posttoday

ฟังจากคนทำงาน! สธ.แจงละเอียดปมวัคซีนโควิดและ"สยามไบโอไซเอนซ์"

19 มกราคม 2564

"กระทรวงสาธารณสุข" ชี้แจงการจัดหาวัคซีนไทยไม่ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ชี้ "แอสตร้า เซนเนก้า" เลือก "สยามไบโอไซเอนซ์"ผลิตวัคซีนเพราะมีศักยภาพมากที่สุด ระบุการขาดทุนเพื่อกำไรของประเทศไทยสามารถผลิตชีววัตถุได้ ลดการนำเข้ามหาศาล

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงชี้แจงข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการได้มาของวัคซีนต้านโควิด-19 โดยมีเนื้อหาดังนี้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลก็ได้เล็งเห็นว่าการได้วัคซีนมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญสิ่งหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดของการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งกระบวนการจัดหาไม่ได้ล่าช้า เพราะเริ่มต้นตั้งแต่มีการทดลองวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ในช่วงกลางปี 2562 โดยมีกลไกชัดเจน และมีฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวข้อง

ฝ่ายสาธารณสุข ได้ศึกษาและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาและทดลองวัคซีนมาตลอดว่ามีใครทำอะไรไปถึงไหน แต่ในระยะนั้นยังมีข้อมูลจำกัด เพราะไม่ได้มีสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตออกมาแล้วเหมือนยาประเภทอื่น ดังนั้น หลายเรื่องต้องเป็นการคาดการณ์ และวางแผนเพื่อดำเนินการในอนาคต

ไทยจะได้วัคซีนโควิดมาจาก 3 ช่องทาง

กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าว่าในปี 64 บนความเป็นไปได้ในการทดลองวัคซีนต้านโควิดเฟสที่ 3 ได้ในปลายปี 63 และจากกระบวนการต่าง ๆ น่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนมาให้ครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากร โดยจะมาจาก 3 ช่องทางคือ

ช่องทางที่ 1 เข้าไปร่วมแสดงความสนใจสั่งซื้อวัคซีนจากโคแวก ที่จะนำวัคซีนหลายเจ้ามารวมกันลงถังกลางให้ประเทศที่สนใจซื้อ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงได้วัคซีนมาในราคาค่อนข้างสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อ

"เราเจรจาไปหลายครั้ง และรอความคืบหน้าวัคซีนที่มาใส่ถังกลาง คนที่ดีลกับเรา เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ อาจมีความยุ่งยากในการทำสัญญาจองซื้อ รวมถึงการได้วัคซีนมายังเป็นปัญหา แต่เราก็ยังไม่ได้ทิ้ง ถึงแม้ประเมินจนถึงปัจจุบันคงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก โดยคาดหวังจำนวนราว 20% ของ 50% ที่ตั้งเป้าไว้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ

ช่องทางที่ 2 คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะผลิตในประเทศไทยจากแอสตร้า เซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส หรือราว 20% ส่วนอีก 10% เปิดทางสำหรับบริษัทอื่น ๆ ที่จะมีผลการทดลองเป็นระยะ เราติดตามโดยตลอด ศึกษาทุกเจ้าที่ผลิตวัคซีน แต่ไม่ได้เปิดเผยกับสาธารณะ เพราะการได้ข้อมูลมาต้องมีข้อตกลงกับบริษัทนั้น ๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้วย เพราะฉะนั้น เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

ช่องทางที่ 3 กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ละเลยเรื่องการสนับสนุนให้มีการพัฒนาและผลิตวัคซีนต้านโควิดเองในประเทศ เพราะระยะยาวการสนับสนุนคนไทยผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

การจัดหาวัคซีนของไทยไม่ล่าช้าเมื่อเทียบกัยบประเทศอื่น

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีข้อมูลสำเร็จรูป ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หลายเรื่องต้องมีการวางแผนล่วงหน้า มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การที่เราได้สัญญาซื้อวัคซีนจำนวนหนึ่งจากบริษัท ซิโนแวก ไบโอเทค ประเทศจีน ที่จะได้รับในเดือน ก.พ.-เม.ย.64 และจากแอสตร้าฯ ช่วงปลายเดือน พ.ค.64 นอกจากนั้นก็จะเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมเพื่อให้ครบ 50% ที่ตั้งเป้าไว้

"ในปี 64 ถือว่าอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ไม่ได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ เพราะส่วนใหญ่ประเทศที่ฉีดก่อนจองซื้อตั้งแต่การวิจัยวัคซีนยังเป็นวุ้น แต่เราใช้ความรอบคอบในการดำเนินการ"นพ.ศุภกิจ กล่าว

ราคาวัคซีนจากแอสตร้าฯอยู่ที่ประมาณ150บาทต่อโดส

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับราคาของวัคซีนนั้น ช่วงต้นของการระบาดประมาณการว่าราคาวัคซีนต่อโดสอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท แต่จากการจองซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 5 ดอลลาร์ต่อโดส หรือประมาณ 150 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ จะเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม

"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความรอบคอบ ในการนำวัคซีนมาฉีดโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยได้รับการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยในการได้รับวัคซีน"อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนเป็นภาวะเร่งด่วนและมีความไม่แน่นอน เพราะการจัดหาด้วยการจองล่วงหน้าต้องใช้หลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่การเจรจาจัดซื้อเหมือนวัคซีนทั่วไป เพราะต้องพิจารณารูปแบบวัคซีน แนวโน้มจะใช้การได้อย่างไร และมีแนวโน้มจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร

