา ซึ่งแน่นอนจะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนในประเทศไทย

นายมานะกล่าวว่ามีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือกฎหมายการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายหลายๆ ประเทศพบว่า กฎหมายของไทยขาดความชัดเจนเมื่อเทียบกับชาติอื่น ที่เห็นได้ชัดคือโครงการร่วมลงทุนใน EEC ซึ่งพบว่ามีเงื่อนไขที่พิเศษกว่ามาก ทำให้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุนกลุ่มผลประโยชน์มากเกินไป ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมาย BOI ในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีอยู่แล้ว แต่ยังไปย้ำเรื่อง PPP ในโครงการ EEC อีก

นายมานะกล่าวว่าขณะที่องค์กรอื่นโดยรวมรวมทั้ง World Economic Forum ให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า พวกเขาได้รับรู้ว่าหน่วยงานของรัฐความพยายามที่จะยกระดับการให้บริการให้เกิดความโปร่งใสเพื่อแก้ปัญหา แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จึงทำให้คอรัปชั่น สินบน หรือเงินใต้โต๊ะ หรือการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องไม่ได้ลดน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องตกต่ำที่ยังคงตกต่อไป

"เรามีกฎหมาย มีนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติไม่เห็นการปฏิบัติที่ชัดเจน" เลขาธิการองค์กร ต่อต้านคอร์รัปชันกล่าว

นายมานะกล่าวว่า หัวใจของปัญหาอยู่ที่คนในระบบราชการ ควบคู่ไปกับคนในภาคการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งภาคราชการก็ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการต่างทำงาน เราพยายามปฏิรูปราชการ ปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปตำรวจ และการปฏิรูปการต่อต้านคอรัปชั่น แต่ก็ไม่คืบหน้า

ด้านนางจุรี วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เราว่าอาจจะถือ CPI เป็นกระจกบานหนึ่งที่จะสะท้อนภาพสิ่งที่คนอื่นเขาเห็นเรา เห็นว่าเรื่องคอรัปชั่นของเรายังดีขึ้นขนาดที่บางประเทศยังเกาหลีใต้เขาดีขึ้นมาก

"ประเด็นที่ชวนให้คิดคือเราต้องแก้ปัญหาภายในประเทศเราอย่างจริงจังทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้าเราไม่ลงทุนแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการสร้างจิตสำนึกที่ปฏิเสธการคอรัปชั่น ไม่ต้องรอไปจนฟ้องถึงศาลสูงสุดอย่างที่เป็นอยู่ แต่สังคมแซงชั่นลงแล้ว ตัวบุคคลก็ละอายต่อตัวเอง นั่นคือวิธีแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ดีที่สุดที่ต้องลงทุนทำ ในขณะที่ระยะสั้นมาตรการการลงโทษก็ต้องเข้มข้นเอาจริงเอาจัง" อดีตเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใส

นางจุรีกล่าวว่าการที่เกาหลีใต้มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าเขาถอดถอนประธานาธิบดีของเขา หรือยังประเทศอินโดนีเซียเมื่อก่อนคะแนนต่ำกว่านี้มาก พ่อเขาตั้งปปชขึ้นแล้วจัดการปัญหาอย่างจริงจังที่ตัวการใหญ่ระดับผู้ว่าฯ เข้าคุก เขาก็พลิกโฉมตื่นตัวกันทั้งประเทศ ไม่ใช่ไล่จับแค่ปลาซิวปลาสร้อย คะแนนของเขาก็เพิ่มสูงกว่าเดิมมาก และที่เขาเก่งคือสามารถสร้างความสัมพันธ์ให้ประชาชนยอมรับและเข้ามาเป็นพวกแม้แต่ครั้งหนึ่งที่การเมืองจะกลั่นแกล้ง แล้วจะโค่นล้มเขาก็มีประชาชนออกมาปกป้องเป็นล้านๆ คน จนนักการเมืองต้องถอย

นางจุรีกล่าวว่าได้เคยเตือนว่าเราอย่าไปมองทุกอย่างที่ CPI อย่างเดียวว่าจะต้องตั้งเป้าให้ลำดับดีขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันเป็นแค่ Perception index หรือการชี้วัดความรู้สึกเป็นหลัก เนื่องจากระเบียบวิธีการสำรวจของเขาบางส่วนก็เป็นเรื่องความรู้สึก เช่นสอบถามความเห็นของ expert เพียงไม่กี่คนซึ่งหาก expert ผู้นั้นมีความรู้สึกที่เป็นลบหรือเป็นบวกต่อรัฐบาลก็จะพาให้ผลโอนเอียงไปทางนั้น โดยเฉพาะที่มีการวัด Variety of Democracy ด้วย ตราบใดที่มีการประท้วงมีความขัดแย้งทางจากเมือง คะแนนส่วนนี้ก็ไม่มีทางดีขึ้นได้ อยากให้หันมาสร้างตัวชี้วัดของเราเอง การคอรัปชั่นของเราเองและให้กำลังใจกับคนที่ช่วยต่อต้านคอรัปชั่น และแก้ปัญหาระบบราชการไทย ที่เก่งเรื่อง Paper work ที่สวยหรู แต่พอเวลา Action จริงก็หายต๋อมไป และประชาชนเองก็ควรจะลุกขึ้นมาตรวจสอบพื้นฐานของเหตุผลไม่ใช่ลุกขึ้นมาเพราะกระแส

นางจุรีแนะนำว่าหากจะดูผลการชี้วัดที่เป็นวิชาการมากกว่า ควรจะไปดูของ "คอรัปชั่นบารอมิเตอร์" ซึ่งเก็บข้อมูลด้วยการสำรวจความเห็นของประชาชนจริงๆ ด้วยการสำรวจว่าการไปทำธุระกรรมเคยจ่ายสินบนหรือไม่เป็นต้น