"แอสตร้า เซนเนก้า" เลือก "สยามไบโอไซเอนซ์"ผลิตวัคซีนเพราะมีศักยภาพมากที่สุด

กรณีของแอสตร้าฯ ไม่ใช่เป็นการจองซื้อทั่วไป แต่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ไทยด้วย บริษัทจะเป็นต้องหาผู้มารับเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน จึงต้องเป็นผู้พร้อมที่สุดมีความสามารถมากที่สุด แอสตร้าฯ ได้ทบทวนคุณสมบัติบริษัทต่าง ๆ ก็เห็นว่ามีเพียงสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีความพร้อม แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

"เพราะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนที่มาสอนก็ต้องไม่เสียเวลา แอสตร้าฯ เป็นผู้คัดเลือก เกิดจากการทำงานร่วมกันของอ็อกซ์ฟอร์ด และเครือ SCG แล้วเครือ SCG ก็เป็นหน่วยงานที่พัฒนาเรื่องนวัตกรรมกับอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ดึงให้มาประเมินสยามไบโอไซเอนซ์ แอสตร้าฯ ก็มีนโยบายขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก แต่ละแห่งต้องผลิตระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป คุณสมบัติสยามไบโอไซเอนซ์เข้ากับหลักเกณฑ์ของแอสตร้าฯ" นพ.นครกล่าว

การที่ประเทศไทยได้ข้อตกลงลักษณะนี้กับแอสตร้านั้น มีหลายประเทศก็อยากได้ มีผู้เข้ามาแข่งขัน แต่ความพยายามในการทำงานของทีมประเทศไทยด้วยการเจรจาและแสดงศักยภาพให้เขาเห็น อีกทั้งรัฐบาลมุ่งมั่นสนับสนุน ทำให้สยามไบโอไซเอนซ์ปรับเพิ่มขีดความสามารถมาผลิตวัคซีนได้ จากเดิมที่ผลิตชีววัตถุ หรือยาที่ใช้เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นหลัก โดยรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน 595 ล้านบาท และเครือ SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้ผ่านการคัดเลือกของแอสตร้าฯ

"สยามไบโอไซเอนซ์" ขาดทุนเพื่อกำไรของประเทศ

สำหรับการขาดทุนของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นการขาดทุนเพื่อกำไรของประเทศไทยที่สามารถผลิตชีววัตถุได้ ลดการนำเข้าได้มหาศาล แต่ผู้เห็นข้อมูลไม่ครบ จึงคิดว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน และการที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีต้นทุนด้านคน และความรู้ ทำให้ได้รับการคัดเลือกจากแอสตร้าฯ ถ้าไม่ได้ทำไว้ 10 ปีก็คงไม่มีวันนี้ ที่ทำให้เราได้เข้าถึงวัคซีน รวม 61 ล้านโดส

"เราซื้อวัคซีนจากแอสตร้าฯ มาจ้างให้สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตให้ แต่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรูปแบบการให้เปล่า การจัดซื้อจากแอสตร้าฯ ใช้แบรนด์แอสตร้าฯ ขายให้ประเทศไทยบนพื้นฐานของ No Profit No Loss คิดราคาทุน ค่าจ้างผลิตจึงเป็นการคิดราคาทุนเช่นกัน เสมือนว่าผลิตตามคำสั่งซื้อของแอสตร้าฯ ในการราคาต้นทุน เพื่อให้แอสตร้าฯ ขายให้เราและประเทศอาเซียนในราคาต้นทุน ไม่มีกำไร แต่ทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีน จะเห็นว่าราคาถูกสุดในตลาด" นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร เชื่อว่า การจัดหาวัคซีนจะเพียงพอกับความต้องการของประชาชนแน่นอน ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีศักยภาพในการผลิตวัคซีนในประเทศ แม้จะเป็นสิทธิในการจำหน่ายของแอสตร้าฯ แต่อยู่บนฐานความร่วมมือ และเราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ในอนาคตหากมีการระบาดใหม่

ของบสนับสนุนทุกหน่วยงานในประเทศผลิตวัคซีน

สถาบันฯ ยังได้ของบประมาณเพื่อสนับสนุนทุกหน่วยงานในประเทศให้สามารถผลิตวัคซีนได้ โดย ครม.อนุมัติให้งบประมาณทุกหน่วยงานที่กำลังวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีน ซึ่งจะเป็นกำลังสำรองที่ทำให้เราจะสามารถมีวัคซีน แม้ว่าจะช้า อย่างกรณีไบโอเทค ของ สวทช.ก็กำลังผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ หากมาเชื่อมต่อก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ

ทั้งนี้ เป้าหมาย 50% เป็นของปี 64 หรือจำนวน 60-70 ล้านโดส เราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนหาวัคซีนมาทีเดียวให้เต็มจำนวนประชากรไทย เพราะยูนิเซฟคาดว่าปริมาณวัคซีนจะเพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ขณะนี้เป็นภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนนำวัคซีนมาใช้อาจมีข้อเสีย เพราะผู้ใช้ในประเทศก่อนหน้านี้มีการเจ็บป่วยจากการใช้วัคซีน หากรีบร้อนอาจไม่ปลอดภัย จริงอยู่อาจมีผลข้างเคียง ถ้าเป็นผลข้างเคียงในระดับที่ยอมรับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องระวังหากมีผลข้างเคียงรุนแรง